ข้อมูลเพิ่มเติมจากวารสารนักบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ท่านสามารถอ้างอิงได้ตามลิ้งค์นี้
https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_june_15/pdf/aw08.pdf
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของบทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่คุณลักษณะผู้นำทางทหารที่พึงประสงค์ของกองทัพไทย ให้หน่วนงานทางวิชาการของพลเรือนได้รับทราบถึงลักษณะผู้ทำทางทหารที่ยังคงถูกจำกัดให้ศึกษาเพียงเฉพาะหน่วยงานทหารเท่านั้น ความเป็นคุณลักษณะผู้นำทางทหารอาจมิได้มีความแตกต่างจากคุณลักษณะผู้นำด้านอื่น ๆ มากมายนัก แต่ในความเป็น
อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมทหารยังเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติและเป็นตัวยึดเหนี่ยวให้ทหารต้องดำรงความเป็นผู้นำให้สมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นทหาร อันได้แก่ คุณลักษณะผู้นำ 15 ประการ ที่นำมาจากคุณลักษณะผู้นำทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา และประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของกองทัพไทย ซึ่งประกอบด้วย 1) การวางตัว 2) ความกล้าหาญ 3) ความเด็ดขาด 4) ความไว้เนื้อเชื่อใจ 5) ความอดทน 6) ความกระตือรือร้น 7) ความริเริ่ม 8) ความซื่อสัตย์สุจริต 9) ความพินิจพิเคราะห์ 10) ความยุติธรรม
11) ความรอบรู้ 12) ความจงรักภักดี 13) ความรู้จักกาลเทศะ 14) ความไม่เห็นแก่ตัว และ 15) การมองการณ์ไกล
จากบทความนี้ ชี้ให้เห็นว่าคุณลักษณะผู้นำทางทหารที่พึงประสงค์ของกองทัพ เป็นการดัดแปลงคุณลักษณะมาจากคู่มือภาคสนามของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ริเริ่มขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ปัจจุบันภาวะสงครามจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบและทหารออกสนามรบน้อยลงไปก็ตาม ความเป็นคุณลักษณะผู้นำก็ยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนาและบริหารทหารของกองทัพไทยเช่นเดิม
Abstract
The aim of this article is to distribute about Military Leadership Attributes for Royal Thai Air Force to other civilian academics in order to recognize the attributes which are limited to acknowledge only in the military. Military leadership attributes possibly are not much different from the other leadership traits. In the points of military view, leadership is a military identity that still remains military culture and it motivates with honor. There are 15 military traits for Thai military; 1) Justice 2) Judgment 3) Decisiveness 4) Initiative 5) Dependability 6) Tact 7) Integrity 8) Enthusiasm 9) Bearing 10) Unselfishness 11) Courage 12) Knowledge 13) Loyalty 14) Endurance and 15) Vision.
This article underlines that the military leadership attributes was adapted from FM 22-100 Field Manual Department of US Army which was initially used in the combat of World War II. Although the war and the combat have decreased and changed patterns themselves, the leadership attribute still remains significant with the purpose of Royal Thai Armed Force development and administration.
