สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินบนฟุตบาทในกรุงเบอร์ลิน เราจะพบเห็นหมุดแผ่นทองเหลืองที่สลักตัวอักษรฝังในระนาบเดียวกับพื้นทางเดินเท้า ผู้คนเดินไปมาอาจหยุดมองอย่างสนใจหรืออาจเดินเหยียบย่ำโดยไม่แยแส หมุดถูกฝังอยู่ในฟุตบาททางเดินเท้าหน้าตึก อาคาร หรือบ้านพักอาศัย บางจุดพบเพียงหมุดเดียวหรือบางจุดพบจำนวนมากเรียงรายติดกัน ในภาษาเยอรมันเรียกสิ่งนี้ว่า “Stolperstein” (ชโตลเปอร์ชไตน) หมายถึง “หินที่ทำให้เดินลำบาก” หรือในความหมายทางอุปมา หมายถึง “อุปสรรคในการเดิน” ถือเป็นงานศิลปะเพื่อระลึกถึงชีวิตของชาวยิว ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นรักร่วมเพศ ผู้พิการ คนผิวสี ชาวโรมานีหรือยิปซี และคนประเภทอื่น ๆรวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกเนรเทศ ถูกฆ่า หรือถูกกระตุ้นให้ฆ่าตัวตายโดยพรรคนาซีนาซีเยอรมันระหว่างปี 1941 – 1945 จำนวนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของโลก
ต่อมาเมื่อปี 1992 ศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Gunter Demnig ริเริ่มโครงการศิลปะตั้งชื่อว่า Stolperstein โดยตั้งใจว่าอยากให้ผู้คนระลึกถึงความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการสงคราม และต้องไม่การให้ผู้ที่ถูกฆ่าตายกลายเป็นบุคคลนิรนามและถูกลืมเลือนด้วยกาลเวลา เขาออกแบบและทำบล็อกหินขนาด 10 ซม. x 10 ซม. ทำจากคอนกรีต บนหน้าด้านหนึ่งติดแผ่นทองเหลืองสลักชื่อและวันเดือนปีเกิดและวันเดือนปีที่เสียชีวิตของเหยื่อแต่ละราย และมีข้อความว่าคนผู้นี้เคยอาศัยหรือทำงานอยู่ที่นี่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถูกจับตัวและเสียชีวิต
ญาติหรือเพื่อนที่รู้จักผู้เสียชีวิตหากต้องการระลึกถึงผู้เสียชีวิตจะส่งหลักฐานและประวัติให้โครงการตรวจสอบเพื่อทำประวัติ เมื่อได้ข้อมูลสมบูรณ์จะขึ้นทะเบียนประวัติในฐานข้อมูล และจะผลิตหมุดหินและแผ่นทองเหลืองด้วยมือ ปัจจุบันมีหมุด Stolperstein มากถึง 1 แสนหมุด ไม่ใช่เพียงในเบอร์ลิน แต่กระจายทั่วทวีปยุโรป จึงนับได้ว่าเป็นผลงานศิลปะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วยครับ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://en.wikipedia.org/wiki/Gunter_Demnig)
เยอรมนีใช้ความโหดร้ายของสงครามผลิตเป็นวัฒนธรรมการระลึกถึงความโหดร้ายและน่ากลัวต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านงานศิลปะและการศึกษา เช่น โรงเรียนอาจสั่งให้นักเรียนทำรายงานประวัติบุคคลจาก Stolperstein ที่ฝังใกล้เคียงที่พักหรือเขตใกล้โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังจัดทำฐานข้อมูลออกไลน์ผ่านเว็บ https://www.stolpersteine-berlin.de/ ที่สามารถค้นชื่อที่ระบบบนหมุด Stolperstein สามารถระบุพิกัดที่ฝังหมุดหินและประวัติบุคคลให้ค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย
เมื่อกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมเยอรมันไปแล้ว การทำสิ่งใดที่ขัดต่อวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงท่านผู้นำ การยกมือทำสัญลักษณ์เคารพท่านผู้นำ หรือการแสดงความไม่เข้าใจถึงความโหดร้ายของสงครามอาจนำมาสู้ความขัดแย้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ช่วงแรกที่ผมมาเบอร์ลิน เดินไปซื้อของมักเดินผ่านเจ้าแผ่น Stolperstein หลายจุด แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เคยก้มลงอ่าน หลายทีก็เดินเหยียบโดยไม่รู้ตัว พอสักระยะเริ่มหาข้อมูลและทำความเข้าใจ เมื่อเดินผ่านจึงไม่กล้าเหยียบย่ำต่อไปอีก ผมเคยเห็นบางท่านที่เป็นผู้สูงอายุมักจะยืนสงบนิ่งสักครู่ บางทีมีวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก ซึ่งเดาว่าในอดีตท่านคงมีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่เสียชีวิต ในโพสนี้เป็นภาพของเหล่าหมุดที่ฝังละแวกบ้านครับ
ณัฐพล จารัตน์
กรุงเบอร์ลิน
08.03.2567
อุณหภูมิ 2 องศา
No comments:
Post a Comment