Search This Blog

Showing posts with label ซอฟต์พาวเวอร์. Show all posts
Showing posts with label ซอฟต์พาวเวอร์. Show all posts

Wednesday, January 1, 2025

ซอฟต์พาวเวอร์ขนมโตเกียว: การเดินทางข้ามวัฒนธรรมบนแผ่นแป้งจากญี่ปุ่นสู่ความไทย

ไม่นานมานี้ เพื่อนส่งบทความที่ผมเคยเขียนใน Line Today เกี่ยวกับที่มาของขนมโตเกียวด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์ว่าด้วยการลากเข้าความ (อ่านได้จากลิ้ก์นี้ "ขนมโตเกียว" ใครว่าเป็นขนมญี่ปุ่น ? ในมุมการลากเข้าเป็นไทย-ณัฐพล จารัตน์ | LINE TODAY SHOWCASE | LINE TODAY) บางท่านอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามมุมมองของผม นั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่งด้วยการสันนิษฐานส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ความจริงที่หักล้างไม่ได้เลยนั้น คือ ขนมโตเกียวไม่ใช่ขนมดังเดิมของไทยและไม่มีขายในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเป็นแน่แท้

ก่อนผมจากเดินทางมากรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผมถ่ายภาพขนมโตเกียวที่ซื้อจากตลาดนัดซอยแถวบ้าน เพียงไว้เพื่อเป็นภาพสำหรับโชว์ชาวเยอรมันเกี่ยวกับขนมต่าง ๆ ของไทย วันผมนำมาลงไว้ใน blog และเขียนเนื้อหาเพิ่มจากเดิมที่เคยลงใน Line Today

ภาพคุ้นตาของรถเข็นขายขนมโตเกียวริมถนน เป็นภาพที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างยาวนาน เสียงกระทะเหล็กกระทบกับตะหลิว แป้งที่ถูกละเลงลงบนกระทะร้อน ๆ และกลิ่นหอมของไส้ต่าง ๆ เป็นสัญญาณบอกว่าขนมโตเกียวพร้อมเสิร์ฟแล้ว ภาพเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางย้อนเวลา เพื่อค้นหาที่มาของขนมที่ชื่อเหมือนเมืองหลวงของญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีขายที่โตเกียว

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ

คราวที่แล้วผมเสนอไว้สองทฤษฎีกับการเดินทางข้ามวัฒนธรรมของขนมโตเกียว ผมเสนอว่าต้นกำเนิดของขนมโตเกียวเชื่อมโยงกับขนมญี่ปุ่นยอดนิยม 

  1. อิทธิพลจากโดรายากิ: โดรายากิ ขนมแป้งแพนเค้กสองแผ่นประกบไส้ถั่วแดงกวน เป็นขนมที่คุ้นเคยจากตัวการ์ตูนโดราเอมอน การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น "ไทยไดมารู" ในปี พ.ศ. 2507 พร้อมกับการนำเข้าโดรายากิ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ขนมโตเกียว พ่อค้าแม่ขายอาจนำโดรายากิมาดัดแปลง โดยเปลี่ยนรูปแบบจากแป้งสองแผ่นประกบกัน เป็นแป้งแผ่นเดียวม้วนห่อไส้ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน

  2. แรงบันดาลใจจากเครปญี่ปุ่น: ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประเทศญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู และเครปญี่ปุ่นกลายเป็นอาหารริมทางยอดนิยมในย่านฮาราจูกุและชินจูกุ การเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวในญี่ปุ่นของคนไทยในยุคนั้น อาจนำมาสู่การนำเอาแนวคิดของเครปมาประยุกต์ใช้ โดยปรับเปลี่ยนลักษณะแป้งให้หนานุ่มขึ้น และเพิ่มไส้รสชาติแบบไทย ๆ

แล้วขนมโตเกียวเดินทางสู่ประเทศไทยเป็นขนมชื่อ "โตเกียว" ในกรุงเทพมหานครได้อย่างไร จากแนวคิดทั้งสองข้างต้นเป็นช่วงเวลาที่ขนมโตเกียวเริ่มปรากฏในประเทศไทย สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 2510 เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเข้ามาของวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านห้างไทยไดมารู ถือเป็นห้างสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกในประเทศไทย สินค้าและขนมของญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมกรุงเทพตั้งแต่นั้นมาก

