Search This Blog

Showing posts with label สังคมสูงสัย. Show all posts
Showing posts with label สังคมสูงสัย. Show all posts

Sunday, August 6, 2023

สังคมสูงวัยและประชากรลดลง รัฐบาลเยอรมันเล็งเพิ่ม "ผู้หญิง" เข้าเป็นทหาร

สวัสดีจากกรุงเบอร์ลินของวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ขณะนี้เวลา 23.39 น. อากาศข้างนอกบ้านประมาณ 17 องศา ถือว่ากำลังสบาย ๆ แต่พรุ่งนี้พยากรณ์อากาศของเยอรมนี หรือ Deutscher Wetterdienst (น่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา) คาดว่าฝนจะตกถึง 50% ในกรุงเบอร์ลิน คนเยอรมันพูดคุยกันถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนหนัก วันนี้วันเดียวมีทั้งฝนตกหนัก น้ำท่วม ร้อน และหิมะตกในบางเมืองของประเทศ 

ตามที่หัวข้อเขียนไว้ เน้นที่ "ผู้หญิง" จะเข้าเป็นทหารมากขึ้นในกองทัพของเยอรมนี หรือ Bundeswehe เนื่องจากเยอรมนียกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร (Abschaftfung der Wehrpflicht) ตั้งแต่ปี 2000 (ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ) เปลี่ยนเป็นสมัครใจเข้าเป็นทหารด้วยการกรอกใบสมัครเหมือนการสมัครงานของพลเรือนทั่วไป

ปัจจุบันพบว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าเป็นทหารน้อยลงอย่างชัดเจน สาเหตุมาจากจำนวนสัดส่วนของประชากรวันที่เหมาะสมกับการเข้าเป็นทหารลดลง สังคมเป็นสัมคมผู้สูงอายุ และความไม่สนใจที่จะเป็นทหารของคนเยอรมัน อาจมาจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียก็เป็นได้ 

กระทรวงกลาโหมของเยอรมนีเริ่มอาการปวดหัวและนั่งไม่ติดที่ เพราะเยอรมนีเป็นประเทศสมาชิกนาโต (NATO) และเป็นพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจของยุโรป ถ้ามีทหารน้อยลง จะเป็นอุปสรรคในการสนับสนุนทางการทหารแก่นาโตและชาติสมาชิกนาโตอีกด้วย ถ้ายิ่งคนน้อย การปฏิบัติภารกิจทางทหารก็ยากจะสำเร็จ ดังนั้น ครม. ของรัฐบาลกลางเยอรมนีจึงผ่านร่างกฎหมายให้เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในกองทัพมากขึ้น 

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางผ่านร่างกฎหมายฉบับแก้ไขเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศในกองทัพเมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 มีเป้าหมายที่จะค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนของทหารหญิงในตำแหน่งผู้บริหาร และจะปรับปรุงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการดูแลเด็กและสมาชิกในครอบครัวของททหาร ปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้หญิงใน Bundeswehr มาถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม กองทัพเยอรมนี (Bundeswehr) ควรจ้างงานและดึงดูดผู้หญิงให้เข้ากองทัพมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายพื้นฐานได้รับการแก้ไขเมื่อปลายปี 2543 อนุญาตให้ทหารหญิงใน Bundeswehr สามารถถืออาวุธได้เช่นกัน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคทางทหารตั้งแต่ปี 2547 และแก้ไขล่าสุดปี 2556 

Bundeswehr จะให้ความสำคัญสูงสุดต่อการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายเพื่อดึงดูดให้เข้ามาเป็นทหาร เหตุผลสำหรับร่างกฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศในกองทัพต้องการเพิ่มเติมกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคลากรทางทหาร กองทัพต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมการใช้ศักยภาพทางทหารที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอและผลพวงจากความเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ผู้หญิงหรือทหารหญิงในกองทัพต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวของตนเอง กองทัพจึงหยิบประเด็นการดูแลครอบครัวขึ้นมาพิจารณาเป็นครั้งแรกเช่นกัน ประเด็นนี้รวมถึงการดูแลเด็ก การสนับสนุนทางการเงิน งานควบคุมดูแลและงานพยาบาลต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยต้องไม่ส่งผลด้านลบต่อการเลื่อนตำแหน่งและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้วยกฎหมายนี้การพิจารณาตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะมีโอกาสที่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงจะมีสิทธิที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในกระบวนการทางวินัยและการร้องเรียนมากยิ่งขึ้น รวมถึงไม่มีการการคัดค้านด้วยเหตุความแตกต่างทางเพศ