บทนำ
แรกเริ่มของภาวะผู้นำริเริ่มมาจากการศึกษาและใช้ในกิจการทหารเป็นหลักที่ต้องเข้าสู่ภาวะสงครามและสนามรบ ด้วยเหตุผลที่ว่า การเป็นผู้บังคับบัญชา (Commander) ที่ต้องคุมกำลังทหารจำนวนมากทั้งในยามปกติและยามศึกสงครามเป็นเรื่องที่มิได้กระทำได้อย่างง่ายดายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมคนจำนวนมากที่แต่ละคนต่างมีอาวุธอยู่ในมือ ภาวะผู้นำของผู้บังคับบัญชาจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมและนำพากองกำลังไปสู่ชัยชนะในสงคราม
ปัจจุบันการศึกษาเรื่องของภาวะผู้นำ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน ทั้งนี้อันเป็นผลมาจากกระแสการเปลี่ยนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีรูปแบบของโลกาภิวัตน์ การใช้แนวทางในการบริหารจัดการในรูปแบบที่ใช้กันมาจึงไม่สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ที่ต้องตัดสินใจต้องอาศัยการตัดสินใจบนความเสี่ยง เพราะข้อมูลและสารสนเทศที่ใช้ในการตัดสินใจนั้นมีอย่างไม่พอเพียง ภาวะผู้นำจึงถูกนำมาใช้ในการชดเชยในสภาพแวดล้อมดังกล่าว (ศูนย์การเรียนรู้กองพลทหารที่ 6, http://www.6thinfdiv.org/e-study/course/view.php?id=23, 8 สิงหาคม 2557)
ความหมายของผู้นำทางทหาร
ความหมายของ “ผู้นำ” (Leader)โดยทั่วไป หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สามารถโน้มน้าวและจูงใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตามเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ต้องการขององค์กรหรือกลุ่มได้ (ชัยเสฏฐ์ พรหมศรี, 2557, น.13) หรือในอีกมุมหนึ่ง Yulk (อ้างใน จักรินทร์ ผิวเหลือง, ร.ท., 2548, น.8) ให้ความหมายกว้าง ๆ ไว้ว่า ผู้นำเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในกลุ่ม ที่สามารถสั่งและกำหนดหลักในการปฏิบัติให้ทุกคนในกลุ่มปฏิบัติตาม ผู้ที่ปฏิบัติตามคือ ผู้ตาม (Follower) ต้องปฏิบัติตามผู้นำอย่างตั้งใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มที่วางไว้ ส่วนความหมาย ผู้นำทางทหาร (Military Leader) หมายถึง ศิลป์แห่งการจูงใจและการอำนวยการให้ทหารปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จโดยมีความเชื่อมั่นไว้วางใจ นับถือและได้รับความร่วมมืออันดีจากทหาร ผู้นำทางทหารจึงเป็นผู้นำที่อยู่ในขอบเขตของการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วยงานให้ดำเนินการบริหารการบังคับบัญชาให้เหมาะสม มีขวัญ (Moral) วินัย (Discipline) รักหมู่คณะ (Esprit de Corps) และสมรรถภาพ (Proficiency) เป็นตัวชี้วัดความเป็นผู้นำทางทหาร (โรงเรียนนายเรือ, http://www.rtna.ac.th/departments/Weapon/download/lecture/Files/016.pdf, 6 สิงหาคม 2557) ผู้นำ จึงเป็นผู้ชี้นำให้ผู้อื่นกระทำตามเป้าหมายที่วางไว้ บทบาทและหน้าที่ของผู้นำในแต่ละวงการนั้นย่อมไม่มีความแตกต่างกันตามความหมาย แต่สิ่งที่แตกต่างกันนั้นคือ อัตลักษณ์ของผู้นำในแต่ละวงการที่ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะตัว
ความหมายของคุณลักษณะผู้นำทางทหาร
ผู้นำที่มีคุณลักษณะผู้นำทางทหาร มิได้หมายถึงทหารที่ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความเป็นคุณลักษณะที่ต้องมีในตัวตนและสำนึกของการเป็นทหารที่จะต้องมีความรับผิดชอบ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน มีจิตใจเข้มแข็งกล้าหาญ สามารถพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล และต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อปรับปรุงยุทธวิธีและพัฒนากองทัพให้เจริญก้าวหน้า (ศิริ ทิวะพันธ์, 2540, น.6-18) การปลูกฝังในเรื่องความเป็นผู้นำของโรงเรียนเตรียมทหาร (โรงเรียนเตรียมทหาร, 2545ก, น.4-19) มีแนวคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะผู้นำทางทหาร คือ ผู้นำทางทหารจะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความสามารถในการตัดสินใจได้ถูกต้อง ถูกกาลเทศะและทันต่อเวลา และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ถือเป็นคุณลักษณะผู้นำ 4 ด้าน ของนักเรียนโรงเรียนเตรียมหทาร คือ ด้านความรับผิดชอบ ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านความสามารถในการตัดสินใจ และด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กองทัพอากาศ (http://qa.rtafa.ac.th/admin/document_upload/6/6_25551113085331_1.pdf, 6 สิงหาคม 2557) กำหนดค่านิยมหลักของกองทัพอากาศ ซึ่งระบุคุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ของกองทัพอากาศไว้ คือ 1) มีความซื่อสัตย์ 2) มีความภักดี 3) มีความกล้าหาญ 4) มีคุณธรรม 5) มีจริยธรรม 6) มีการเปิดใจ และ 7) มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของผู้นำทางทหารที่พึงประสงค์ของกองทัพนั้น แต่ละหน่วยงานของกองทัพกำหนดคุณลักษณะของผู้นำทางทหารไว้แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ที่ต้องพึงรับผิดชอบ ดังนั้น กองทัพจึงกำหนดกรอบคุณลักษณะผู้นำทางทหารไว้ให้ทุกเหล่าทัพได้ยึดเป็นแกนหลักในการพัฒนาผู้นำทางทหารของกองทัพต่อไป
คุณลักษณะของผู้นำทางทหาร 15 ประการ
กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ (2555, น.4-8) กำหนดคุณลักษณะผู้นำทางทหารที่พึงประสงค์ของนักเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า เป็นไปตามเนื้อหาใน รส.22 - 100 คู่มือราชการสนาม ว่าด้วยลักษณะผู้นําทางทหาร พ.ศ.2517 กรมยุทธศึกษาทหารบก (กรมยุทธศึกษาทหารบก, 2552, น.2-10) ซึ่งทหารทุกหมู่เหล่าจะได้รับการศึกษาด้านผู้นำจากหน่วยงานด้านยุทธศึกษาของต้นสังกัด ถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้นำทางทหาร 14 ประการ (เพิ่มเติมเป็น 15 ประการ ดังจะได้กล่าวต่อไป)พร้อมคำอธิบายว่าแต่ละคุณลักษณะ ดังมีรายละเอียด กล่าวคือ
1. ลักษณะท่าทาง (Bearing) คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจอันเกิดจากท่าทาง อากัปกิริยาและการปฏิบัติตัวของบุคคล ท่าทางของผู้นำควรมีความสง่าผ่าเผย อากัปกิริยาโดยทั่วไปและสภาพของเสื้อผ้า ตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ ควรอยู่มาตรฐานที่ดี อากัปกิริยาและท่าทางควรแสดงออกอย่างภาคภูมิและเชื่อมั่น ควรฝึกหัดการใช้เสียงและหัดท่าทางให้หนักแน่นและมั่นคง คำพูดที่ไม่สุภาพไม่ควรนำมาใช้กับผู้ใต้บังคับบัญชา คำพูดที่ดูหมิ่นหยาบคาย เยาะเย้ยประชดประชันหรือแดกดัน ตลอดจนออกคำสั่งด้วยความโกรธแค้น ตำหนิไม่เลือกหน้า ควรหลีกเลี่ยงเสีย ผู้นำที่มีอารมณ์หงุดหงิดและควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ แสดงว่าเขาไม่มีแม้กระทั่งตัวเขาเองเป็นสมัครพรรคพวกด้วย ในทำนองเดียวกันผู้นำที่ทำตัวจุ้นจ้านและอึกทึกครึกโครมในที่มีการดื่มสุราหรือควบคุมสติไม่อยู่ ก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหมดความเคารพนับถืออย่างรวดเร็ว
2. ความกล้าหาญ (Courage) คือ ลักษณะจิตที่ตระหนักดีถึงความน่ากลัวของอันตราย แต่สามารถควบคุมให้เข้าเผชิญได้ด้วยความมั่นคง สามารถเข้ารับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์อันตรำยนั้นได้ ผู้นำต้องมีความกล้าหาญทางใจเท่ากับความกล้าหาญทำงร่างกาย ความกล้าหาญทางใจหมายถึง รู้และยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ต้องเผชิญกับความไม่พอใจของบุคคลอื่น ผู้นำที่มีความกล้ำหาญทางใจต้องรู้จักยอมรับ เมื่อตนกระทำผิด และกล้าตัดสินใจว่าเป็นการถูกต้อง
3. ความเด็ดขาด (Decisiveness) คือ ความสามารถที่จะตัดสินใจได้ทันที และประกาศออกมาอย่างชัดเจนและมั่นคงสถานการณ์ต่าง ๆ ย่อมมีวิธีแก้ได้หลายอย่าง ผู้นำที่ฉลาดจึงควรนำความจริงทั้งมวลมาเปรียบเทียบกัน แล้วตัดสินใจอย่างถูกต้องด้วยความรวดเร็วและสุขุม การมีประสบการณ์และการฝึกมามากจะช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี
