บทความนี้ผมตั้งใจที่จะนำมาเผยแพร่ทัศนะของอาจารย์ ตอนที่เรียนเขียนวิทยานิพนธ์ เสริชข้อมูลเจอบทความของอาจารย์ แม้ว่าตอนนั้นยังไม่ได้เรียนปริญญาเอก ยังไม่ได้ทำดุษฎีนิพนธ์ แต่เมื่ออ่านบทความจบลง เสมือนเข็มทิศชี้ทางที่ถูกต้องและตอกย้ำทัศนะคติในการผดุงไว้ซึ่งองค์ความรู้ใหใ (thesis) ผมจึงนำบทความนี้มาเผยแพร่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยมิได้ตัดต่อข้อความใด ๆ หรือใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปเลย ดังที่ท่านจะได้ศึกษา ต่อไปนี้
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
การเขียนดุษฎีนิพนธ์ (Writing a Dissertation) ตามทัศนะของ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ความนำ
ดุษฎีนิพนธ์เป็นเอกสารที่พยายามพิสูจน์แก่นของข้อถกเถียง (Core Argument-Thesis) ซึ่งเป็นพยานหลักฐานของความรู้ องค์ความรู้ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ จนนำไปสู่ความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขของผู้ที่จะจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก คำว่าดุษฎีนิพนธ์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dissertation ซึ่งมีการให้ความหมายในดิกชันนารีว่าเป็นงานเขียนที่เสนอความคิดเห็นใหม่อันเกิดจากการวิจัย และโดยปกติงานเขียนนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิต ถ้าจะให้คำจำกัดความเช่นนี้ดุษฎีนิพนธ์จะต้องมี “ความคิดใหม่” และความคิดนี้จะต้องมีการพิสูจน์โดยข้อมูลหรือข้อเท็จจริง โดยได้มาจากการวิจัย ซึ่งอาจจะเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพหรือปริมาณ แล้วแต่กรณี โดยอาจจะต้องใช้วิธีการเก็บข้อมูลในลักษณะต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลในการทดลอง แบบสอบถาม สัมภาษณ์ หรือใช้เอกสารที่มีอยู่แล้ว และรวมถึงการเก็บข้อมูลจากการสังเกต วิธีการเก็บข้อมูลและวิจัยนั้นหาได้จากตำราการวิจัยทั่ว ๆ ไป แต่ที่จะกล่าวในที่นี้ก็คือ ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการที่จะเขียนดุษฎีนิพนธ์
จุดประสงค์ของงานเขียนเช่นนี้ก็เพื่อจะอธิบายถึงกระบวนการการเขียนดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งจะต้องกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า ดุษฎีนิพนธ์จะต้องมีความคิดใหม่ หรือข้อถกเถียงใหม่ และความคิดใหม่หรือข้อถกเถียงใหม่นี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Thesis คำว่า Thesis ซึ่งตามคำจำกัดความในดิกชันนารีก็คือ ข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์แต่มีการเสนอเพื่อการศึกษาวิจัย หรือค้นคว้าหลักฐาน ถ้ามองในรูปนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่าคำว่า thesis คือข้อถกเถียง แต่เป็นข้อถกเถียงที่มีการนำเสนอและยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยข้อมูล จึงจำเป็นต้องมีการทำการวิจัยหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของข้อถกเถียงดังกล่าว ตัวอย่างเช่นข้อถกเถียงที่ว่า “คนได้รับการศึกษาสูงจะตื่นตัวมากกว่าคนที่ได้รับการศึกษาต่ำ” นี่คือข้อถกเถียงที่ถือว่าเป็น thesis แต่ก่อนจะเป็น thesis จะเป็นเพียงแค่สมมติฐาน (hypothesis) ซึ่ง hypo แปลว่า ต่ำ จึงแปลว่าต่ำกว่า thesis หรือยังไม่ถึงขั้น thesis แต่เมื่อมีการวิจัยซ้ำ ๆ และพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็น thesis เมื่อมีการวิจัยหลาย ๆครั้ง และพิสูจน์ thesis ซ้ำ ๆ กันจนถึงจุด ๆ หนึ่งก็อาจจะสรุปได้ว่าเป็นทฤษฎี (theory) ซึ่งมายความว่าทฤษฎีนี้ได้มีการพิสูจน์จากการวิจัยและเก็บข้อมูล และตราบเท่าที่ยังไม่มีการหักล้างก็ต้องถือว่าทฤษฎีดังกล่าวยังถูกต้อง (proved means cannot be disproved)