การตั้งชื่อ "ขนมโตเกียว" แทนที่จะเป็น "ขนมญี่ปุ่น" อาจมีเหตุผลดังนี้ ซึ่งผมเคยเขียนในบทความคราวที่แล้วเช่นกัน กล่าวคือ

  • การรับรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นในยุคนั้น โตเกียวเป็นเมืองที่คนไทยรู้จักมากที่สุดในญี่ปุ่น เปรียบเสมือนเป็นภาพแทนของประเทศญี่ปุ่น การใช้ชื่อ "โตเกียว" จึงเป็นการสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นที่เข้าใจง่าย
  • การสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ชื่อเฉพาะ "โตเกียว" ช่วยสร้างความแตกต่างจากขนมญี่ปุ่นอื่น ๆ และสร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมชนิดนี้
  • หลักการตั้งชื่อในภาษาไทย มักใช้คำบ่งประเภท (ขนม) ตามด้วยคำบ่งสถานที่ (โตเกียว) เป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไปในภาษาไทย เช่นเดียวกับการตั้งชื่ออาหารอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงต้นกำเนิด

ในมุมมองของผมคิดว่า ขนมโตเกียวเป็นมากกว่าขนม คือ เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ขนมโตเกียวไม่ใช่แค่ขนม แต่เป็นตัวอย่างของการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Cultural Hybridization) ที่เกิดขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมหนึ่ง มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง การดัดแปลงขนมญี่ปุ่นให้กลายเป็นขนมโตเกียว แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาของคนไทย ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและรสนิยมของคนในสังคม ถ้าพูดแบบสัมยนี้ตามศาสตร์ทางการจัดการนวัตกรรมจะต้องใช้คำว่า นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation)

มีคนอยากให้ผมฟังธงว่าใครเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อว่าขนมโตเกียว ใครเป็นคนต้นคิดสูตรขนมโตเกียว ขนมโตเกียวขายที่ไหนเป็นแห่งแรก ผมยังคงมีหลักฐานทางเอกสารไม่เพียงพอ ต้นกำเนิดที่แท้จริงของขนมโตเกียวจะยังคงเป็นปริศนา ชวนให้ค้นหาและเป็นเรื่องราวเล่าเพิ่มรสชาติของขนมโตเกียว แต่เรื่องราวของขนมชนิดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของวัฒนธรรม การปรับตัว และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ขนมโตเกียวจึงไม่ใช่แค่ขนมในตลาดนัดธรรมดา ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของไทย

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ

ในยุคนี้ เพื่อให้ทันตามสมัยนิยมและสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ผมอยากชวนวิเคราะห์ว่าขนมโตเกียวเป็น Soft Power ของขนมไทยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยการพิจารณาจากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามของ Soft Power และลักษณะเฉพาะของขนมโตเกียว

Soft Power คืออะไรนั้น ต่างคนต่างตีความ นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ตีความเป็นเชิงรัฐศาสตร์ คนทางแฟชั่นตีความตามศาสตร์ของกระแสแฟชั่น แต่ไม่ว่านักวิชาการหรือผู้รู้ทั้งแนวสนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาลจะตีความกันอย่างไร ขอพักไว้ก่อน ในความเห็นส่วนตัว Soft Power คือ ความสามารถในการโน้มน้าวใจหรือดึงดูดใจผู้อื่นให้คล้อยตาม โดยไม่ใช้อำนาจบังคับหรือการใช้กำลัง (Hard Power) แต่ใช้วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศที่น่าดึงดูดใจ เป็นเครื่องมือ ตัวอย่างเช่น การเผยแพร่ภาพยนตร์ เพลง อาหาร แฟชั่น หรือแม้แต่วิถีชีวิต ขนมโตเกียวมีคุณสมบัติของ Soft Power อย่างไร ผมคิดว่า

