บทความวิชาการนี้ ผมตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ความคิดสันติภาพกับพระพุทธศาสนาจากมุมมองของบิดาแห่งสันติภาพสากล โยฮัน กัลตุง ที่ท่านแสดงไว้ในบทความของท่านชื่อ Peace and Buddhism
ช่วงที่ผมเรียนปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย หรือ มหาจุฬา ผมเคยติดต่อท่านสอบถามเกี่ยวกับสมการสันติภาพ ท่านกรุณาตอบและ retweet ทุกครั้ง ตอนนี้ท่านจากไปแล้วแต่ยังฝากผลงานและแนวคิดทรงอิทธิพลต่อวงการวิชาการสันติศึกษาและความขัดแย้งไว้มากมาย
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ของผมเทียบกับท่านได้เพียงเศษเสี้ยวเล็ก ผมเพียงหวังว่าจะเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าที่ยิ่งใหญ่ของนักศึกษาและผู้สนใจทางวิชาการครับ
สังกัดที่ผมใช้ในบทความนี้ คือ ผู้ไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 กระทรวงยุติธรรม (ทะเบียนเลขที่ 724/2565) เป็นผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นทะเบียนกับกรมคุ้มครองสิทธิ์ครับ
ท่านอ่านบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และเข้าไปดาวน์โหลดฉบับเต็มจากลิ้งก์ด้านล่างได้ครับ
ณัฐพล จารัตน์
เบอร์ลิน
07.03.2568
บทคัดย่อ
บทความนี้วิเคราะห์บทบาทของพุทธศาสนาในการสร้างสันติภาพผ่านกรอบแนวคิดของโยฮัน กัลตุง โดยเปรียบเทียบแนวคิดของพุทธศาสนาและกัลตุง พุทธศาสนาเน้นสันติภาพภายในผ่านการลดกิเลสและพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นรากฐานของสันติภาพภายนอก ขณะที่กัลตุงเสนอแนวคิดสันติภาพเชิงบวกโดยการลดความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และสำรวจความเป็นไปได้ในการบูรณาการแนวคิดทั้งสองเพื่อพัฒนาสันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรม
โดยพบว่าพุทธศาสนามีข้อจำกัดในบริบทสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อน ขณะที่แนวคิดของกัลตุงช่วยเสริมให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมิติทางจิตวิญญาณและสังคม นอกจากนี้ บทความนี้ได้พิจารณาถึงศักยภาพของพุทธศาสนาในการเป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งและลดความรุนแรง พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดแข็งและข้อจำกัดของการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าว การผสมผสานแนวคิดของกัลตุงและพุทธศาสนานำไปสู่กรอบวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับการสร้างสันติภาพในสังคมที่หลากหลาย ทั้งยังสามารถนำไปใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในระดับประเทศและสากล