Search This Blog

Showing posts with label นโยบายนวัตกรรม. Show all posts
Showing posts with label นโยบายนวัตกรรม. Show all posts

Tuesday, January 7, 2025

ฉากทัศน์เยอรมนี 2035: การตั้งเป้าให้เยอรมนีกลับมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และความมั่นคงในปี 2035 (Germany's Das Szenario 2035)

☝รูปธงเยอรมันหน้าอาคารรัฐสภาแห่งเยอรมนี ณ กรุงเบอร์ลิน 
(https://www.bundestag.de/en/parliament/symbols/flag)

เรื่องเป็นที่ยอมรับมากที่สุดโดยไม่มีใครจะหักล้างได้ ประเทศเยอรมนีเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมโลก นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นจากฝีมือของนักนวัตกรรมชาวเยอรมันในอดีต แต่ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังท้าทายความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมโลกที่เยอรมนีรักษาเก้าอี้ไว้นานนับศตวรรษ

 

การจัดการนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ผมสนใจมากหลังที่จากกลับจากการเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการจัดการนวัตกรรมเชิงนโยบาย แต่ยังไม่เคยจับงานโดยตรง เคยช่วยเขียนเชิงนโยบายนวัตกรรมของหน่วยงานบ้าง แต่เป็นเพียงร่วมกับทีมวิจัย พอมีโอกาสมาอยู่ใช้ชีวิตในประเทศเยอรมันจึงทำให้ผมพยายามศึกษานโยบายเชิงนวัตกรรมของเยอรมนีจากการอ่านรายงานและข่าวสารต่าง ๆ โดยใช้เครื่องแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง เช่น Google translate, Bing translation รวมถึง ChatGPT Pro

 

เมื่อวานเสริชข้อมูลและพบรายงาน DAS SZENARIO 2035 ซึ่งจัดทำโดย มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung ผ่านโครงการ Created by Germany ได้วิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาในหลายมิติเชิงนวัตกรรมของประเทศเยอรมนี โดยตั้งเป้าให้เยอรมนีกลับมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และความมั่นคงในปี 2035 จึงอยากรู้เรื่องและรีบศึกษาทันที ข้อมูลทั้งหมดเป็นการสรุปด้วยความเข้าใจส่วนตัวเท่านั้น การนำไปอ้างอิง ขอแนะนำให้อ่านต้นฉบับและใช้หลักโยนิโสมนสิการครับ

 ผมสังเกตุว่า รายงานใช้คำว่า “ตั้งเป้าให้เยอรมนีกลับมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ความยั่งยืน และความมั่นคงในปี 2035” ย่อมหมายความว่า สถานการณ์ของความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมของเยอรมนีกำลังถูกท้าทายใช่หรือไม่

 ซึ่งคำตอบ คือ “ใช่” โดยที่ไม่ต้องรีบรอคิดนาน

 ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมของเยอรมนีที่เป็นจุดอ่อนกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัดด้วยประสบการณ์ของตนเอง ก่อนเดินทางมาใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี อยู่ในเมืองหลวง ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ผมวาดฝันว่าจะได้เห็นนวัตกรรมอันล้ำสมัยและเมืองที่เต็มไปด้วยการขับเคลื่อนเชิงนวัตกรรม พอมาถึงเพียงวันแรกกลับไม่ประทับใจนัก เพราะประหลาดกับคลื่นสัญญาณมือถือไม่เสถียรหรือคลื่นหาย ทั้งที่อยู่ในอาคารสนามบินมิวนิคที่ทันสมัยมาก ปัญหาคลื่นมือถือหายในเยอรมนีกลายเป็นเรื่องปกติจริง ๆ ของประเทศเยอรมนีที่ได้ชื่อว่าเจ้าแห่งนวัตกรรม เน็ตติด ๆ หาย ๆ กลายเป็นเรื่องย้อนแย้งกับภาพลักษณ์ของประเทศเยอรมนีจริง ๆ สัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ตของเมืองไทยถือว่าดีกว่าเยอรมนีอย่างมากที่สุดเทียบกันไม่ได้เลย นี่เพียงแค่สัญญาณมือถือที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ยังไม่ต้องพูดถึงนวัตกรรมเรื่องอื่น ๆ

 จากรายงาน DAS SZENARIO 2035 ผมได้เข้าใจว่า เยอรมนีกำลังขยับ ปรับเปลี่ยนและเร่งพัฒนานวัตกรรมของเยอรมนีอย่างก้าวกระโดดให้เท่าทันจีนหรือประเทศในเอเชีย ถึงเวลาที่ต้องทวงคืนตำแหน่งมหาอำนาจทางนวัตกรรมได้แล้ว

