Search This Blog

Showing posts with label ท่าคอยนาง. Show all posts
Showing posts with label ท่าคอยนาง. Show all posts

Tuesday, July 28, 2020

แนวทางในการแก้ไขปัญหาชุมชนเพื่อการสร้างตำบลช่อสะอาด กรณีศึกษาตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ (The Community Problem Solving Methods for the ThambonChorsaardbuilding: Case Study of ThambonSawai, Prangku, Sisaket Province)

บทคัดย่อ 

บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนเพื่อการต่อยอดเป็น “ตำบลช่อสะอาด” และ 2) เพื่อเสนอแนวทางการสร้างชุมชน “ตำบลช่อสะอาด” ของตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำท้องถิ่น สร้างบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นเพื่อศึกษาหาแนวทางในการขยายเป็นตำบลช่อสะอาด โดยใช้โมเดลหมู่บ้านท่าคอยนางเป็นต้นแบบภายใต้แนวคิดตามหลักภาวนา 4 ที่ประกอบด้วย 4 เสา คือ เสากายสะอาด (ภาวิตกายะ) เสาพฤติกรรมสะอาด (ภาวิตสีละ) เสาจิตใจสะอาด (ภาวิตจิตตะ) และเสาปัญญาสะอาด (ภาวิตปัญญา) รวมไปกับการบูรณาการแนวคิด “บวร” เข้าร่วมด้วย ผลจากการศึกษาพบว่า ชุมชนตำบลสวายลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการเข้าร่วมโครงการตำบลช่อสะอาดและต้องการนำรูปแบบช่อสะอาดเข้ามาแก้ไขปัญหาภายในตำบลและสนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ


คำสำคัญ:   ตำบลช่อสะอาด, ชุมชนสันติสุข, ภาวนา 4


Abstract

       The aims of this scholarly writing were to study problem solving method in order to move forward to “Tambon Chorsaard” and to present Tambon Chorsaard building progresses at Sawai, Prang Ku district Srisaket province. The studies were applied to participating and public hearing approaches by in-depth interviews with ten local leaders and voted for the new project, Tambon Chorsaard. The project was built toward the conceptual framework of  Bavana 4 consisting of Kaya-bhavana, Sila-bhavana, Citta-Bhavana and Panna-bhavana including to Borvorn (Home, Temple and School). The result of voting was that all village leaders accepted and agreed to the Tambon Chrsaard building. They hope that Tambon Chorsaard will able to reduce their local problems and support all action that caused corruptions.


Keywords:   Tambon Chorsaard, Peace Community, Bhāvanā 4


บทนำ 

โครงการพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยทางพระพุทธศาสนาชั้นนำของโลก มีหน้าที่นำหลักธรรมและแนวคิดทางพุทธศาสนาปรับประยุกต์แก้ไขปัญหาของสังคมเพื่อสันติสุขเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยและสนองนโยบายของรัฐบาลสาขาวิชาสันติศึกษาจัดการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการสร้างความปรองดองโดยพุทธสันติวิธีให้นิสิตปริญญาเอกสามารถนำความรู้เชิงทฤษฎีจากห้องเรียนสู่การนำไปประยุกต์และทดลองดำเนินการจริงในพื้นที่จริงตำบลสวาย (Peace Studies, 2017) เพื่อศึกษากระบวนการของการเกิดปัญหา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ศึกษากรณีตัวอย่างที่ใกล้เคียงเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืนตามแนวทางพุทธสันติวิธีจึงกำหนดพื้นที่และขอบเขตการศึกษา คือ ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม (PRA)ของผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน อนึ่ง มูลเหตุสำคัญในการเลือกพื้นที่นี่ เนื่องจากหนึ่งในหมู่บ้านของจากทั้งหมด 10 หมู่บ้าน คือ บ้านท่าคอยนาง เป็นหมู่บ้านช่อสะอาดต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยและกลายเป็นโมเดลหมู่บ้านช่อสะอาดขยายผลออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ หมู่บ้านช่อสะอาดเป็นโครงการต่อยอดมาจาก “หมู่บ้านศีล 5” ที่ดำเนินการจนประสบสำเร็จและบรรลุตามภารกิจที่ตั้งไว้ (Phramaha Hansa Dhammahaso, 2015)