คำว่า thesis ก็คือ core argument ซึ่งเกิดจากการพิสูจน์ หรือแก่นข้อถกเถียง และก็จะเสนอเป็นthesis ในวงวิชาการ ถ้ามีคนเสนอ thesis พร้อมทั้งการวิจัยหาข้อมูลหักล้างตรงกันข้ามซึ่งเป็น thesis อันใหม่ต่อต้านหรือหักล้าง thesis ที่เป็นอยู่ เรียกว่า anti-thesis anti-thesis ก็จะยืนหยัดจนกว่าจะมีการหักล้าง หรือทั้ง thesis เดิม และ anti-thesis จะปรากฏอยู่เพื่อให้นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจตัดสินเองว่าจะเห็นด้วยกับ thesis ใด บางครั้งอาจจะเอาบางส่วนของทั้งสอง theses (theses เป็นพหูพจน์ของ thesis) ในลักษณะสังเคราะห์ (synthesis) เมื่อสังเคราะห์ก็จะกลายเป็น thesis อันใหม่ ดังนั้น กระบวนการนำไปสู่การงอกเงยความรู้และวิทยาการก็คือ จะเริ่มด้วย thesis ซึ่งเป็นข้อเสนอหรือข้อถกเถียงที่มีการพิสูจน์โดยการเก็บข้อมูล จากนั้นก็อาจจะมีคนเสนอ thesis ในลักษณะตรงกันข้าม หรือ anti-thesis ซึ่งก็คือ thesis อันใหม่ และอาจจะมีกรณีที่มีการสังเคราะห์ทั้งของ thesis และ anti-thesis จนกลายเป็นอีกหนึ่ง thesis ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความหลากหลายของวิชาการและความรู้
กระบวนการ thesis, anti-thesis และ synthesis เป็นของเฮเกล (Hagel) หรือกระบวนการวิภาษวิธี (dialectic) ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ ได้นำมาดัดแปลงเป็นวิภาษวิธีทางวัตถุนิยม (dialectic materialism) มาเป็นฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ ซึ่งต้องจบลงด้วยการเป็นสังคมนิยม ข้อสังเกตเกี่ยวกับ synthesis ก็คือ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจทุนนิยม เป็น thesis หลัก ส่วนระบอบการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์และจากการวางแผนจากส่วนกลางหรือสังคมนิยมโดยไม่พึ่งกลไกตลาดถือ เป็น anti-thesis หรือเป็น thesis ที่ท้าทาย มาในปัจจุบันทั้งจีนและเวียดนามผสมผสานระหว่างเผด็จการทางการเมืองแต่มีความเข้มข้นน้อยลง กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยอาศัยกลไลตลาดแต่มีมาตรการควบคุมในระดับหนึ่ง และนี่คือลักษณะของการสังเคราะห์ หรือ synthesis ซึ่งกำลังเป็น thesis อันใหม่ท้าทาย thesis ของประชาธิปไตยและทุนนิยมที่เป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
ดุษฎีนิพนธ์จำเป็นต้องมีความคิดใหม่ หรือ thesis ไม่ใช่เพียงแต่การเก็บข้อมูลโดยใช้กรอบการวิจัยที่เรียกว่า conceptual framework ที่มีอยู่เดิมและคัดลอกต่อๆ กันมา เสมือนหนึ่งการทำของที่ใช้รูปแบบเดียวกัน หรือการทำแกงเขียวหวานซึ่งมีวิธีการทำเหมือนกัน เป็นเพียงแต่การเปลี่ยนเป็นเขียวหวานเนื้อ เขียวหวานไก่ เขียวหวานหมู จะเห็นได้ว่า การใช้กรอบการศึกษาปัญหาและประเด็นอันเดียวกันคัดลอกมาเป็นทอด ๆ เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนข้อมูล เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนกลุ่มตัวอย่าง และเปลี่ยนตัวบุคคลการเขียนดุษฎีนิพนธ์เช่นนี้จะไม่มีทางมี thesis ใหม่ และไม่มีทางช่วยส่งเสริมการเพิ่มพูนความรู้ อย่างดีที่สุดก็เพียงทำให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นโดยมีตัวอย่างเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นและนี่คือ จุดอ่อนที่สุดของการเขียนดุษฎีนิพนธ์เพื่อรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย โดยทางปฏิบัตินั้นนักศึกษาที่อยู่ในความควบคุมดูแลของอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาหลักก็จะใช้ตำราของอาจารย์ซึ่งมี conceptual framework เสนอโดยอาจารย์ผู้นั้นเอง โดยอาจารย์ผู้นั้นเองก็เอา conceptual framework ที่ลอกมาจากอาจารย์ที่ตนศึกษามา เมื่อเป็นเช่นนี้การเขียนดุษฎีนิพนธ์เป็นสิบ ๆ ฉบับก็จะมีกรอบอันเดียวกันสิ่งที่ได้คือได้ข้อมูลใหม่ รู้วิธีการเรียบเรียงให้ดูดี แต่จะไม่มี thesis ใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการทำแกงเขียวหวานดังที่กล่าวมาแล้ว
มองในแง่หนึ่ง การคัดลอกต่อ ๆ กันนั้นนอกจากไม่มีการสร้างความรู้ใหม่แล้วเพราะไม่สามารถจะสร้าง thesis ใหม่ได้ ยังมองว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ และเนื่องจากการขาดความคิดริเริ่มบุคคลซึ่งเขียนดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าวนั้นไม่น่าจะอยู่ในข่ายได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเพราะไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอันใดแสดงออกถึงการเขียนดุษฎีนิพนธ์ที่สะท้อนถึงการมีความรู้ถึงระดับที่จะ “สร้างความรู้” ขึ้นมาได้
สำหรับผู้ซึ่งศึกษาต่างประเทศ ตลอดเวลาจะมีการถามคำถามโดยอาจารย์และเพื่อน ๆ ว่า “What is your thesis?” ซึ่งแปลว่าค้นพบข้อถกเถียงใหม่ ๆ อะไรที่จะพยายามพิสูจน์ โดยมีความคาดหวังว่า “ทุกคนที่จบปริญญาเอกต้องสร้างความรู้ใหม่ในวิชาที่ตนศึกษา” เพื่อจะให้เกิดการขยายตัวขององค์ความรู้ “จึงไม่ใช่แต่เพียงการเก็บข้อมูล โดยใช้กรอบวิธีการคิดเดิม หรือที่เรียกว่า conceptual framework”
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ดุษฎีนิพนธ์ที่ด้อยคุณภาพส่วนใหญ่จะมี 3 บทแรกคล้ายกัน หรือเหมือนกันกล่าวคือ จะเป็นบทที่เกี่ยวกับเหตุผลของการเขียนดุษฎีนิพนธ์ การสำรวจวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็กล่าวถึงกรอบการวิจัยปัญหา หรือ conceptual framework รวมตลอดทั้งการนำเสนอเรื่องการเก็บข้อมูล การใช้สถิติ เมื่อเริ่มด้วยโครงสร้างที่เหมือนกันเช่นนี้ ในแง่การเสนอความรู้ใหม่เกี่ยวกับกรอบการคิดวิเคราะห์ก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น ที่เหลืออยู่ก็เพียงแต่การได้ข้อมูลต่างสถานที่ต่างกลุ่มตัวอย่าง ฯลฯ และที่สำคัญที่สุด เมื่อเก็บข้อมูลมาแล้วก็เป็นเพียงแต่ใช้กลไกทางสถิติเสนอข้อมูลออกมาเป็นรูป ตารางและหาความสัมพันธ์ทางสถิติ แต่ไม่มีการวิเคราะห์เจาะลึกว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และก็ไม่ได้โยงไป สู่วรรณกรรมหรืองานเขียนทั้งภาษาต่างประเทศและภาษาไทยว่ามีส่วนใดบ้างที่สนับสนุนการวิเคราะห์หรือการขัดแย้งกับการวิเคราะห์ นอกเหนือจากนี้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องก็เพียงแต่ยกมาให้เห็นโดยใส่ไว้ในบทต้น ๆ แต่ไม่ได้นำเอาเนื้อหานั้นมาสนับสนุนหรือมาโต้แย้ง เพื่อจะให้มีลักษณะกระบวนการถกเถียงในทางวิชาการ ซึ่งตามหลักที่ถูกต้องจะต้องลงท้ายที่การให้น้ำหนัก กับการวิเคราะห์ที่ทำการศึกษาเพื่อจะพิสูจน์ thesis แต่เนื่องจากไม่มี thesis ตั้งแต่ต้นก็เปล่าประโยชน์ที่จะใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาเพื่อการดังกล่าว