โครงการเริ่มต้นในปี 2019 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาฉากทัศน์สำหรับเยอรมนีในปี 2035 มุ่งให้ประเทศเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม (World Innovation Leadership) มีระบบพลังงานที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยภายในที่เข้มแข็ง และมีสังคมที่มีความเป็นเอกภาพสูง แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนสำคัญ เพื่อวัดผลความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้ถูกพัฒนาขึ้น คือ

1. การพัฒนาฉากทัศน์ 2035 เพื่อคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตที่เยอรมนีจะมีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีโลก

2. การสร้างข้อเสนอแนะ (Empfehlungen) เสนอแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายในฉากทัศน์ 2035

โดยรายงานนี้นำเสนอข้อมูลและตัวชี้วัด (Indicators) จำนวน 35 ตัว แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่

1.  การสร้างคุณค่า (Wertschöpfung) เป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับการลงทุนของรัฐ การขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ

2.  นวัตกรรม (Innovation) เป็นการวิเคราะห์การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของเยอรมนี

3.  ภูมิอากาศและพลังงาน (Klima/Energie) เป็นการประเมินความสำเร็จของ Energiewende (การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน) และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ความรู้และทักษะ (Know-how) เป็นการตรวจสอบสถานะของระบบการศึกษา การฝึกอบรม และความพร้อมของแรงงานในอนาคต

5. ความมั่นคง (Sicherheit) เป็นการวิเคราะห์ความปลอดภัยทางไซเบอร์และระบบป้องกันภัยของประเทศ

6.  ความมั่นคงทางสังคม (Soziale Sicherheit) เป็นการวัดความเท่าเทียมทางสังคม อัตราการจ้างงาน และความสามัคคีในสังคม

 คำในวงเล็บทั้งหมดเป็นภาษาเยอรมัน อยากให้ตรงกับตัวรายงานครับผม

 ต่อไปผมจะแยกเป็นส่วน ๆ ตามตัวชี้วัดทั้ง 6 ด้าน ตามข้อมูลจากรายงาน

1. ด้านการสร้างคุณค่า (WERTSCHÖPFUNG)

ในปี 2035 เยอรมนีต้องอยู่ในตำแหน่งผู้ขับเคลื่อนที่ควบคุมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนเองอย่างเชิงรุก เยอรมนีกำหนดมาตรฐานสากล แต่ไม่ใช่ด้วยการครอบงำประเทศอื่น เยอรมนีจะดำเนินการผ่านการสร้างเสรีภาพทางนโยบาย ความร่วมมือกับพันธมิตรในยุโรปและนานาชาติ มีเป้าหมายที่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนา และกรอบการกำกับดูแลที่เชื่อถือได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างคุณค่าในประเทศเยอรมนี โดยกำหนดสิ่งที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

1) การเพิ่มงบประมาณการลงทุน (Investitionsausgaben)

1.1. งบประมาณการลงทุนจากรัฐบาลกลาง รัฐ และเทศบาล ต้องได้รับเพิ่มขึ้นและกำหนดไว้ที่ 3% ของ GDP อย่างถาวร

1.2. ใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเครือข่ายพลังงาน เพื่อให้เหมาะสมกับอนาคต

1.3. การลงทุนสุทธิในทุกระดับควรมีค่ามากกว่า 0

1.4. กรอบเงื่อนไขสำหรับการลงทุนของภาคเอกชนจะถูกออกแบบให้ช่วยสนับสนุนคุณภาพของพื้นที่ที่ตั้งธุรกิจ

2) การรับประกันเครือข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ 100% (Netzabdeckung)

2.1. รัฐจะรับประกันการครอบคลุมเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานล่าสุด ครอบคลุมพื้นที่ชนบท

3) การปรับปรุงกระบวนการราชการ (Bürokratische Abläufe)

3.1. การบริหารจัดการต้องมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

3.2. ลดขั้นตอนการดำเนินการให้รวดเร็วและง่ายดาย

3.3. สำหรับกระบวนการที่ซับซ้อน จะมีการกำหนดระยะเวลาพิจารณาสูงสุด หากเกินกำหนด คำขอจะถือว่าได้รับอนุมัติ

3.4. ข้อกำหนดด้านเอกสารจะได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ SMEs

4) การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยี (Technologieorientierte Unternehmen)