โครงการหมู่บ้านช่อสะอาดเกิดเป็นครั้งแรกจากผลศึกษาและวิจัยพื้นที่ศึกษาปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไข โดยใช้บ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ในการสร้างต้นแบบ แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากภาครัฐและกำลังขยายไปยังหมู่บ้านต้นแบบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อโครงการระดับหมู่บ้านได้รับเสียงชื่นชมและภาคประชาชนเรียกร้องให้ขยายโครงการอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดแนวคิดว่าจะยกระดับจาก “หมู่บ้าน” เป็น “ตำบล” ขยายจากหน่วยเล็กขึ้นเป็นหน่วยใหญ่ สร้างความเข้มแข็งในระดับตำบลต่อไป เป้าหมายของโครงการ คือ เพื่อสร้างชุมชนสันติสุขไร้การทุจริต สังคมที่มีความละอายต่อการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ได้จัดทำแผนแม่บทบูรณาการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) นำโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้นำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ๒๐ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ที่วิสัยทัศน์มุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศประกอบกับนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่๓ (พ.ศ. 2560 - 2564)เป็นกรอบในการจัดทำแผนแม่บทบูรณาการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบระยะ๒๐ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) (The National Anti-Corruption Commission is a constitutional organization of Thailand,2017) ทั้งนี้ได้นำศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ดำเนินการคู่ขนานกันไป การดำเนินการเพื่อสนองตามนโยบายภาครัฐ ต้องอาศัยสถาบันการศึกษาและภาคประชาสังคม คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและชาวชุมชนตำบลสวาย ต้องมีส่วนร่วมและบูรณาการความคิดและนำนโยบายไปปฏิบัติ ตามกรอบและตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นมา เมื่อโครงการสามารถดำเนินการสำเร็จมีความเชื่อมั่นได้ว่าจะสร้างบรรยากาศความเป็นสังคมช่อสะอาดขยายเพิ่มเติมต่อไปจากระดับหมู่บ้าน เป็นระดับตำบล จากระดับตำบลเป็นระดับอำเภอ จากระดับอำเภอเป็นระดับจังหวัด และจากระดับจังหวัดเป็นระดับประเทศต่อไปตามลำดับ 

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยในการดำเนินโครงการช่อสะอาด คือ มูลนิธิช่อสะอาด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน ป.ป.ช. มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง คือ


  1. ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการปลูกฝังค่านิยมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับคนในชาติ

  2. โดยเฉพาะเยาวชนให้เป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์

  3. ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและมีคุณธรรมจริยธรรม

  4. ให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

  5. ยกย่องและเผยแพร่เกียรติคุณของหน่วยงานและบุคคลที่ดีเด่นในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและมีความซื่อสัตย์สุจริต

  6. ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

  7. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศลหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆเพื่อสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศลต่างๆ และ

  8. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

จากเหตุผลดังที่กล่าวมา กลุ่มนิสิตเล็งเห็นความสำคัญและสนใจศึกษาหาแนวทางในการขยายโครงการตำบลช่อสะอาด โดยใช้โมเดลหมู่บ้านท่าคอยนางเป็นต้นแบบนำตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่
จังหวัดศรีสะเกษ ได้กลายเป็นตำบลช่อสะอาดต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสังคมสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมคุณธรรมและจริยธรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตและมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างถาวรสืบต่อไป 


วัตถุประสงค์

1)  เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชุมชนเพื่อการต่อยอดเป็น “ตำบลช่อสะอาด”

2) เพื่อเสนอแนวทางการสร้างชุมชน “ตำบลช่อสะอาด” ของตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่
จังหวัดศรีสะเกษ 


จาก “หมู่บ้าน” สู่ “ตำบล” 

แนวคิดการพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาด เป็นดำริความคิดจากการศึกษาและการทุ่มเทวิจัยของ
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ที่ประสงค์ให้ชุมชนบ้านท่าคอยนางอันเป็นบ้านเกิดของท่านให้กลายเป็นชุมชนแห่งสันติ ปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้าและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาปรับประยุกต์ในชุมชน