4. ความเชื่อถือได้ (Dependability) คือ การปฏิบัติงานอย่างถูกต้องแน่นอนจนเป็นที่เชื่อถือได้ และไว้วางใจต่อผู้ใหญ่และผู้น้อย ไม่ว่างานนั้นจะต้องมีการควบคุมหรือปราศจากการควบคุม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
5. ความอดทน (Endurance) คือ ความสามารถทางร่างกายและทางจิตใจที่จะทนต่อความหิวกระหาย ความเจ็บปวด ความเหน็ดเหนื่อย ความระทมทุกข์ และความยากลำบาก ความอดทนเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการวัดความสามารถของผู้นำ การขาดความอดทนจะทำให้ขาดความกล้าหาญไปด้วย และผู้นำที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอ อาจถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ขี้ขลาดได้ ความอดทนชี้ให้เห็นถึงความสามารถที่จะทนทานทำงานให้สำเร็จได้โดยตลอด
6. ความกระตือรือร้น (Enthusiasm) คือ การแสดงความสนใจและเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อหน้าที่หรือกิจการที่ตนปฏิบัติด้วยความร่าเริงแจ่มใส และมองโลกในแง่ดี สิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้น คือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกระฉับกระเฉง มีจิตมุ่งมั่นและความปรารถนาทำงานให้สำเร็จ ไม่ซังกะตายทำอย่างจำเจ ความกระตือรือร้นสามารถแสดงออกให้เห็นได้อย่างดี เมื่อไปทำหน้าที่สอนหรือฝึก เพราะจะเป็นผลสะท้อนให้ผู้ใต้บังคับบัญชำจดจำเป็นตัวอย่างในความกระตือรือร้นและเอาใจใส่นั้น
7. การริเริ่ม (Initiate) คือ ความต้องการที่จะปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเริ่มต้น โดยความคิดของตนเอง หรือการรับแสดงความคิดเห็นเริ่มต้นที่จะแก้ไขปรับปรุงให้เจริญยิ่งขึ้น ได้แก่ ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับการพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ความริเริ่มที่จะมีผลให้เกิดความผูกพันต่องานและกำลังใจที่จะทำงานให้สำเร็จ
8. ความซื่อสัตย์ (Integrity) คือ ลักษณะของความซื่อตรง มั่นคงในหลักศีลธรรม ไม่ทุจริตคดโกง ไม่พูดปด
9. วิจารณญาณ (Judgment) คือ คุณสมบัติในการไตร่ตรองเพื่อแก้ปัญหาและหาความจริงเพื่อเป็นมูลฐานในการตัดสินใจได้สมเหตุผล
10. ความยุติธรรม (Justice) คือ ความเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง ปราศจากอคติทั้งสี่ คือ ฉันทา (ความรักใคร่) โทสา (โกรธ) โมหา (หลง) และ ภยา (ความเกลียดกลัว) ในการปกครองบุคคลเป็นจำนวนมากนั้น ความยุติธรรมจะก่อให้เกิดการยกย่องสรรเสริญ ความเคารพนับถือ และความเชื่อมั่นของผู้ใต้บังคับบัญชำ ในทางตรงกันข้ามความไม่ยุติธรรมหรือการเลือกที่รักมักที่ชัง จะทำลายขวัญทหารได้เร็ว
11. ความรอบรู้ (Knowledge) คือ ความรู้ในวิชาชีพของตน และมีความเข้าใจในตัวผู้ใต้บังคับบัญชำ ผู้ที่รู้งานเป็นอย่างดีย่อมมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ส่วนคนที่ขาดความรู้นั้น ไม่สามารถปิดบังคนอื่นอยู่ได้นาน เพราะสักวันหนึ่งมีคนถามเกี่ยวกับความรู้นั้นขึ้นมาแล้ว ก็ให้คำตอบเขาไม่ได้ ความรู้ในที่นี้ไม่จำกัดเพียงแต่จะรู้เรื่องทหารเท่านั้น เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศต้องมีความสนใจด้วย ไม่มีอะไรดึงดูดความเชื่อมั่นและความเคารพนับถือได้รวดเร็วเท่ากับการแสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏออกมา
12. ความจงรักภักดี (Loyalty) คือ คุณสมบัติประจำตัวของบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ต่อหน่วย ต่ออาวุโส และต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ผู้มีคุณสมบัติข้อนี้จะทำให้ทั้งผู้อาวุโสและผู้น้อยที่เกี่ยวข้องให้ความเคารพนับถือและเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก ทุกอิริยาบถของผู้นำจะสะท้อนให้เห็นถึงความภักดี ฉะนั้น จึงควรระมัดระวังอย่านำความลับของหน่วยไปพูดข้างนอกเป็นอันขาด
13. กาลเทศะ (Tact) คือ ความสามารถที่จะร่วมงาน หรือประสานงานกับผู้อื่นได้ดี โดยปราศจากการกระทบกระทั่ง รู้จักใช้คำพูดหรือการกระทำในสิ่งที่ดี ควรกระทำและเหมาะกับกาลเวลา มีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ และรู้จักสังเกตความรู้สึกของบุคคลอื่นๆ
