Search This Blog

Showing posts with label มาตรา 420 ปพพ. Show all posts
Showing posts with label มาตรา 420 ปพพ. Show all posts

Sunday, December 18, 2022

"หนังสือราชการปลอม มองเห็นได้ แต่ไม่ตรวจสอบ" จากสำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกคลอง

 2 - 3 วันนี้ ต้องหาข้อมูลเพื่อเขียนงานวิชาการ ผมได้เสริชข้อมูลผ่าน google อ่านบทความหลายชิ้นจากผู้รู้ัหลายคน หลายค่าย และหลายสำนัก จนสะดุดบทความชิ้นหนึ่งชื่อ 

หนังสือราชการปลอม มองเห็นได้ แต่ไม่ตรวจสอบ

บทความนี้เป็นผลงานของคุณธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกคลอง สามารถเข้าถึงบทความจากลิ้งก์ [https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/admincourt_journal/everyorganization/13-1.pdf]

หากไม่สะดวกดาวน์โหลด ผมแชร์บทความโดยมิได้ตัดต่อเพื่อให้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลขั้นต้นและข้อความไม่ผิดเพี้ยงจากเดิม งานชิ้นนี้เป็นงานที่เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการของทางราชการ สามารถเปลี่ยนแพร่ต่อได้ 

รายละเอียดของเนื้อหาในบทความ ดังนี้

ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่แล้วทําให้ผู้อื่นเสียหาย หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดก็จําต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทําละเมิดแทนเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็จะต้องถูกหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบว่า เป็นการกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทําให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ ถ้าใช่ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ต้องถูกไล่เบี้ยให้ชดใช้เงินคืนตามส่วนของความรับผิดแก่หน่วยงานต้นสังกัด แต่ถ้าตรวจสอบแล้วว่าเป็นประมาทเลินเล่อแต่ไม่ร้ายแรงหน่วยงานต้นสังกัดก็ไม่สามารถไล่เบี้ยกับตัวเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้โดยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนนี้เอง (มาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมาตรา 5 มาตรา 8 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539)

การกระทําโดยจงใจนั้น เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้กระทํารู้สํานึกในการกระทําหรือมีเจตนาที่จะกระทําการโดยมิชอบเพื่อให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ส่วนการประมาทเลินเล่อ เป็นเรื่องของการกระทําที่สามารถป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นได้หากได้ใช้ความระมัดระวัง ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ที่ให้ความหมายของคําว่า “กระทําโดยประมาท” ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

ส่วนการกระทําโดย “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นคําที่บัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ นั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ เช่น ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.921/2558 ว่าหมายถึง การกระทําโดยมิได้เจตนา แต่เป็นการกระทําซึ่งบุคคลพึงคาดหมายได้ว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้และหากได้ใช้ความระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้แต่กลับมิได้ใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นเลย

คดีปกครองที่นํามาเป็นอุทาหรณ์ต่อไปนี้เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ความระมัดระวังไม่เพียงพอในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรื่องที่พบความผิดปกติทั้งที่สามารถป้องกันปัญหาได้และหน่วยงานของรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทําละเมิดดังกล่าว

คดีนี้สืบเนื่องจากสํานักงานท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่นได้มีการจัดสอบแข่งขันและต่อมาได้มีประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น เรื่องการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตําบล โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบได้ในลําดับที่ 85 จากจํานวน 1,155 ราย จากนั้นได้มีการบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้จํานวน ๒๓๗ อัตราตามลําดับ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ มาขอใช้บัญชีด้วย

 ประเด็นปัญหาอยู่ที่รายของผู้ฟ้องคดีเพราะหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น ให้ไปรายงานตัวเพื่อดําเนินการเกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจาก อบต.ต้นกก (นามสมมติ) ได้มีหนังสือขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้และคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น ได้มีมติเห็นชอบ พร้อมทั้งได้จัดส่งเอกสารต่างๆ ให้แก่อบต.ต้นกก เพื่อดําเนินการบรรจุผู้ฟ้องคดีต่อไป

เมื่อ อบต.ต้นกก ได้รับเรื่องและตรวจสอบพบว่าหนังสือขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่อ้างว่าออกจาก อบต.ต้นกก นั้น เป็นหนังสือราชการปลอม โดย อบต.ต้นกก ไม่ได้เป็นผู้ทําหนังสือดังกล่าว จึงได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่นทราบเรื่องที่เกิดขึ้น

ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือติดตามเรื่องต่อ อบต.ต้นกก ซึ่งได้รับหนังสือแจ้งตอบกลับว่า อบต.ต้นกก ไม่เคยมีหนังสือขอใช้บัญชีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงได้โทรติดต่อสอบถามไปยังคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่ามีการขอใช้บัญชีผู้สอบได้จาก อบต.ต้นกก 

ภายหลังจากเกิดเรื่อง ผู้ฟ้องคดีได้รอการบรรจุอยู่นาน เมื่อไม่ได้รับแจ้งผลใดๆ จึงได้ยื่นฟ้อง สํานักงานท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) อบต.ต้นกก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกกระทบสิทธิที่จะได้รับบรรจุแต่งตั้ง ค่าเสียรายได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาคือ คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และ อบต.ต้นกก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) กระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ 

กรณีการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อพิรุธหลายจุดที่สามารถมองเห็นได้ เช่น การระบุสถานที่ออกหนังสือไม่ถูกต้องตามรูปแบบหนังสือราชการ มีการระบุหมายเลขมือถือแทนหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงาน และไม่ได้ระบุจํานวนหรืออัตรากําลังที่ต้องการอย่างชัดเจน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือติดต่อไปยังหน่วยงานเจ้าของหนังสือเพื่อความชัดเจนซึ่งจะทําให้ทราบความจริงว่าหนังสือดังกล่าวไม่ได้ออกโดย อบต.ต้นกก และผู้ฟ้องคดีไม่ต้องรอการบรรจุเป็นเวลานานและเสียโอกาสในการบรรจุ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กลับดําเนินการประชุมและมีมติเห็นชอบให้ อบต.ต้นกก ใช้บัญชีผู้สอบได้รายผู้ฟ้องคดีโดยไม่มีการตรวจสอบกับหนวยงานผู้ขอใช้บัญชีเพื่อความชัดเจน

ประกอบกับหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งจาก อบต.ต้นกก ว่าไม่ได้เป็นผู้ทําหนังสือที่พิพาท แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีโทรไปสอบถามเรื่อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กลับยืนยันว่ามีการทําหนังสือดังกล่าวจาก อบต.ต้นกก จึงรับฟังได้ว่าการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ ทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายแก่สิทธิในการที่จะได้รับบรรจุแต่งตั้ง อันเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ส่วนการกระทําของ อบต.ต้นกก นั้น หลังจากทราบเรื่องได้ทําการตรวจสอบพบว่าหนังสือที่พิพาทซึ่งลงนามโดยรองนายก อบต.ต้นกก เป็นหนังสือที่มีการปลอมแปลงขึ้น เนื่องจากขณะที่มีหนังสือฉบับนี้ อบต.ต้นกก ไม่มีอัตราว่างในตําแหน่งที่ผู้ฟ้องคดีขึ้นบัญชีคือตําแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 เพราะได้มีการบรรจุตําแหน่งดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้และรองนายก อบต.ต้นกก ได้ยืนยันว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของตนที่ลงนาม อีกทั้งเลขที่หนังสือพบว่าเป็นเลขที่หนังสือเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีว่า อบต.ต้นกก ไม่ได้มีหนังสือขอใช้บัญชีผู้สอบได้หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือราชการปลอม รวมทั้งได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกรณีมีผู้ปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของ อบต.ต้นกก เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทําหนังสือดังกล่าว กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอบต.ต้นกก ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย

ศาลปกครองสูงสุดจึงยกฟ้อง อบต.ต้นกก และพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีตามจํานวนเงินค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นได้กําหนดจากพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีประเด็นอุทธรณ์เกี่ยวกับจํานวนเงินค่าเสียหายดังกล่าว (คดีหมายเลขแดงที่ อ.201/2559)

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักในการปฏิบัติราชการที่ดีเกี่ยวกับการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวัง รอบคอบในการทํางาน และต้องตรวจสอบเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่องานในหน้าที่โดยทันที เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขโดยเร็ว การปฏิบัติราชการที่ขาดความระมัดระวังซึ่งเจ้าหน้าที่พึงต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์หรือปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในหน้าที่ เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ย่อมเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ (ธรรมดา) ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว แต่หากเจ้าหน้าที่กระทําโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการใช้อํานาจตามกฎหมาย ที่อาจกระทบสิทธิของบุคคลได้อยู่ตลอดเวลา จึงไม่อาจละเลยล่าช้าปล่อยเวลาให้ล่วงไป จนเกิดความเสียหายขึ้น

บทความชิ้นนี้ เป็นแหล่งตัวอย่างความรู้ที่ทำให้คนทำงานราชการหรือข้าราชการได้ตระหนักว่า ต้องใช้ความสามารถมิให้ขาดความประมานเลินเล่อ จงใจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่อาจเป็นการทำความเสียหายได้ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้

มาดูว่ามาตรานี้บัญญัติว่าอย่างไร 

📌 มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

ที่มา: ภาพ infographic ของสำนักงานกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม

สิ่งสำคัญ คือ "จงใจ" ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรือไม่ หากไม่จงใจแต่ "ประมาทเลินเล่อ" จนเกิดความเสียหายร้ายแรงหรือไม่ สามารถคาดการณ์เหตุที่ควรจะเกิดแต่ไม่ยับยั้งจนเกิดความเสียหายเป็นการจงใจหรือไม่ 

ดังนั้น จึงต้องใส่ใจและคำนึงถึงสิทธิในการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายทั้งจงใจและประมาทเลินเล่อของตนเองอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้จะต้องเก็บหลักฐานส่วนตัวไว้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันตนเองไว้หากเกิดความเสียหายหรือไม่

ขอบคุณท่านผู้เขียนบทความให้ความรู้นี้เป็นวิทยาทานสำหรับการทำงานราชการเป็นอย่างดี

ณัฐพล จารัตน์
18 ธันวาคม 2565
ในวันที่เช้านี้อากาศเย็นประมาณ 20 องศา และหอมกลุ่นกลิ่นกาแฟเวียดนามอบอวนบ้าน