การพัฒนาหมู่บ้านช่อสะอาดเพื่อเป็นต้นแบบของหมู่บ้านช่อสะอาดที่จะนำไปขยายผลต่อและยกระดับเป็นตำบลช่อสะอาดได้นั้น ต้องอาศัยการศึกษาและวิจัยต่อเนื่องจากผลการศึกษาเดิมเพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติระยะที่๓และเป็นการนำความรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริงนอกชั้นเรียนนั้นกลุ่มนิสิตได้ตีกรอบในการศึกษาจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในตำบลสวายอำเภอปรางค์กู่จังหวัดศรีสะเกษโดยใช้โมเดลท่าคอยนาง เข้าไปใช้เป็นกลไกลและเป็นเครื่องมือในทุกหมู่บ้านที่อยู่ในการดูแลปกครองของตำบลสวาย ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสวาย (หมู่ที่ 1) บ้านแสนแก้ว (หมู่ที่ 2) บ้านขาม (หมู่ที่ 3) บ้านทับขอน (หมู่ที่ 4) บ้านท่าคอยนาง (หมู่ที่ 5) บ้านกระโพธิ์น้อย (หมู่ที่ 6) บ้านไผ่ (หมู่ที่ 7) บ้านสนิท (หมู่ที่ 8) บ้านขามเหนือ (หมู่ที่ 9) และบ้านน้ำอ้อม (หมู่ที่ ๑๐) ดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ (Ban Muang, 2018) คือ


  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงกายภาพ (Physical Development)  เป็นการนำการพัฒนาตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ทางกายภาพของชุมชน ได้แก่ การสร้างกินดีอยู่ดี การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำสอดคล้องกับหลักภาวิตกายะ 

  2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงพฤติภาพ (Behavior Development)  เป็นการนำหลักธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว ได้แก่ ศีล 5 อันเป็นหลักฐานขั้นพื้นฐานของพุทธศาสนิกชนทั่วไป สอดคล้องกับหลักภาวิตสีละ

  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงจิตภาพ (Mental Development) เป็นการนำแนวคิดของ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน หล่อหลอมร่วมกันตามหน้าที่หลักของตน สอดคล้องกับหลักภาวิตจิตตะ

  4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงปัญญาภาพ (Intellectual Development) เป็นผลลัพธ์จากการนำหลักการทั้งหลายลงมาปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม คนในชุมชนเกิดความยั้งคิดยั้งทำ เกิดการตระหนักรู้ตัวตนและก้าวทันอารมณ์แห่งการเกิดความขัดแย้งและมีสันติภายในตนเอง สอดคล้องกับหลักภาวิตปัญญา


ดังที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อการดำเนินโครงการช่อสะอาดระดับหมู่บ้านประสบผลสำเร็จจนเกิดหมู่บ้านช่อสะอาดต้นแบบขยายหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศตามโมเดลท่าคอยนางได้แล้ว จึงควรต่อยอดขยายโครงการขึ้นจากหมู่บ้านเพื่อให้ทุกหมู่บ้านในตำบลได้พัฒนาเป็นตำบลช่อสะอาด โดยเริ่มจากตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษเป็นตำบลต้นแบบของประเทศไทย 

ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่

การลงพื้นที่ของกลุ่มนิสิต ดำเนินการโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม (PRA) และใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interviews)กับผู้นำท้องถิ่นทั้ง 10 หมู่บ้าน (Key Performance) ประกอบกับใช้ข้อมุลทุติยภูมิได้แก่ เอกสารการวิจัยและบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นข้อมูลเชิงสนับสนุน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2561 ลงพื้นที่จริงร่วมกับชุมชน 2 ระยะ คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 - 26 มกราคม 2561 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนั้นยังมีการติดต่อขอข้อมูลและสอบถามกับผู้นำชุมชนโดยตรงทางโทรศัพท์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชนอย่างดี 