ปัญหาหลักของการเขียนดุษฎีนิพนธ์ที่มีคุณภาพ
ตัวแปร 3 ตัวในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ด้วยการศึกษาและวิจัย อันจะนำไปสู่การเกิดความรู้ใหม่ หรือthesis นั้นประกอบด้วย
ก) ความรู้หรือองค์ความรู้ในแขนงวิชานั้นๆ
ข) ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์จนเกิดความรู้ใหม่
ค) การมีความรู้ทางเทคนิคของการเก็บข้อมูล การใช้สถิติ เพื่อพิสูจน์และให้น้ำหนักกับการ
วิเคราะห์ในข้อ ข)
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงวิชาการในสถาบันการศึกษาของไทยก็คือ
ก) องค์ความรู้ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่รู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะอ่านวรรณกรรมที่เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น หรือมิฉะนั้นก็มิได้ขวนขวายที่จะหาความรู้เพิ่มเติม มักจะนำองค์ความรู้ที่ศึกษามาโดยจำกัดมาเป็นฐานในการสอนนักศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อองค์ความรู้ไม่สมบูรณ์หรือไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้จากความไม่ตั้งใจหรือไม่มีความสามารถ ขณะเดียวกันวิชาการดังกล่าวได้มีการพัฒนาไปกว้างไกลโดยเฉพาะในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้ที่อาจารย์นำมาสอนนักศึกษาอันจะนำไปสู่องค์ความรู้ที่นักศึกษาจะมีนั้นย่อมลดน้อยถดถอยลงตามลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาที่เกิดขึ้นจะถูกบั่นทอนจากการขาดพื้นฐานที่เพียงพอเนื่องจากตามไม่ทันกับการพัฒนาของวิชาการ จึงเป็นความอ่อนแอและความล้าหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข) การวิเคราะห์และสังเคราะห์ นอกจากองค์ความรู้ที่ต้องสมบูรณ์แล้ว ผู้สอนและผู้เรียนจะต้องมีจิตวิเคราะห์ มีการสอนโดยการจุดประกายความคิด รู้จักคิดวิเคราะห์ถึงประเด็นต่าง ๆ ตามหลักของตรรกและรู้จักสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ แต่ถ้าการเรียนและการสอนมีลักษณะท่องจำข้อมูล เพียงแต่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาอย่างไร แต่ไม่เคยมีความคิดที่จะตั้งข้อสงสัยว่าน่าเชื่อถือ มีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร ทั้งการเรียนการสอนจึงมีลักษณะเหมือนการร้องเพลงคาราโอเกะ โดยดูจากตำรับตำราและมาเล่าสู่กันให้ทราบอาจารย์บางท่านก็เพียงแต่แปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย แต่ไม่มีการกระทำที่นอกเหนือจากนั้น เมื่อขาดความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์และเนื่องจากวัฒนธรรมการเรียนที่มาจากการท่องจำและจำข้อมูล เมื่อมีการวิจัยได้ข้อมูล นอกเหนือจากจุดอ่อนจากการขาดองค์ความรู้ที่เข้มแข็งแล้ว ยังไม่สามารถตีความวิเคราะห์ข้อมูลได้ตามหลักตรรก มีเหตุมีผล และยิ่งถ้าไม่มีการนำไปเกี่ยวโยงกับวรรณกรรมและการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ก็เท่ากับเป็นการแยกส่วนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยนำมาเสนอเพียงให้ทราบว่ารู้การคงอยู่ของทั้งสองสิ่ง แต่มิได้นำเอาประเด็นจากงานดังกล่าวมาใช้ประโยชน์