4.1. สนับสนุนการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคและมาตรฐานอื่น ๆ ผ่านข้อตกลงการค้าของสหภาพยุโรป (EU-Handelsabkommen)

4.2. เพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain

5) การแข่งขันด้านภาษี (Steuern)

5.1. เพื่อความน่าสนใจ เยอรมนีต้องปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีกำไร โดยเน้นการขยายฐานภาษีและลดอัตราภาษี

5.2. ภาษีทรัพย์สินจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

5.3. หลักการ คือ ขยายฐานภาษี แต่ลดอัตราภาษี

2. ด้านนวัตกรรม (INNOVATION) 

เยอรมนีกำลังเข้าสู่ยุคฟื้นฟูด้านนวัตกรรม ผลักดันให้ Created by German กลายเป็นตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพใหม่ ระดับนวัตกรรม ผลิตภาพ และความคิดสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีสูงมาก โครงสร้างอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรม 4.0 ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย ขณะเดียวกัน โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีหลักใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1) การสนับสนุนนวัตกรรมก้าวกระโดด (Sprunginnovationen)

1.1. สนับสนุนนวัตกรรมที่ก้าวล้ำอย่างเป็นระบบและระยะยาว

1.2. ใช้ห้องทดลองจริง (Reallabore) เพื่อทดลองกฎระเบียบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสถานการณ์จริง

1.3. ฐานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเคมีและเครื่องจักรกล จะถูกปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตลาดในอนาคต

2) การเพิ่มการลงทุนใน R&D

2.1. เพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ถึง 3.5% ของ GDP

2.2. เพิ่มสัดส่วนทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) และเงินทุนส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitalisierungsfördermittel) เป็นสองเท่า

2.3.    ใช้โมเดลกองทุน DACH เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนเอกชนและดึงดูดทุนระหว่างประเทศ

3) การผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitale Transformation)

3.1. สนับสนุนการใช้เงินกู้ปรับปรุงโครงสร้าง (KfW-Modernisierungskrediten)

3.2. พัฒนากฎหมายการแข่งขันเพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูล และส่งเสริมความโปร่งใสในกรอบการกำกับดูแลสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI)

3.3. ให้การสนับสนุนและคำแนะนำสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านดิจิทัล

4) การพัฒนาระบบ e-Government

4.1. สร้างระบบ e-Government ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้การดำเนินการทางราชการมีความรวดเร็วและสามารถใช้งานได้ในหลายภาษา

3. ความรู้และทักษะ (KNOW-HOW)

ในปี 2035 สังคมเยอรมนีมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันผ่านบทสนทนาที่สร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวา เยอรมนีจะมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากความคิดสร้างสรรค์ ความรู้เชิงลึก (Know-how) และความสามารถในการนำไปปฏิบัติถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา Know-Howการศึกษาที่ดีและการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาสังคมที่ยุติธรรมและเป็นธรรม พร้อมกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1) แผนอนาคตด้านการศึกษา (Zukunftsplan Bildung)

1.1. ครอบคลุมทุกมิติของการศึกษา ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพและขยายการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

1.2. สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถดำเนินการสอนแบบดิจิทัลได้

1.3. โรงเรียนประจำวัน (Ganztagsschulen) พร้อมแนวคิดการเรียนรู้ที่ทันสมัยจะกลายเป็นมาตรฐาน

2)      การพัฒนาทักษะภาษา (Sprachförderung)

2.1. เด็กทุกคนจะได้รับเชิญให้เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา 1.5 ปีก่อนการศึกษาอย่างเป็นทางการ

2.2. หากเด็กมีความต้องการพิเศษด้านภาษา จะมีการบังคับให้เข้ารับการสนับสนุนด้านภาษาก่อนเริ่มการศึกษา

3) การพัฒนาทักษะเศรษฐกิจและดิจิทัลในชีวิตประจำวัน

3.1. เพิ่มความรู้ด้านเศรษฐกิจและดิจิทัลในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับประถม

3.2. ทักษะเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมและเปิดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

4)      การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ (Gründerkultur)

4.1. มหาวิทยาลัย โรงเรียน และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Entrepreneurship-Zentren) จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาวัฒนธรรมผู้ประกอบการ

5) การสนับสนุนมหาวิทยาลัยด้วยเงินทุนพื้นฐาน

5.1. เพิ่มงบประมาณสำหรับการวิจัยพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมการวิจัยและการนำผลวิจัยไปใช้ในภาคปฏิบัติ