ในเชิงสถิติ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 24,180 คน คิดเป็นร้อยละ 13.2 จากทั้งหมดจำนวนเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 182,000 คนของ Bundeswehr เป็นผู้หญิง โดยสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นการปฏิบัติงานบริการทางการแพทย์ ร้อยละ 45.65 และในทำหน้าที่อื่น ๆ ร้อยละ 15  อย่างไรก็ตามในสัดส่วนร้อยละ 15 ผู้หญิงได้รับการพิจารณาว่าไม่ได้มีบทบาทในกองทัพเพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่างานบริการทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องปรับสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในตำแหน่งผู้บริหารมีสัดส่วนของทหารหญิงที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงต่อกระทรวงกลาโหมร้อยละ 2.4 และในพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนร้อยละ 33.8

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานข่าวยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารในร่างกฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศในกองทัพ เป้าหมายทั่วไประบุบใจความสำคัญเพียงว่า "จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น"  ดังนั้น หมายความว่า ผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในการปรับเปลี่ยนหน้าที่หรือเลื่อนตำแหน่ง หากผู้หญิงคนนั้นไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่เดิมเลย 

กฎหมายฉบับนี้จะนำความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศในกองทัพและการพัฒนากองทัพสู่ยุคใหม่

ผมได้อ่านข่าวและคุยกับคนเยอรมันที่เริ่มมีเสียงอยากให้การเกณฑ์ทหารกลับมาอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัสเซียกับยูเครน คนเยอรมันเกิดความไม่มั่นคงถ้าหากเกิดสงครามขึ้น เยอรมันจะมีทหารพร้อมกับการสู้รบหรือไม่ แต่การนำระบบเกณฑ์ทหารกลับมาเหมือนเดิม ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ต้องขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีและประชาชนของเยอรมนีด้วย

การเพิ่มจำนวนด้วยสนับสนุนผู้หญิงเข้ามาเป็นทหารเป็นแนวคิดที่สร้างความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง (แม้ในหลายปัจจัยต่างกัน) คาดว่าจะเพิ่มจำนวนบุคลากรใน Bundeswehr ได้ในระยะตามนโยบายของรัฐบาล

มองกลับไปที่ประเทศไทย เรากำลังพูดถึงเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ แน่นอนว่าช่วงแรกคนน่าจะสนใจเยอะ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีงานทำคงจะสมัครกัน ผมยังคิดว่าในระยะยาวจะมีคนสมัครเป็นทหารกันมากหรือ เหตุผลหรือสาเหตุเช่นเดียวกับเยอรมัน คือ ประชากรลดลง สังคมสูงสัย และบทบาทของทหารไม่เหมือนเดิม นั่นสิครับ เยอรมันน่าจะเป็นโมเดลสำหรับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

สังคมไทยเราเป็นสังคมง่าย ๆ ไม่คิดเยอะ ไม่ (อยาก) ซับซ้อน แต่ก็ทำให้เราเดินไปอย่างช้าเกนควร บางนโยบายพอเรากำลังจะทำ พอดูทางตะวันตกกลับเป็นเรื่องที่ตามเขาไม่ทัน เขาไปเรื่องใหม่กันแล้ว 

ผมจะลองติดตามว่านโยบายรับสมัครผู้หญิงเข้าประจำการจะเป็นอย่างไร ข่าวคงมีเรื่อย ๆ 

ณัฐพล จารัตน์

กรุงเบอร์ลิน

05.08.2566


ที่มาของข้อมูล

* https://www.bmvg.de/de/aktuelles/verbesserungen-gleichstellung-betreuung-zuverdienst-geplant-5659672

* https://www.msn.com/de-de/nachrichten/politik/bundeswehr-soll-f%C3%BCr-frauen-als-arbeitgeber-attraktiver-werden/ar-AA1en1IX?ocid=msedgdhp&pc=U531&cvid=15ac10402e8548bfaa02c6aadd96c6c1&ei=11