Search This Blog

Saturday, March 9, 2024

Stolperstein: หมุดศิลปะบนฟุตบาทเพื่อสร้างวัฒนธรรมการระลึกถึงของคนเยอรมัน


สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินบนฟุตบาทในกรุงเบอร์ลิน เราจะพบเห็นหมุดแผ่นทองเหลืองที่สลักตัวอักษรฝังในระนาบเดียวกับพื้นทางเดินเท้า ผู้คนเดินไปมาอาจหยุดมองอย่างสนใจหรืออาจเดินเหยียบย่ำโดยไม่แยแส หมุดถูกฝังอยู่ในฟุตบาททางเดินเท้าหน้าตึก อาคาร หรือบ้านพักอาศัย บางจุดพบเพียงหมุดเดียวหรือบางจุดพบจำนวนมากเรียงรายติดกัน ในภาษาเยอรมันเรียกสิ่งนี้ว่า “Stolperstein” (ชโตลเปอร์ชไตน) หมายถึง “หินที่ทำให้เดินลำบาก” หรือในความหมายทางอุปมา หมายถึง “อุปสรรคในการเดิน” ถือเป็นงานศิลปะเพื่อระลึกถึงชีวิตของชาวยิว ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นรักร่วมเพศ ผู้พิการ คนผิวสี ชาวโรมานีหรือยิปซี และคนประเภทอื่น ๆรวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกเนรเทศ ถูกฆ่า หรือถูกกระตุ้นให้ฆ่าตัวตายโดยพรรคนาซีนาซีเยอรมันระหว่างปี 1941 – 1945 จำนวนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของโลก

ต่อมาเมื่อปี 1992 ศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Gunter Demnig ริเริ่มโครงการศิลปะตั้งชื่อว่า Stolperstein โดยตั้งใจว่าอยากให้ผู้คนระลึกถึงความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการสงคราม และต้องไม่การให้ผู้ที่ถูกฆ่าตายกลายเป็นบุคคลนิรนามและถูกลืมเลือนด้วยกาลเวลา เขาออกแบบและทำบล็อกหินขนาด 10 ซม. x 10 ซม. ทำจากคอนกรีต บนหน้าด้านหนึ่งติดแผ่นทองเหลืองสลักชื่อและวันเดือนปีเกิดและวันเดือนปีที่เสียชีวิตของเหยื่อแต่ละราย และมีข้อความว่าคนผู้นี้เคยอาศัยหรือทำงานอยู่ที่นี่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถูกจับตัวและเสียชีวิต

ญาติหรือเพื่อนที่รู้จักผู้เสียชีวิตหากต้องการระลึกถึงผู้เสียชีวิตจะส่งหลักฐานและประวัติให้โครงการตรวจสอบเพื่อทำประวัติ เมื่อได้ข้อมูลสมบูรณ์จะขึ้นทะเบียนประวัติในฐานข้อมูล และจะผลิตหมุดหินและแผ่นทองเหลืองด้วยมือ ปัจจุบันมีหมุด Stolperstein มากถึง 1 แสนหมุด ไม่ใช่เพียงในเบอร์ลิน แต่กระจายทั่วทวีปยุโรป จึงนับได้ว่าเป็นผลงานศิลปะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วยครับ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://en.wikipedia.org/wiki/Gunter_Demnig)




เยอรมนีใช้ความโหดร้ายของสงครามผลิตเป็นวัฒนธรรมการระลึกถึงความโหดร้ายและน่ากลัวต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านงานศิลปะและการศึกษา เช่น โรงเรียนอาจสั่งให้นักเรียนทำรายงานประวัติบุคคลจาก Stolperstein ที่ฝังใกล้เคียงที่พักหรือเขตใกล้โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังจัดทำฐานข้อมูลออกไลน์ผ่านเว็บ https://www.stolpersteine-berlin.de/ ที่สามารถค้นชื่อที่ระบบบนหมุด Stolperstein สามารถระบุพิกัดที่ฝังหมุดหินและประวัติบุคคลให้ค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย
เมื่อกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมเยอรมันไปแล้ว การทำสิ่งใดที่ขัดต่อวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงท่านผู้นำ การยกมือทำสัญลักษณ์เคารพท่านผู้นำ หรือการแสดงความไม่เข้าใจถึงความโหดร้ายของสงครามอาจนำมาสู้ความขัดแย้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ช่วงแรกที่ผมมาเบอร์ลิน เดินไปซื้อของมักเดินผ่านเจ้าแผ่น Stolperstein หลายจุด แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เคยก้มลงอ่าน หลายทีก็เดินเหยียบโดยไม่รู้ตัว พอสักระยะเริ่มหาข้อมูลและทำความเข้าใจ เมื่อเดินผ่านจึงไม่กล้าเหยียบย่ำต่อไปอีก ผมเคยเห็นบางท่านที่เป็นผู้สูงอายุมักจะยืนสงบนิ่งสักครู่ บางทีมีวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก ซึ่งเดาว่าในอดีตท่านคงมีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่เสียชีวิต ในโพสนี้เป็นภาพของเหล่าหมุดที่ฝังละแวกบ้านครับ