อาจารย์ผู้สอนที่พัฒนาตนเองจนเป็นนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาความรู้ทางวิชาการด้วยการศึกษา วิจัยและค้นคว้า คิดวิเคราะห์จุดดี จุดด้อย ขององค์ความรู้และวิชาการในเรื่องที่ศึกษาจนถึงจุดที่ก้าวข้ามการคอยอิงตำรับตำรา หรือคอยแต่จะต่อยอดความรู้เดิม แต่ต้อง break through คือ การข้ามจนคิดประเด็นเองได้ วิพากษ์วิจารณ์งานของนักวิชาการอื่นได้ และมีแก่นหลักของวิชา (intellectual discipline) เมื่อเป็นเช่นนี้ การสอนจะดำเนินการโดยให้ข้อมูลความรู้ที่ได้มาจากหนังสือ แต่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเสนอของตนเองซึ่งมาจากงานเขียนและวิจัยมีประเด็นใหม่ ๆ ที่สำคัญ การสอนเป็นการจุดประกายความคิดให้รู้จักคิดวิเคราะห์ ถกเถียง ไม่ใช่จำข้อมูลแต่เพียงว่ามีความรู้ใหม่อะไรบ้างจากหนังสือเล่มใหม่โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์
ค) เมื่อองค์ความรู้บกพร่อง เมื่อขาดการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ สิ่งที่ยกเป็นจุดเด่น ของดุษฎีนิพนธ์ส่วนใหญ่ก็คือการใส่ข้อมูลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาให้ดูว่ามีจำนวนหน้ามากจนบางครั้งหนาถึง 500 หน้า โดยไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เกิดความประทับใจของผู้อ่านดุษฎีนิพนธ์ แต่ที่สำคัญที่สุด ส่วนใหม่มักจะกลายเป็น จุดเด่นของเทคนิคการวิจัยและสถิติที่ใช้ เอาข้อมูลที่ได้จากการเก็บนั้นมาเสนอเป็นตารางและความสัมพันธ์ทางสถิติโดยไม่มีการวิเคราะห์เจาะลึก หรือโยงไปสู่วรรณกรรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ถึงมีก็ มีเพียงผิวเผินในลักษณะพรรณนาความ ไม่มีประเด็นลึกซึ้งที่จะนำไปสู่ความรู้ใหม่และมักลงท้ายด้วย “สรุปและอภิปรายผล” ประมาณ 3 หน้า ซึ่งทำให้ดุษฎีพินธ์ขาดคุณภาพอย่างเห็นได้ชัดทั้งในแง่องค์ความรู้ การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ส่วนจุดเด่นของเทคนิคการวิจัยและสถิติ (research technique and statistic) ไร้ประโยชน์ เพราะขาดเนื้อหา (substance) ที่มีน้ำหนักในทางวิชาการนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ในวิชาสังคมศาสตร์มีน้อยคนที่จะศึกษาปรัชญาสังคมศาสตร์ (Philosophy of Social Science) บ่อยครั้งยังมีกระบวนการการคิดที่ขัดต่อหลักตรรก (nonsequitur) ส่วนมากเป็นสามัญสำนึกที่ไม่สามารถจะนำมาเป็นการเสนอในทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณภาพของดุษฎีนิพนธ์นอกจากไม่มี thesis ยังมีปัญหาจุดบกพร่องดังที่กล่าวมาเบื้องต้น 3 ข้อ ผู้ซึ่งศึกษาจนได้รับปริญญาเอก มีคำนำหน้าว่าดอกเตอร์ จึงไม่มีวิทยฐานะและเกียรติศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง
ดุษฎีนิพนธ์ต้องการพิสูจน์อะไร
ดุษฎีนิพนธ์ต้องการพิสูจน์ประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. บุคคลที่ศึกษาเพื่อจะได้ดุษฎีนิพนธ์นั้น มีองค์ความรู้ในวิชาที่เสนอดุษฎีนิพนธ์ด้วยการแสดงออกถึงความรู้ความเข้าใจในวิชาดังกล่าวอย่างแจ่มชัด จนถึงขั้นเป็น intellectual discipline หรือแกนหลักของวิชา
2. บุคคลดังกล่าวแสดงถึงความรู้ในเรื่องที่จะทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อถกเถียงซึ่งเป็นความรู้ใหม่ด้วยการสำรวจวรรณกรรม ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมตลอดทั้งการสำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นพิสูจน์ว่าได้มีการศึกษามาอย่างถี่ถ้วนจนรู้เนื้อหาในภาพรวมในระดับหนึ่ง
3. บุคคลผู้นั้นจะต้องเสนอกรอบการคิดวิเคราะห์และการหาความรู้ (conceptual framework) หรือกรอบทฤษฎี (theoretical framework) หรือกล่าวง่าย ๆ คือ เพื่อเป็นการบ่งบอกว่ารู้กระบวนการวิธีศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ thesis หรือข้อถกเถียงที่เป็นแก่น