14. ความไม่เห็นแก่ตัว (Unselfishness) คือ ความพยายามหลีกเลี่ยงการหาประโยชน์สุขหรือความก้าวหน้าส่วนตัวบนความเดือดร้อนของผู้อื่น ผู้นำจะต้องอำนวยความผาสุก ความชื่นชมยินดี และความบันเทิงให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนตนเอง ถ้าหน่วยได้รับความชมเชยในผลงานควรจะลงคำชมเชยนั้นไปให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำงานนั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาจะหมดความเคารพนับถือในผู้บังคับบัญชาที่ยินดีแต่จะรับเอาความชอบ ส่วนความผิดนั้นโยนให้ผู้น้อย
นอกจากคุณลักษณะทั้ง 14 ประการ ผู้นำทางทหารยังต้องเป็นผู้นำที่ต้องยึดหลักของผู้นำอีก 11 ข้อ อันได้แก่
1. รู้จักตนเอง หาหนทางปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา
2. มีความสามารถ ทั้งทางเทคนิค และทางยุทธวิธี
3. แสวงหาความรับผิดชอบ มีความรับผิดชอบในงาน
4. ตัดสินใจอย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์
5. ทำตัวเป็นตัวอย่างต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
6. รู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาและให้การสวัสดิการแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
7. แจ้งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบ
8. พัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความรับผิดชอบ
9. มั่นใจว่าผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
10. ฝึกผู้ใต้บังคับบัญชา ให้รู้จักทำงานเป็นหมู่คณะ
11. ใช้หน่วยปฏิบัติภารกิจ ตามขีดความสามารถที่มีอยู่
คุณลักษณะทั้ง 14 ประการและหลักของผู้นำ 11 ประการนี้ กองทัพได้ดัดแปลงและยึดตามแบบของกองทัพสหรัฐอเมริกา โดยนำ FM 6 – 22 มาแปลและเรียบเรียง เพื่อให้กำลังพลในกองทัพบกได้ศึกษาและเข้าใจหลักสากลนิยม จากนั้นจึงนำไปสู่การปรับและพัฒนาให้เหมาะสมกับกองทัพบกไทยส่วนการนำไปใช้นั้นขึ้นอยู่กับศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งประสบการณ์ของผู้นำแต่ละท่านที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ (กรมยุทธศึกษา, 2552, น.ก) อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะทั้ง 14 ประการหลักของผู้นำ 11 ประการ มิได้ริเริ่มมาจากกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา กลับริเริ่มมาจากหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (Marine corps) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณลักษณะผู้นำทหาร 14 ประการ ในหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา เรียกเป็นรหัสย่อเพื่อให้จดจำได้ง่ายว่า “J.J. DID TIE BUCKLE” ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำภาษาอังกฤษของคุณลักษณะทั้ง 14 ประการ ได้แก่ 1) Justice 2) Judgment 3) Decisiveness 4) Initiative 5) Dependability 6) Tact 7) Integrity 8) Enthusiasm 9) Bearing 10) Unselfishness 11) Courage 12) Knowledge 13) Loyalty และ 14) Endurance (Military Leadership Trait, http://cuhsdmcjrotc.files.wordpress.com/2009/12/1-3-2-military-leadership-traits3.doc, 9 สิงหาคม 2557; Marine Corps Leader Trait, http://www.au.af.mil/au/awc/awcgate/usmc/leadership_traits.htm, 9 สิงหาคม 2557)