ณัฐพล จารัตน์
กรุงเบอร์ลิน
08.03.2567
อุณหภูมิ 2 องศา

Sunday, March 3, 2024

อนุรักษ์สถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน เช่น บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme

บ้านด้านหลังของผมนี้ เรียกว่า
Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme หรือบ้านเลขที่ 30 ถนนนีดสตราสเซอร์ ของ ยอร์ท เมห์เมอ สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1882

เมื่อวันก่อนไปทานดินเนอร์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่สุรินทร์ เป็นร้านอาหารไทยไม่ไกลจากบ้านมากนัก ได้ที่จอดรถรินถนนหน้าบ้านหลังนี้ เห็นว่าสวยดีจึงให้น้องสาวช่วยถ่ายภาพให้
พอกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความรู้ว่า บ้าน ตึกหรืออาคารจำนวนมากในกรุงเบอร์ลินเป็นสถาปัตยกรรมที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์ ได้รับการดูแลโดย Landesdenkmalamt หรือสำนักงานทรัพย์สินและสถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน มีหน้าที่ที่สำคัญในการปกป้องและรักษาบ้าน ตึกหรืออาคาร รวมถึงสิ่งก่อนสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับกรุงเบอร์ลิน ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญ นำข้อมูลเก็บรักษาในรูปแบบสามารถเข้าถึงได้ ประกอบด้วยข้อมูลแบบข้อความและรูปภาพ ซึ่งอาคารต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสร้างและออกแบบโดยนักสถาปัตย์ที่มีเชื่อเสียงและมีผลงานการออกแบบสิ่งสำคัญในกรุงเบอร์ลิน


บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme เลขทะเบียน 09066259 ตั้งอยู่ในเขต Tempelhof-Schöneberg เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทบ้านอยู่อาศัยแนวชนบทเก่าของเบอร์ลิน สร้างเมื่อปี 1882 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 อายุราว 142 ปี ลักษณะเป็นบ้านในชนบทชั้นเดียวบนและมีชั้นใต้ดินสูง มีหลังคาหลังคาสูงทรงเหลี่ยมลูกบาศก์ ปูด้วยหินชนวนพร้อมหลังคามุงด้วยอิฐ ทางเข้าบ้านเป็นบันไดอยู่ฝั่งถนน ติดกับระเบียงไม้เล็ก ๆ มีระเบียงกระจก ผนังเป็นอาคารอิฐแดง ซึ่งปัจจุบันใช้เบ้านหลังนี้แจ้งว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า (ศึกษาข้อมูลประกอบจาก https://denkmaldatenbank.berlin.de/daobj.php...)
ทั้งหมดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า อาคารต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อชะลอโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพให้สิ้นเชิง แม้ว่าจะเป็นโบราณต้องอนุรักษ์ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ ดังนั้น อาคารเหล่านี้จะยังคงอยู่อีกนานโดยจะถูกเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ถ้าอีก 20 ข้างหน้ากลับมายืนถ่ายรูปที่หน้าบ้านหลังนี้อีก เดาได้ว่าสภาพจะคงเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่มีความผูกพันกับอดีตให้การสนับสนุนที่จะดูแลสิ่งก่อสร้างสำคัญเหล่านี้ ในอีกด้านหนึ่งคนรุ่นปัจจุบันมองคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ต่างออกไป เนื่องจากการอนุรักษ์ต้องอาศัยงบประมาณจากภาษีและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง

ณัฐพล จารัตน์
03.03.2567
เขตสเตกลิทซ์ กรุงเบอร์ลิน
อากาศเริ่มอุ่นวันแรก อุณหภูมิ 6 องศาตั้งแต่เช้า

Wednesday, February 28, 2024

ถึงเบอร์ลินทั้งทีต้องมีภาพคู่กับ "หมีเบอร์ลิน" (BERLIN BEAR)