6)      การพัฒนาการศึกษาอาชีวะ (Berufsschulpakt)

6.1. สนับสนุนโรงเรียนอาชีวะผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐ และภาคธุรกิจ

6.2. การฝึกอบรมวิชาชีพจะไม่มีค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสเพิ่มเติมสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐาน

4.  ด้านสภาพภูมิอากาศ (KLIMA)

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของเยอรมนี (Energiewende) ได้กลายเป็นจุดเด่นเพื่อการส่งออกของเยอรมนีและเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านการใช้ทรัพยากร (Rohstoffwende) ทรัพยากรถูกใช้ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Kreislaufwirtschaft) อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน การยอมรับในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศขึ้นอยู่กับการจัดสรรภาระหน้าที่อย่างเป็นธรรม สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1) การกำหนดราคาคาร์บอน (CO-Bepreisung)

1.1. การกำหนดราคาคาร์บอนครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอน

1.2. เปลี่ยนระบบภาษีพลังงานให้ขึ้นอยู่กับฐานการปล่อยคาร์บอน (CO-Basis)

1.3. ระยะยาว ทุกภาคส่วนจะรวมอยู่ในระบบการค้าสิทธิการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป (EU-Emissionshandel)

2) การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบขนส่งสาธารณะ (ÖPNV)

2.1. สนับสนุนแนวคิดการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน

3) การลดภาษีไฟฟ้า (Stromsteuer)

3.1. ลดภาษีไฟฟ้าให้อยู่ในระดับขั้นต่ำของสหภาพยุโรป

3.2. การขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยลดต้นทุนพลังงาน

3.3. ระบบผลิตไฟฟ้าสำรอง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Gas/Kraft-Wärme-Kopplung) จะได้รับการสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่น

4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energie-Infrastruktur)

4.1. เพิ่มการจัดเก็บพลังงานเพื่อรักษาเสถียรภาพของเครือข่ายไฟฟ้า

4.2. โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจะถูกปรับให้รองรับการผลิตและการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5)      การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Kreislaufwirtschaft)

5.1. ทรัพยากรจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการกำหนดอัตราส่วนการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ชัดเจน

5.2. การจัดตั้งตลาดวัตถุดิบ (Rohstoff-Börse) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร

5.3. พัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อน เช่น เซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่

5. ด้านความปลอดภัยสาธารณะ (ÖFFENTLICHE SICHERHEIT)

ในโลกที่เปลี่ยนแปลง เยอรมนีและพันธมิตรได้เพิ่มความพยายามในการสร้างประเทศที่เสรีและปลอดภัย ความปลอดภัยแบบบูรณาการถือเป็นจุดแข็งสำคัญ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมทำให้เยอรมนีและยุโรปได้พัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้รับการปกป้องอย่างมีประสิทธิภาพและอิสระโดยบริการจากผู้ให้บริการในประเทศ ความเชื่อมั่นของสังคมในหน่วยงานความมั่นคงของรัฐอยู่ในระดับสูง หน่วยงานเหล่านี้รับประกันการบังคับใช้กฎระเบียบในพื้นที่สาธารณะ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1) การเสริมสร้างบทบาทของเยอรมนีในด้านสันติภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพ

1.1. โครงสร้างการป้องกันของยุโรปต้องได้รับการพัฒนาต่อไป และเยอรมนีจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีใน NATO

1.2. ความร่วมมือทางทหาร เช่น ระหว่างเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี จะถูกขยายเพื่อผสมผสานกองทัพของแต่ละประเทศในระยะยาว

1.3. จำเป็นต้องมี สถาปัตยกรรมความมั่นคงยุโรป (Europäische Sicherheitsarchitektur) ที่ประเทศสมาชิก EU มีส่วนร่วมในการปกป้องชายแดนและเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ

2) การพัฒนาระบบสหพันธรัฐอัจฉริยะ (Smarter Föderalismus)

2.1. ระบบที่ผสานหน่วยงานรัฐ เศรษฐกิจ และสังคมเข้าด้วยกัน โดยรวมเกณฑ์การเก็บข้อมูลของตำรวจให้เป็นหนึ่งเดียว

2.2. เพิ่มความเชี่ยวชาญในระดับรัฐ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน

3)      การรับรองคุณภาพผู้ให้บริการ IT ด้านความปลอดภัย

3.1. รัฐจะออกใบรับรองคุณภาพสำหรับผู้ให้บริการด้าน IT เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่น โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