กองทัพบกสหรัฐอเมริกา (Department of the Army) (1953, p.1-8) กล่าวถึงความเป็นลักษณะผู้ทำทางทหารไว้ใน FM 22-100 Command Leadership for the Small Unit Leader ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) สงครามเย็น (Cold War) และสงครามอินโดจีน (First Indochina War) ซึ่งคุณลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำได้บัญญัติไว้ให้ผู้บังคับบัญชา ต้องแสดงออกถึงความเป็นผู้นำต่อทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ความเป็นผู้นำที่กล่าวมานั้นเป็นลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ในภาวะสงครามและในราชการสนาม Shannon A. Brown (2002) เสริมว่า ไม่มีใครบอกได้เลยว่าใครเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะผู้นำทางทหารไว้ แต่ในกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา กล่าวเพียงว่ามีการกำหนดไว้ตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ. 1947 นั่นเป็นช่วงอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นภาวะผู้นำหรือผู้นำของทหารจึงมีแนวโน้มได้ว่าริเริ่มมาจากภาวะสงครามย่อมเป็นได้
สำหรับกองทัพไทยเช่นกัน ได้แปลและประยุกต์คุณลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำมาจากเอกสารทางทหารของสหรัฐอเมริกาเพื่อความเป็นสากล ตามที่ผู้เขียนได้อ้างถึงในช่วงต้นของบทความ แม้ว่าหลักการทั้งหมดจะริเริ่มมาจากภาวะสงครามหรือใช้ในสมรภูมิรบ กองทัพไทยยังคงใช้รูปแบบลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำเหมือนของกองทัพสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ต่อมากองทัพไทยได้เพิ่มลักษณะผู้นำทางทหารขึ้นมาอีกหนึ่งลักษณะ ได้แก่ ความมีวิสัยทัศน์ หรือ การมองการณ์ไกล (Vision) กลายมาเป็นคุณลักษณะผู้นำทางทหารข้อที่ 15 ของคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของกองทัพไทย (กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม, http://www.sonsue.com/heart.php, 7 สิงหาคม 2557)
ตารางที่ 1 ลักษณะของการเป็นผู้นำทางทหาร 15 ข้อ และหลักการของการเป็นผู้นำ 11 ข้อ
ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (วท.กห.) (ม.ป.ป.)
จากที่กล่าวมาทั้งหมดพบว่า กองทัพไทยยังมิสามารถสร้างคุณลักษณะทางทหารอันเป็นต้นฉบับของกองทัพไทยได้ ลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำยังคงใช้ของกองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ว่าลักษณะผู้นำทางทหารและหลักการผู้นำ จะริเริ่มมาจากการคุมกองกำลังทหารในสนามรม จนกระทั่งปัจจุบันไม่ว่าหน่วยงานใดก็ให้ความสำคัญและศึกษาถึงภาวะผู้นำในองค์กรของตนเองอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ความเป็นผู้นำทางทหารของทหารแต่ละนายตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงในปัจจุบัน ความเป็นผู้นำแบบผู้บังคับบัญชาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดในฐานะผู้ตามยังคงเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมการปกครองของทหารไม่ว่าในทุกยุคทุกสมัย
ข้อเสนอแนะ
ในปัจจุบันลักษณะผู้นำทางทหารยังคงผูกโยงกับการสร้างผู้นำเพื่อใช้เตรียมพร้อมกับการสู่สนามรบ แม้ว่าการรบในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากอตีดเป็นอย่างมากก็ตาม กองทัพไทยต้องกำหนดแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำ คุณลักษณะผู้นำและหลักการผู้นำทางทหารให้เหมาะสมกับกาลสมัยเพื่อให้เหมาะกับการเป็นกองทัพยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
กองทัพต้องส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้คุณลักษณะทางทหาร เพื่อให้ทหารแต่ละนายและทุกหมู่เหล่าได้เข้าใจในหลักการและเห็นถึงความเป็นมาเป็นไปของความเป็นผู้นำทางทหารอันเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในความเป็นผู้นำทางทหาร
การศึกษาภาวะผู้นำทางทหารที่ต้องเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันที่มีการประยุกต์ลักษณะผู้นำทางทหารในอดีตมาใช้ในองค์กรธุรกิจและเกือบทุกวงการ ในแนวทางเดียวกันทหารต้องศึกษากระบวนการสร้างภาวะผู้นำขององค์กรอื่นด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเรียนรู้ต่อยอดซึ่งกันและกัน รวมไปถึงเป็นการสร้างความเข้าในระหว่างทหารและพลเรือน
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์. (2555). คุณลักษณะทหาร (เอกสารประกอบการอบรม). นครนายก: โรงเรียนนายร้อยพระ
จุลจอมเกล้า (อัดสำเนา).