  • ความเป็นสากล (Universality) แม้จะมีชื่อ "โตเกียว" และมีต้นแบบจากขนมญี่ปุ่นบางส่วน แต่ขนมโตเกียวได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย จนกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติที่หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน ทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย ไม่จำกัดเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม
  • ความเข้าถึงง่าย (Accessibility) ขนมโตเกียวมีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด รถเข็นข้างทาง หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า ทำให้เข้าถึงผู้คนได้ทุกระดับ
  • ความน่าสนใจ (Appeal) รูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน กลิ่นหอม และรสชาติที่อร่อย ทำให้ขนมโตเกียวเป็นที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่น
  • การเล่าเรื่อง (Storytelling) เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของขนมโตเกียว แม้จะไม่แน่ชัด แต่ก็เป็นที่สนใจและถูกพูดถึง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสร้างความผูกพันกับขนมชนิดนี้
  • การปรับตัว (Adaptability) ขนมโตเกียวมีการปรับตัวอยู่เสมอ มีการพัฒนาไส้ใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ขนมชนิดนี้ยังคงได้รับความนิยม

แล้วขนมโตเกียวในฐานะ Soft Power เป็นอย่างไร จากคุณสมบัติและอัตลักษณ์ข้างต้น ขนมโตเกียวมีศักยภาพในการเป็น Soft Power ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในบริบทของอาหารและวัฒนธรรมอาหารของไทย บางรู้ท่านหนึ่งแนะนำให้ผมเพิ่มคำว่า "ร่วมสมัย" ผมก็มีความเห็นไม่คัดค้าน ขนมโตเกียวจะเป็น Soft Power ได้ด้วย

  • การเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทย แม้จะมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น แต่ขนมโตเกียวในรูปแบบปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารริมทางของไทย การเผยแพร่ขนมโตเกียวไปยังต่างประเทศ อาจช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยในวงกว้างมากขึ้น
  • การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ ให้อาหารเป็นสื่อกลางที่ดีในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนขนมโตเกียวและเรื่องราวเกี่ยวกับขนมชนิดนี้ อาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกขนมโตเกียวเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่ได้ลิ้มลองขนมโตเกียว อาจเกิดความสนใจในวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และอยากกลับมาท่องเที่ยวอีก

หากพิจารณาขนมโตเกียวในบริบทของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ผมคิดว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยการบรรจุขนมโตเกียวเข้าในแผนการประชาสัมพันธ์เป็นขนมไทยร่วมสมัย แม้จะมีชื่อที่สื่อถึงญี่ปุ่น แต่ด้วยวิวัฒนาการและการปรับตัวให้เข้ากับบริบทไทย ทำให้ขนมชนิดนี้มีศักยภาพที่จะเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้ หากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเหมาะสม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้ขนมโตเกียว ผมเสนอว่า เราต้องดำเนินการ

  1. การสร้างเรื่องราว (Storytelling) และอัตลักษณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับขนมโตเกียว เช่น การเล่าถึงวิวัฒนาการจากขนมญี่ปุ่นสู่ขนมไทย การปรับปรุงรสชาติและไส้ให้ถูกปากคนไทย หรือการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าสนใจให้กับขนมชนิดนี้ รวมถึงการสร้างแบรนด์หรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยในขนมโตเกียว

  2. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของขนมโตเกียว ทั้งในด้านวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต และบรรจุภัณฑ์ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

  3. การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดงานเทศกาลขนมโตเกียว การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ หรือการร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มการรับรู้และความนิยมของขนมโตเกียว โดยการจัดร่วมกับขนมไทยอื่น ๆ ในคราวเดียวกัน แยกเป็นขนมไทยร่วมสมัย

  4. การสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะ และการสร้างเครือข่าย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ

  5. การเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วยการนำขนมโตเกียวไปผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น การนำเสนอขนมโตเกียวในงานเทศกาลวัฒนธรรม หรือการสร้างสรรค์ไส้ขนมโตเกียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารต่างชาติ จะช่วยเพิ่มความหลากหลายและสร้างความน่าสนใจ