4)      การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง

4.1. หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติจำเป็นต้องร่วมมือกัน 100% ผ่านระบบ Schengen 2.0 รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติและการใช้งานร่วมกันของระบบ IT

5) การจัดตั้งศูนย์ป้องกันภัยไซเบอร์แห่งยุโรป (Europäisches Cyberabwehr-Zentrum)

5.1. ศูนย์แห่งนี้จะรวมความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐ บริษัท และมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาโซลูชันด้าน IT สำหรับยุโรป


6. ความมั่นคงทางสังคม (SOZIALE SICHERHEIT)

การพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงบวกได้ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเต็มรูปแบบ (Vollbeschäftigung) ประเทศเยอรมนีมีแรงงานที่มีทักษะเพียงพอ และโปรแกรมการศึกษาและฝึกอบรมได้ช่วยสนับสนุนการรวมตัวของผู้ลี้ภัยอย่างประสบความสำเร็จ สังคมมีความสามัคคีสูง และระบบรัฐสวัสดิการได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเมืองและสังคม ระบบนี้ช่วยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีอิสระและพึ่งพาตนเองได้ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ

1)      นโยบายตลาดแรงงานที่เน้นการพัฒนาศักยภาพ

1.1. นโยบายนี้ตั้งอยู่บนหลักการว่า “ทุกคนที่ต้องการทำงานต้องมีความสามารถที่จะทำได้”

1.2. หน่วยงานแรงงานกลางจะถูกพัฒนาเป็น Bundesagentur für Arbeit und Qualifizierung โดยมีการติดตามแนวโน้มอุตสาหกรรม เพื่อให้การฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการในอนาคต

2)      การจัดตั้งระบบการเรียนรู้เพิ่มเติม

2.1. ระบบการเรียนรู้เพิ่มเติมจะเข้าถึงได้ง่าย โดยรวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับผู้ที่ทำงานแล้ว

2.2. มีการสร้าง สิทธิในการได้รับวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Recht auf einen beruflichen Erstabschluss)

3)      การเพิ่มความหลากหลายในหน่วยงานภาครัฐ

3.1.  สัดส่วนของพนักงานที่มีพื้นฐานการย้ายถิ่นฐาน (Migrationshintergrund) ในหน่วยงานรัฐและครูจะเพิ่มขึ้น

3.2. รัฐจะจัดให้มีผู้ช่วยในหน่วยงานที่สามารถพูดภาษาอื่นเพื่อลดอุปสรรคด้านภาษา

4)      สนับสนุนการดูแลเด็กสำหรับผู้ลี้ภัย

4.1. การดูแลเด็กที่ครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านภาษาได้

5)      การรวมตัวทางสังคมผ่านศูนย์ชุมชนแบบครบวงจร

5.1. โมเดลศูนย์ชุมชนที่รวมการดูแลเด็ก การเรียน การพักผ่อน และการบริการจากรัฐไว้ในที่เดียว

6)      การสนับสนุนการสร้างทรัพย์สินและการออม

6.1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรผ่านสิทธิพิเศษทางภาษี

7)      การปรับปรุงระบบบำนาญ

7.1. ระบบบำนาญจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างระบบที่ยุติธรรมและส่งเสริมการทำงานต่อเนื่องในระยะยาว

8)      การสนับสนุนแรงงานอิสระ

8.1. ระบบความมั่นคงขั้นต่ำ (Soziale Mindestabsicherung) สำหรับแรงงานอิสระในธุรกิจขนาดเล็กจะถูกจัดตั้งขึ้น