กรมยุทธศึกษาทหารบก. (2552). คู่มือราชการสนาม รส.๖-๒๒ (ฉบับร่าง). กรุงเทพมหานคร: กองทัพบก.
กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม. (ม.ป.ป.). ลักษณะของความเป็นผู้นำทางหทารและหลักการของการเป็นผู้นำ. สืบค้น
เมื่อ 7 สิงหาคม 2557, จาก http://www.sonsue.com/heart.php.
กองทัพอากาศ. (2556). ค่านิยมหลักของกองทัพอากาศ. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2557, จาก
http://qa.rtafa.ac.th/admin/document_upload/6/6_25551113085331_1.pdf.
จักรินทร์ ผิวเหลือง, ร.ท. (2548). คุณลักษณะภาวะผู้นำที่พึงประสงค์ ตามการรับรู้ของนักเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนเตรียมทหาร
กรมยุทธศึกษา กองบัญชาการทหารสูงสุด. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2548) สาระสังเขปวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าแบบอิสระของมหาบัณฑิตทางด้านศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2548, 8.
ชัยเสฏฐ์ พรมศรี. (2557). ภาวะผู้นำร่วมสมัย Contemporary Leadership. กรุงเทพมหานคร: ปัญญาชน.
โรงเรียนเตรียมทหาร. (2545ก). การปกครองบังคับบัญชาและความเป็นผู้นำ (เอกสารประกอบคำสอนหลักสูตรนักเรียนบังคับ
บัญชา พ.ศ.2545). นครนายก: โรงเรียนเตรียมทหาร. (อัดสำเนา).
โรงเรียนนายเรือ. (มปป). การแสดงถึงความเป็นผู้นำทางทหาร. ค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2557, จาก
http://www.rtna.ac.th/departments/Weapon/download/lecture/Files/016.pdf.
ศิริ ทิวะพันธ์. (2540). ภาพพจน์ตัวอย่างของผู้บังคับหน่วย. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.พ.
ศูนย์การเรียนรู้กองพลทหารที่ 6 (ม.ป.ป.). คุณลักษณะผู้นำทางทหาร ๑๔ ประการ. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2557, จาก
http://www.6thinfdiv.org/e-study/course/view.php?id=23.
ภาษาต่างประเทศ
Shannon A. Brown. (2002). The Source of Leadership Doctrines in Air Force. Air and Space Power Journal Winter(02), 2-10.
U.S. Marine Corps JROTC. (2009). Military Leadership Trait. Retrieved August 9, 2014, from
http://cuhsdmcjrotc.files.wordpress.com/2009/12/1-3-2-military-leadership-traits3.doc.
Strategy Leadership Studies Air University. (n.d.). Marine Corps Leader Trait. Retrieved August 9, 2014,
from http://www.au.af.mil/au/awc/awcgate/usmc/leadership_traits.htm.
Department of the Army. (1953). FM 22-100 Command Leadership for the Small Unit Leader.
Washington: The Secretary of the Army.
This blog is truly useful to convey overhauled instructive undertakings over web which is truly examination. I discovered one fruitful case of this truth through this blog. I will utilize such data now.https://www.bu.ac.th
ReplyDelete