4. บุคคลที่ศึกษานั้นจะกล่าวถึงขั้นตอนของการเก็บข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นการสัมภาษณ์แบบสอบถาม หรือวิธีอื่น โดยมีการเสนอเทคนิคการเก็บข้อมูลและสถิติ การสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้เห็นถึงวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อจะนำมาพิสูจน์ thesis
5. มีการเสนอข้อมูลด้วยการเสนอตารางต่างๆ รวมทั้งเทคนิคในการพิสูจน์ที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งอาจใช้วิชาสถิติ แต่ที่สำคัญจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้และสังเคราะห์ ไม่ใช่เพียงแต่วรรณนาอ่านข้อมูลจากตาราง และจะต้องนำไปโยงกับวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดจะต้องสามารถสรุปได้ว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นสนับสนุนสมมติฐาน หรือ hypothesis จนน่าเชื่อถือ สามารถตัดคำว่า hypo ออกเหลือแต่เพียง thesis
6. นอกเหนือจากการสรุป thesis ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือเสนอแนะเรื่องอื่น ๆ แล้วแต่กรณี อาจมีการกล่าวถึงอุปสรรคและปัญหาในการวิจัยโดยอาจจะพูดถึงหัวข้อดังต่อไปนี้ คือ
ก) จุดอ่อนของงานวิจัยหรือดุษฎีนิพนธ์ พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ข) มีการเสนอแนะในเชิงนโยบายในกรณีที่มั่นใจว่าข้อมูลที่เก็บจากการวิจัยนั้นน่าเชื่อถือพอที่ จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายได้
7. การสรุปผล รวมทั้งอภิปรายนอกเหนือจากข้อสรุปเพื่อทำให้เกิดเห็นภาพที่กว้างขวางยิ่งขึ้น (summary and conclusion) โดยทั้งหมดนี้เป็นการบ่งบอกให้ทราบว่าผู้ทำการวิจัยนั้นมีความเข้าใจอย่างแท้จริงในประเด็นที่ศึกษา
8. บรรณานุกรรม จะต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยสถาบันแต่ละสถาบัน แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าทำให้เกิดความสงสัยในความน่าเชื่อถือ เช่น มีการอ้างหนังสือที่เป็นภาษาต่างชาติทั้ง ๆ ที่เป็นที่ทราบดีว่าผู้ทำการวิจัยไม่มีความรู้ในภาษาดังกล่าว สิ่งที่ต้องเน้นในที่นี้ก็คือ การพูดสิ่งไม่จริงในทางวิชาการ (perjury) และการลอกเลียนงานของบุคคลอื่น (plagiarism) ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง และนี่เป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด
การเขียนดุษฎีนิพนธ์ก็คือการทดสอบว่าผู้ต้องการจะได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต มีความรู้ หรือ องค์ ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา มีการคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง จนเกิดความคิดใหม่ เพื่อจะป็นการเสนอความรู้ใหม่ๆ หรือเป็นการสร้างความรู้ ขณะเดียวกันก็มีความรู้ในกลไกของการเก็บข้อมูลและการวิจัยเพื่อจะพิสูจน์ข้อเสนอที่เรียกว่า thesis ให้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือโดยใช้ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ แต่ขณะเดียวกันก็มิได้กล่าวขึ้นลอย ๆ หากแต่มีการกล่าวถึงวรรณกรรมและงานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุด จะต้องเป็นความคิดที่นำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้ในแขนงวิชานั้น ๆ ในแง่ของ thesis และจะเป็น theory หรือทฤษฎีต่อไป ไม่ใช่เพียงการใช้กรอบเดียวกันในการเก็บข้อมูลที่แตกต่างจากเดิม เสนอข้อมูลโดยไม่มีวิเคราะห์และสังเคราะห์ หรือวิเคราะห์อย่างตื้นเขินและผิวเผิน ในส่วนนี้ผู้จะดูแลดุษฎีนิพนธ์จึงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ อยู่ในวงวิชาการมานานและเขียนหนังสือวิชาการมานานพอ ไม่ใช่บุคคลที่เพิ่งจบใหม่ ๆ และนำเอากระบวนการที่ตนจบมานั้นเป็นแนวทางให้นักศึกษาเดินตามกรอบที่ตนเคยใช้มาเขียนดุษฎีนิพนธ์จนได้ปริญญาดุษฎีนิพนธ์