8.2. การเปลี่ยนผ่านระหว่างงานประจำและการเป็นแรงงานอิสระจะง่ายขึ้น


จากข้อมูลทั้งหมด ผมลองวิเคราะห์เป็น SWOT Analysis แบบพื้นฐานออกมาดังนี้

SWOT Analysis นโยบายนวัตกรรมของเยอรมนีในปี 2035

SWOT Analysis นโยบายนวัตกรรมของเยอรมนีในปี 2035

ปัจจัย จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses)
ภายใน (Internal)
  • โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่แข็งแกร่ง
  • การลงทุนใน R&D ที่สูง (3.5% ของ GDP)
  • ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน (Energiewende)
  • ระบบดิจิทัลในบางภาคส่วนยังล้าหลัง เช่น ภาคธุรกิจขนาดเล็กและราชการ
  • ความล่าช้าในการนำผลการวิจัยไปใช้จริง
ศักยภาพด้านนวัตกรรม
  • สนับสนุนการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และเทคโนโลยีหลัก
  • วัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง
  • ขาดการกระจายตัวของนวัตกรรมในบางภูมิภาค
  • SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงทุนร่วมลงทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล
นโยบายและการบริหาร
  • นโยบายที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและความมั่นคงทางสังคม
  • ระบบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ
  • ระบบราชการยังคงมีความซับซ้อน
  • การพึ่งพาภาษีและการลงทุนภายนอกเพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ
ปัจจัย โอกาส (Opportunities) ภัยคุกคาม (Threats)
ภายนอก (External)
  • โอกาสในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในตลาดโลก
  • การขยายความร่วมมือในระดับสหภาพยุโรปและต่างประเทศ
  • การแข่งขันจากประเทศที่มีการพัฒนาด้านดิจิทัลสูง เช่น จีนและสหรัฐฯ
สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
  • โอกาสในการส่งออกเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน
  • การสนับสนุนจากนานาชาติในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ
  • ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมในระดับสากล
ความมั่นคงและการปกป้อง
  • การพัฒนาความร่วมมือด้านไซเบอร์ในยุโรป
  • การสร้างระบบความปลอดภัยภายในที่เข้มแข็ง
  • ภัยคุกคามทางไซเบอร์จากต่างประเทศ
  • ความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคยุโรปและทั่วโลก

หากสรุปเป็นประเด็นสำคัญสั้น ๆ จากฉากทัศน์ DAS SZENARIO 2035 ทั้ง 6 ด้าน เป็นนโยบายนวัตกรรมของเยอรมนีมุ่งเน้นการบูรณาการทรัพยากรและการวางยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการจัดการ คือ

1.   การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการเพิ่มงบประมาณการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เครือข่ายพลังงาน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม

2.   การสนับสนุนนวัตกรรมเชิงลึก ขับเคลื่อนนวัตกรรมก้าวกระโดด (Sprunginnovationen) ผ่านการลงทุนใน R&D การพัฒนาห้องทดลองจริง (Reallabore) และการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ด้วยทุนร่วมลงทุน (Venture Capital)

3.   การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

4.   การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดภาษีไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด

5.   การเสริมสร้างความปลอดภัย พัฒนาระบบความปลอดภัยไซเบอร์และสร้างความร่วมมือระดับยุโรปในการจัดการความมั่นคงร่วม และ

6.   การสร้างความมั่นคงทางสังคม ส่งเสริมการรวมตัวทางสังคม สนับสนุนการดูแลเด็ก และปรับปรุงระบบบำนาญเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียม

ส่วนตัวมีมุมมองว่า ณ ปัจจุบัน เยอรมนีมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้มแข็งและทันสมัยในระดับห้องปฏิบัติการและสามารถทดลองใช้ได้จริง แต่ไม่นำออกมาใช้งานทั่วไป เยอรมันเป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงช้า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดเพราะอยู่พื้นฐานของหลักประชาธิปไตยที่ต้องถกเถียง สอบถาม และหาฉันทามติให้ได้ก่อนการบังคับหรือนำไปปฏิบัติ เยอรมนีเป็นสังคมที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีทันสมัยหรือที่พัฒนาอย่างรวดเร็วมากกว่าความปลอดภัยของสังคมและส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องแลกเปลี่ยนกับการพัฒนานวัตกรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เยอรมนีพร้อมและผมคิดว่าเป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่สุด คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและกล้าถกแถลงหาทางออกไม่ให้เกิดความรุนแรงและเป็นการหาทางออกร่วมกันอย่างสันติภาพ

นอกจากนี้ นโยบายฉกทัศน์ 2035 หรืออีก 10 ปีหลังจากนี้ ผมมองว่าเป็นการพัฒนาที่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นจริงแล้ว ณ ปัจจุบัน เมื่อเทียบกับจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ หรือบางเรื่องของประเทศไทยก็ทำได้ดีกว่าเยอรมนีแล้ว

อย่างไรก็ตาม นโยบายสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามเหตุและปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่โลกคาดเดาได้ยากขึ้นทุกวัน

 หวังว่าจะเป็นประโยชน์ครับ

ณัฐพล จารัตน์

เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ข้อมูลทั้งหมดนำมาจากเว็บไซต์มูลนิธิ Friedrich-Ebert-Stiftung เป็นรายงานที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2019 และปรับปรุง 23 พ.ย. 2022 เข้าถึงเว็บไซต์จาก https://www.fes.de/managerkreis/created-by-germany