ส่วนที่ ๓
ความขัดแย้งในผลประโยชน์
ข้อ ๘ ไม่ว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยจะดำเนินไปแล้วเพียงใด
ผู้ประนีประนอมจักต้องเปิดเผยความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว
หรือที่อาจเกิดขึ้นตามที่ตนทราบทั้งหมด ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล
องค์คณะผู้พิพากษา และคู่ความทราบ
ความขัดแย้งในผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึง
(๑) การกระทำหรือความสัมพันธ์ที่อาจก่อให้ผู้ประนีประนอมเกิดอคติ
(๒) การที่ผู้ประนีประนอมมีผลประโยชน์ไม่ว่าโดยตรงหรือ
โดยอ้อมในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อพิพาทซึ่งตนดำเนินการไกล่เกลี่ย
(๓) การที่ผู้ประนีประนอมมีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางการเงิน
ธุรกิจ วิชาชีพ ครอบครัว หรือทางสังคม กับคู่ความฝ่ายใด
ฝ่ายหนึ่ง
คำอธิบาย
กรณีที่ผลประโยชน์ซึ่งผู้ประนีประนอมมีอยู่เป็นการส่วนตัว อาจขัดแย้ง
กับผลประโยชน์ของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ทำให้ผู้ประนี
ประนอมเกิดอคติในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่คู่ความ และทำให้คู่ความ
เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อศาลยุติธรรมไปด้วย ดังนั้น หากผู้ประนีประนอมมี
ความขัดแย้งในผลประโยชน์ใด ๆ ที่อาจทำให้ผู้ประนีประนอมเกิดอคติมี
ผลประโยชน์ได้เสียไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีความสัมพันธ์
ทางการเงิน ธุรกิจ วิชาชีพ ครอบครัว หรือทางสังคมกับคู่ความมาก่อน เช่น
เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษาบริษัทของคู่ความ หรือเป็นลูกหนี้เงินกู้ของ
คู่ความ ผู้ประนีประนอมจักต้องเปิดเผยความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
หรืออาจเกิดขึ้นดังกล่าว ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล องค์คณะผู้พิพากษา และ
คู่ความทราบ ทั้งนี้ เพื่อคู่ความจะได้มีโอกาสคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่และ
กันข้อครหาที่อาจเกิดขึ้น แต่หากคู่ความทราบข้อมูลดังกล่าวแล้วไม่ติดใจ
คัดค้าน ผู้ประนีประนอมย่อมสามารถทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยต่อไปได้
ข้อ ๙ ผู้ประนีประนอมไม่พึงรับทำการงานใด ๆ ให้แก่คู่ความฝ่ายใด
ฝ่ายหนึ่งที่ตนไกล่เกลี่ย ไม่ว่าการไกล่เกลี่ยนั้นจะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่
เว้นแต่คู่ความทุกฝ่ายจะให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ผู้ประนีประนอมทำการงานใด ๆ
ในระหว่างที่กระบวนการไกล่เกลี่ยยังไม่สิ้นสุด ผู้ประนีประนอมจักต้อง
เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล องค์คณะผู้พิพากษา
และคู่ความทราบ
คำอธิบาย
การรับทำการงานให้แก่คู่ความเป็นอีกกรณีหนึ่งที่อาจทำให้คู่ความ
อีกฝ่ายหรือบุคคลภายนอกระแวงสงสัยในความสุจริตและความเป็นกลางของ
ผู้ประนีประนอม ไม่ว่าการงานที่รับทำนั้นจะเป็นอาชีพที่ผู้ประนีประนอมทำ
เป็นปกติอยู่แล้ว หรือเป็นการรับทำการงานภายหลังการไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง
หรือไม่ก็ตาม เนื่องจากคู่ความหรือบุคคลภายนอกอาจเข้าใจว่าเป็นผล
ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ประนีประนอม อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ให้
เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ผู้ประนีประนอมจึงไม่
ควรรับทำการงานใด ๆ ให้แก่คู่ความ เว้นแต่คู่ความทุกฝ่ายจะให้ความยินยอม
เป็นลายลักษณ์อักษร และหากคู่ความให้ผู้ประนีประนอมทำการงานใด ๆ
ในระหว่างที่กระบวนการไกล่เกลี่ยยังไม่สิ้นสุด ผู้ประนีประนอมจะต้องเปิดเผย
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล องค์คณะผู้พิพากษา และ
คู่ความทราบ เพื่อให้มีการคัดค้าน หรือยืนยันการทำหน้าที่ หรือถอนตัวจาก
การเป็นผู้ประนีประนอม
ที่มา https://oja.coj.go.th/th/file/get/file/20180925e5f0a22d198117cfd0dff6676df50240202651.pdf