ผู้จบปริญญาเอกมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าว่า ดร. หรือ ดอกเตอร์ แต่ถ้าผู้จบปริญญาเอกซึ่งมีสถานะทางสังคมแล้วนี้ไม่มีความรู้และคุณสมบัติพอก็จะเกิดคำถามว่า
1. จบมาได้อย่างไร ซื้อมาหรือจบมาโดยที่ไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริง
2. ศึกษามาจากอาจารย์คนใด ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้อาจารย์ผู้นั้นเสียชื่อได้
3. จบจากสถาบันการศึกษาใด ซึ่งย่อมจะส่งผลเช่นเดียวกับข้อ 2.
4. เมื่อมีการไปสอนหนังสืออย่างผิด ๆ ถูก ๆ ผลเสียจะตกแก่ผู้เรียนเนื่องจากมีคุณภาพที่ไม่ถึงขั้นเป็นครูบาอาจารย์
5. เมื่อมีการพิมพ์นามบัตรและกล่าวถึงคำว่า ดอกเตอร์ ย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายต่อวงสังคมและส่งผลต่อการทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้จบปริญญาเอกได้รับผลกระทบกระเทือนในทางลบด้วย เช่น ในการฉลองวันเกิด อาจมีผู้จบปริญญาเอกร่วมรุ่นกว่า 30 คน ทุกคนต่างเรียกกันเองว่า ดอกเตอร์ จนคำนำหน้าดังกล่าวหมดความน่าเชื่อถือ
สรุป
การศึกษาระดับปริญญาเอกจะต้องมีความรู้ มีบุคลิกภาพ มีลักษณะการพูดจา การวางตัว การเขียนหนังสือ การสอนหนังสือ สอดคล้องกับคนได้ปริญญาสูงสุด ไม่ใช่ลักษณะของ “จ่ายครบจบแน่” หรือได้รับทุกจากสถาบันเพื่อให้เป็น Presenter ช่วยหาลูกค้า ซึ่งเท่ากับเป็นการซื้อปริญญาบัตร ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่คุ้มกับผลเสียในมิติต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว
อริสโตเติ้ลกล่าวว่า “ศักดิ์ศรีมิได้อยู่ที่การได้รับเกียรติแต่อยู่ที่ว่าสมควรได้รับเกียรตินั้นหรือไม่ (Dignity does not consist in having honors but in deserving them-Aristotle) การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาตัวบุคคล วิชาชีพ และจริยธรรม ที่สำคัญคือเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ แต่ถ้าการศึกษากลายเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายหรือมอบให้โดย ไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ก็จะกลายเป็นเสมือนสินค้าที่ไร้คุณภาพ แทนที่จะเป็นผลดีต่อสังคมกลับกลายเป็นการสร้างสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สภาพดังกล่าวควรจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ แม้กระทั่งประณาม ซึ่งในส่วนนี้ครอบคลุมไปทั้งสถานการศึกษา ตัวผู้บริหารการศึกษา อาจารย์ที่ทำการสอน นักศึกษาที่เรียนโดยวิธีการง่าย ๆ เช่น จ้างให้ผู้อื่นเขียนวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ที่สำคัญที่สุดทั้งหมดนี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งสังคมควรจะมีการจับตามองเพราะผลในทางลบที่จะออกมาอาจมีความเลวร้ายพอๆ กับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางการศึกษา (Educational Crime) ประเภทหนึ่ง และผู้กระทำก็คือ อาชญากรทางการศึกษา (Educational Criminal)
อ่านเพิ่มเติมและอ้างอิง