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ


ผมลองคิดเล่นด้วยการประเมินศักยภาพของขนมโตเกียวในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยวิธี SWOT อย่างง่าย ๆ ธรรมดา ๆ พื้น ๆ ไม่เจาะลึก พบว่า
  • จุดแข็ง คือ ขนมโตเกียวเป็นที่รู้จักและนิยมในประเทศไทย มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย และมีรสชาติที่หลากหลาย
  • จุดอ่อน คือ การรับรู้ในระดับสากลยังจำกัด และยังขาดการส่งเสริมและการตลาดอย่างเป็นระบบ
  • โอกาส คือ กระแสความนิยมในอาหารริมทางและวัฒนธรรมอาหาร รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันขนมโตเกียว
  • อุปสรรค คือ การแข่งขันกับขนมและอาหารอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความท้าทายในการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน

อย่างที่กล่าวนั้น รัฐบาลสามารถใช้ขนมโตเกียวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้ โดยมุ่งเน้นการสร้างเรื่องราว การพัฒนาคุณภาพ การส่งเสริมการตลาด และการสนับสนุนผู้ประกอบการ การทำเช่นนี้จะช่วยยกระดับขนมโตเกียวให้เป็นที่รู้จักและนิยมในระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

คราวนี้ ผมมองขนมโตเกียวในฐานะตัวอย่างของ "Thailandization" หมายถึง การทำให้เป็นไทย (หรืออีกคำคือก "Thaification") กล่าวอย่างง่าย คือ ทำให้ของขนมญี่ปุ่นเป็นขนมไทย ขนมโตเกียวแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ Thailandization อย่างชัดเจนในหลายด้าน

  1. การรับอิทธิพลจากญี่ปุ่นและแรงบันดาลใจจากขนมญี่ปุ่น เช่น โดรายากิ หรือเครปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นขนมที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาที่ขนมโตเกียวเริ่มปรากฏในประเทศไทย

  2. การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และรสชาติได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์จากขนมต้นแบบอย่างชัดเจน เช่น จากโดรายากิที่เป็นแป้งสองแผ่นประกบกัน ก็กลายเป็นแป้งแผ่นเดียวม้วนห่อไส้ต่างๆ นอกจากนี้ รสชาติของขนมโตเกียวก็ได้รับการปรับให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย โดยมีไส้ที่หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน เช่น ไส้ครีม ไส้ไข่ ไส้กรอก ไส้หมูสับ หรือไส้สังขยา ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยคุ้นเคย

  3. การตั้งชื่อ "ขนมโตเกียว" เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการ Thailandisation แม้ว่าขนมชนิดนี้จะไม่มีขายในโตเกียวหรือญี่ปุ่น แต่ชื่อนี้กลับสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นในความรับรู้ของคนไทยในยุคนั้น ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชาญฉลาดในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค

  4. การผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยจนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารริมทางของไทย โดยมักพบเห็นได้ตามรถเข็นข้างทาง หน้าโรงเรียน หรือตลาดนัด ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคยของคนไทย

  5. การสร้างความหมายใหม่ในบริบทของสังคมไทย โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่ขนมญี่ปุ่น แต่กลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยทุกเพศทุกวัย และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน

ผมสรุปว่าขนมโตเกียวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกระบวนการ Thailandisation ที่ประสบความสำเร็จ โดยได้นำเอาแรงบันดาลใจจากขนมญี่ปุ่นมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และผสมผสานให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย จนกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่นิยม และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารไทย การวิเคราะห์ผ่านมุมมองของ Thailandisation ช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาและวิวัฒนาการของขนมโตเกียวได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเป็นขนมไทยที่เหมาะแก่การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ในระดับนโยบายเพื่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ขนมไทยได้อีกชิ้นหนึ่ง

ณัฐพล จารัตน์

กรุงเบอร์ลิน

อากาศเช้านี้ 3 องศา พยากรณ์อากาศคาดว่าหิมะจะตกครั้งแรกของปีนี้