สืบเนื่องจากโครงการหมู่บ้านช่อสะอาดของบ้านท่าคอยนางได้วางกรอบแนวคิดและกรอบการดำเนินการเป็นแนวทางสำหรับโครงการตำบลช่อสะอาด โดยมีฐานความคิดและมีความเชื่อว่า ชุมชนในตำบลจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการโกงทุกรูปแบบได้ ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถแก้ไขปัญหาภายในได้นั้น ต้องมีรากฐานของบ้านที่แข็งแรง เป็นฐานสำหรับตั้ง 4 เสาแห่งหลักภาวนา 4 (PrayudhPayutto, 2013) หรือยุทธศาสตร์ 4 อย่าง ประกอบด้วย เสากายสะอาด (ภาวิตกายะ) เสาพฤติกรรมสะอาด (ภาวิตสีละ) เสาจิตใจสะอาด (ภาวิตจิตตะ) และเสาปัญญาสะอาด (ภาวิตปัญญา) เป็นเสาค้ำจุนรองรับคาน คือวัด และหลังคาทรงไทย คือ บ้านและโรงเรียน ซึ่งทั้ง 3 สถาบัน เป็นสถาบันหลักแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนวัฒนธรรมไทย แสดงความสัมพันธ์และความกลมเกลียวระหว่างกันโดยไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ 

รูปที่ 1 ปรัชญาและแนวพัฒนาโครงการช่อสะอาด

(Phramaha Hansa Dhammahaso, 2015)


ขั้นตอนการวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาตำบลช่อสะอาด

จากการลงพื้นที่จริงพบว่าผู้นำชุมชนตำบลสวายมีความรู้และความเข้าใจโครงการช่อสะอาดเป็น
อย่างดีเนื่องจากมีการติดตามโครงการหมู่บ้านช่อสะอาดของบ้านท่าคอยนางและเห็นพัฒนาการของโครงการตั้งแต่แรกเริ่มจนเห็นผลสัมฤทธิ์ในปัจจุบันผู้นำชุมชนในหมู่บ้านอื่นๆ ของตำบลสวายมีความคาดหวังว่าหมู่บ้านของตนเองจะสามารถเข้าร่วมโครงการเป็นหมู่บ้านช่อสะอาดหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลให้กลายเป็นตำบลช่อสะอาดจากฐานความรู้ดังกล่าวทำให้กลุ่มนิสิตที่ลงพื้นที่ลงไปวิเคราะห์และสำรวจความต้องการของแต่ละหมู่บ้านเริ่มต้นจากการพูดคุยการแสวงหาทางเลือกตั้งแต่ระดับหมู่บ้านโดยมีขั้นตอนการลงพื้นที่ดังนี้ 

  1. เริ่มต้นจากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและระดมความคิดครบองค์ประกอบตามแนวคิดแบบ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน จึงประกอบด้วยตัวแทน คือ ตัวแทนชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล พระสงฆ์ และครูอาจารย์ในพื้นที่ (Ministry of Culture, 2016)

  2. นำหลักการวิเคราะห์ SWOT Analysis เป็นเครื่องมือวิเคราะห์หาจุดแข็ง (S) จุดอ่อน (W) โอกาส (O) และภัยคุกคาม (T) ของแต่ละหมู่บ้าน หาจุดร่วมที่สามารถพัฒนาต่อยอดหรือป้องกันมิให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการดำเนินโครงการ

  3. จัดทำประชามติ (Public Hearing)เพื่อขอความเห็นในการยอมรับในชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการตำบลช่อสะอาด

  4. นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ละหมู่บ้านในการพัฒนาต่อยอดเป็นตำบลช่อสะอาดมาเขียนโครงการของบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของชุมชน

  5. สร้างกิจกรรมตามที่เสนอโครงการ เก็บข้อมูล และประเมินผล

ปัญหาและความต้องการของชุมชนตำบลสวาย 

ผลจากการลงพื้นที่พบปะกับตัวแทนชุมชนมีมติสอดคล้องกันว่าต้องการดำเนินโครงการตำบลช่อสะอาด ไม่มีเสียงคัดค้านจากหมู่บ้านใดเลย แต่ละหมู่บ้านมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันฉันท์เครือญาติ สภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพมีความคล้ายคลึงกัน ปัจจัยทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไม่มีข้อแตกต่างกัน โดยเฉพาะความเป็นพหุวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน มีภาษาท้องถิ่นที่ต่างกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษาอีสานอันเป็นภาษาสื่อกลางสำหรับท้องถิ่นในการสื่อสารนอกเหนือจากภาษาทางราชการ สภาพปัญหาที่ต้องการให้โครงการตำบลช่อสะอาดเข้ามามีส่วนแก้ไขดูแล จึงมีความต้องการไม่แตกต่างกันมาก ดังสรุปเป็นประเด็นปัญหาร่วมกันได้ดังนี้ 


  1. ปัญหาที่ดินที่ทำกินและความแห้งแล้ง 

  2. ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

  3. ปัญหาด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน

  4. ปัญหาจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คนวัยทำงานไปทำงานต่างถิ่น

  5. ปัญหาการขาดการส่งเสริมอาชีพและรายได้

  6. ปัญหาการขาดผู้มีความรู้ทางด้านอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการใช้ Internet ชุมชนเพื่อการค้าขาย

สินค้าออนไลน์ 

  1. ปัญหายาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่น

  2. ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของโครงการจากภาครัฐ 


จากข้อสรุปปัญหาที่ชุมชนต้องการให้โครงการตำบลช่อสะอาดเข้ามาช่วยดำเนินการแก้ไข และหวังว่าโครงการจะหาทางออกที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของชุมชนไม่ได้มองว่าปัญหาทั้งหมดเป็นอุปสรรคในการพัฒนาและต่อยอดหรือหวังเพียงต้องการความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว ในกรณีของ Internet ชุมชน ตัวแทนชุมชนกล่าวว่า ได้เข้ารับการฝึกอบรมการใช้ Internet และ e-Commerce จากหน่วยงานของภาครัฐ ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการนำความรู้ที่ได้รับการอมรมนั้นมาขยายผลและถ่ายทอดสู่ชุมชน จึงทำให้ขาดผลประโยชน์ที่ควรจะงอกเงยในจุดนี้ จึงต้องการให้โครงการตำบลช่อสะอาดหาบุคลากรช่วยเหลือและให้ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นต้น 

กระบวนการการเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของการลงพื้นที่ คือ กระบวนการพูดคุยและเข้าไปคลุกคลีเสมือนเป็นคนในชุมชนที่มีความปรารถนาดี เอื้ออาทรและมีความตั้งใจอยากจะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้กับชุมชน การทำตัวไม่ห่างเหินหรือแบ่งแยกของกลุ่มนิสิตกับชุนชม การใช้ภาษาท้องถิ่น การเดินตามพระสงฆ์ออกบิณฑบาตรตอนเช้า จึงเป็นการเข้าถึงและเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเชิงประจักษ์ได้อีกทางหนึ่ง (SinehaWangkahad, 2009)


สรุปและข้อเสนอแนะ

  1. โครงการตำบลช่อสะอาดเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการหมู่บ้านช่อสะอาด โดยมีหมู่บ้านท่าคอยนางเป็นต้นแบบ จากการพบปะและเสียงมติส่วนใหญ่ของตัวแทนชุมชนต้องให้เกิดโครงการตำบลช่อสะอาดขึ้นในตำบลสวาย เพื่อจะเป็นตำบลช่อสะอาดต้นแบบแห่งแรกของประเทศ ซึ่งการพัฒนาท้องถิ่นดังเช่นตำบลสวายถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นกลไกลเพื่อพัฒนาหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดกล่าวคือ เริ่มจากหมู่บ้านไปสู่ตำบลเป็นที่ทราบกันดีกว่าการปกครองหรือการบริหารดูแลหมู่บ้านตามวัฒนธรรมไทยชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆมิใช่เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ห่างเหินกันแต่อย่างใดแต่เป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นทุนเดิมจึงเกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและความสมัครสมานสามัคคีในกิจการของหมู่บ้านกลไกลการปกครองและการจัดการความสุขสงบของหมู่บ้านตามความคิดแบบบวรและหลักภาวนา 4 จึงเป็นแนวความคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในก้นบึ้งของความเป็นคนไทยอย่างแยกออกมิได้ความคิดความรู้สึกแบบบวรจึงเสมือนลมหายใจเพื่อดำรงจิตวิญญาณและความสุขสงบของคนไทย หากได้นำแนวทางนี้มาต่อยอดขยายผลอย่างมีประสิทธิผลย่อมทำให้ตำบลสวายกลายเป็นตำบลช่อสะอาดในอุดมคติในที่สุด ทั้งนี้ โครงการจะต้องได้รับฉันทามติจากชุมชนเสียก่อนว่าต้องการให้เกิดตำบลช่อสะอาด ซึ่งมติของชาวตำบลสวาย คือ เห็นชอบด้วยในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาตำบลช่อสะอาด