เบอร์ลิน เรียกได้ว่าเป็น นครแห่งหมี (Berlin, the City of Bear) เมื่อมาถึงเบอร์ลินใหม่ ๆ ไปเดินเล่นที่ไหนจะพบเห็นตุ๊กตาหมีตัวใหญ่เท่าคน ทำท่าทางยืนด้วยสองขาหลัง ส่วนขาหน้าทั้งสองยกชี้ฟ้าประดุจการชูแขนของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั้งภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ยังมีตุ๊กตาพี่หมียืนเด่นเป็นสง่า แขนทั้งสองไม่ได้ยก แต่เปลี่ยนอิริยาบทในท่ายกมือไหว้แบบคนไทย (ดูภาพจากลิ้งก์ https://www.buddy-baer.com/en/ และ https://www.facebook.com/RTEBerlin/photos/a.435706946557416/1337053849756050/?type=3 )

มีหลายเรื่องเล่ากล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองเบอร์ลิน (Berlin) ผมขอยกมาเล่าให้ฟัง 3 เรื่อง ซึ่งจริงแท้เพียงไรไม่การันตีครับ

เรื่องแรก เขาเล่าว่า เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองเบอร์ลินชื่อ Albrecht der Bär หรือ Albrecht I., Margrave of Brandenburg (แปลว่า "เจ้าชายอัลเบรชต์ผู้มีหนวดเคราเหมือนหมี") เนื่องได้ต่อสู้กับหมีตัวใหญ่ในป่า มีชัยชนะเหนือหมี จึงนำรูปหมีมาเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและพลัง และนำคำว่า Bär เป็นนามสกุลของตน ซึ่งคำว่า Bär เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า หมี หรือ Bear  (ข้อมูลประกอบ https://en.wikipedia.org/wiki/Albert_the_Bear)

เรื่องที่สอง เขาเล่าว่า สมัยโบราณเจ้าผู้ครองนครรัฐต่าง ๆ มักจะนำรูปสัตว์เป็นประจำตระกูล เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของตนเอง ในบริเวณเบอร์ลินปกครองด้วยตระกูลอาคาเนียน (Ascanian) ปกครองเบอร์ลินในศตวรรษที่ 13 ใช้รูปหมีเป็นตราประจำตระกูล ซึ่งบริเวณนี้เคยหมีสีน้ำตาลอาศัยอยู่ในป่ารอบเมืองเบอร์ลิน (ข้อมูลประกอบ https://wappenwiki.org/index.php/House_of_Ascania)

เรื่องที่สาม เขาเล่าในเชิงภาษาศาสตร์โดยสันนิษฐานว่า Berlin มารากมาจากคำว่า Bär ในภาษาเยอรมัน แปลว่า หมี อาจด้วยความบังเอิญหรือใช้หลักการลากเข้าความหรือเป็นการเล่าเรื่องก็ไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามครับ นักภาษาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนว่า Berlin เป็นคำในภาษาสลาวิคเก่า (Old Slavic language) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในแถบโปแลนด์ ยูเครน รัสเซีย เยอรมนี ฮังการี ปัจจุบันไม่มีภาษานี้แล้ว โดยเพี้ยนมาจากคำว่า berl หรือ birl มีความหมายว่า หนองน้ำ ที่ลุ่มน้ำขัง ใช้เรียกบริเวณเมืองเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชแปร (Spree) สมัยโบราณมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง (ข้อมูลประกอบ https://berlinhistoricalwalks.com/theorigins-of-berlins-name)

ไม่ว่าพี่หมีจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อเมืองเบอร์ลิน ปัจจุบัน สัญลักษณ์หมีปรากฏในตราสัญลักษณ์และธงประจำเมืองเบอร์ลินมาหลายศตวรรษ  ธงปัจจุบันของเมืองเบอร์ลินได้รับการออกแบบในปี 1936 ธงมีพื้นสีขาว มีรูปหมีสีดำยืนอยู่บนขาหลัง  หมีมีกรงเล็บสีแดง  ลิ้นสีแดงและโล่สีแดงที่มีอักษรสีขาว "Berlin" (ข้อมูลประกอบ https://en.wikipedia.org/wiki/Flag_of_Berlin

พลังของหมีเบอร์ลินเป็นตัวแทนหรือมาสคอทของมหานครแห่งนี้ ที่แขกไปใครมาต้องมีภาพคู่กับพี่หมีเบอร์ลิน



ณัฐพล จารัตน์
28.02.2567
กรุงเบอร์ลิน