  2. ควรมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติควบคู่กับการศึกษาเชิงคุณภาพ เช่น หลังจากดำเนินโครงการช่อสะอาดไปแล้วชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ จำนวนการลักขโมยหรือการทำผิดกฎหมายลดลงหรือไม่เป็นจำนวนกี่คดี เป็นต้น เพื่อให้เป็นข้อมูลเชิงปริมาณใช้ศึกษาต่อไป 


กิตติกรรมประกาศ

การลงศึกษาพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลในครั้งนี้ กลุ่มนิสิตขอกราบขอบพระคุณพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร., ในฐานะที่พระอาจารย์เป็นที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำและชี้แนะแนวทางการนำกระบวนการพุทธสันติวิธีลงมาปรับประยุกต์ใช้จริงและท่านอาจารย์ ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ ที่กรุณาให้คำปรึกษาและแนะนำในการลงพื้นที่ ขอขอบพระคุณตัวแทนชุมชนตำบลสวายทั้ง ๑๐ หมู่บ้าน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครูอาจารย์ พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่รัฐทุกผ่ายที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและให้การดูแลประสานงานเป็นอย่างดีระหว่างลงพื้นที่จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนการเกิดโครงการตำบลช่อสะอาดต้นแบบ ณ ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษได้ ในโอกาสอันใกล้นี้ 


References 

Ban Muang. (2018). Chorsaard ordain as aSāmaera for 70,000 villages. Retrieved May 12, 

2018, from http://www.banmuang.co.th/news/education/107353.

Peace Studies. (2017).Peace Studies Curriculum. Retrieved May 12, 2018, from 

http://www.ps.mcu.ac.th/?p=166.

Phramaha Hansa Dhammahaso. (2015). From five precepts villages to Chorsaard Villages

Retrieved May 12, 2018, from http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?

article_id=2042&articlegroup_id=330.

PrayudhPayutto. (2013). Dhamma and life development. Retrieved May 12, 2018, 

from http://www.med.cmu.ac.th/secret/meded/AOMJAI_1/KMธรรมกับการเรียนการสอน.pdf.

Ministry of Culture. (2016). Borvorn (Home,Temple and School). Retrieved May 12, 2018, 

from https://www.m-culture.go.th/provincenetwork/article_attach/article_fileattach_

20161123090310.pdf

SinehaWangkahad. (2009). Multilingualism in Ban Tha Koi NgangPrang Ku District, Srisaket

Province. Retrieved May 12, 2018, from http://digi.library.tu.ac.th/thesis/lib/0568/15บทที่7.pdf.

The National Anti-Corruption Commission is a constitutional organization of Thailand. (2017). 

Anti-Corruption Master Plan 20 Years. Retrieved May 12, 2018, from

http://anticorruption.mot.go.th/mot-api/09-anti-web/upload/download//649427_2.

แผนแม่บท%20บูรณาการป้องกัน%20ปราบปรามฯ%20ระยะ%2020%20ปี%20(พ.ศ.%

202560%20-%202579).pdf.


บทความนี้เขียนจากการลงพื้นที่จริงของกลุ่มนิสิต ปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดังรายชื่อต่อไปนี้
คุณดวงจันทร์ บุญรอดชู คุณณัฐพล จารัตน์ คุณนภษร รัตนนันทชัย คุณมธประจักษ์ เติมกิจขจรสุข และคุณสุริยันต์ จันทร์ศิริ