Search This Blog

Sunday, March 3, 2024

อนุรักษ์สถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน เช่น บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme

บ้านด้านหลังของผมนี้ เรียกว่า
Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme หรือบ้านเลขที่ 30 ถนนนีดสตราสเซอร์ ของ ยอร์ท เมห์เมอ สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1882

เมื่อวันก่อนไปทานดินเนอร์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่สุรินทร์ เป็นร้านอาหารไทยไม่ไกลจากบ้านมากนัก ได้ที่จอดรถรินถนนหน้าบ้านหลังนี้ เห็นว่าสวยดีจึงให้น้องสาวช่วยถ่ายภาพให้
พอกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความรู้ว่า บ้าน ตึกหรืออาคารจำนวนมากในกรุงเบอร์ลินเป็นสถาปัตยกรรมที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์ ได้รับการดูแลโดย Landesdenkmalamt หรือสำนักงานทรัพย์สินและสถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน มีหน้าที่ที่สำคัญในการปกป้องและรักษาบ้าน ตึกหรืออาคาร รวมถึงสิ่งก่อนสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับกรุงเบอร์ลิน ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญ นำข้อมูลเก็บรักษาในรูปแบบสามารถเข้าถึงได้ ประกอบด้วยข้อมูลแบบข้อความและรูปภาพ ซึ่งอาคารต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสร้างและออกแบบโดยนักสถาปัตย์ที่มีเชื่อเสียงและมีผลงานการออกแบบสิ่งสำคัญในกรุงเบอร์ลิน


บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme เลขทะเบียน 09066259 ตั้งอยู่ในเขต Tempelhof-Schöneberg เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทบ้านอยู่อาศัยแนวชนบทเก่าของเบอร์ลิน สร้างเมื่อปี 1882 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 อายุราว 142 ปี ลักษณะเป็นบ้านในชนบทชั้นเดียวบนและมีชั้นใต้ดินสูง มีหลังคาหลังคาสูงทรงเหลี่ยมลูกบาศก์ ปูด้วยหินชนวนพร้อมหลังคามุงด้วยอิฐ ทางเข้าบ้านเป็นบันไดอยู่ฝั่งถนน ติดกับระเบียงไม้เล็ก ๆ มีระเบียงกระจก ผนังเป็นอาคารอิฐแดง ซึ่งปัจจุบันใช้เบ้านหลังนี้แจ้งว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า (ศึกษาข้อมูลประกอบจาก https://denkmaldatenbank.berlin.de/daobj.php...)
ทั้งหมดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า อาคารต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อชะลอโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพให้สิ้นเชิง แม้ว่าจะเป็นโบราณต้องอนุรักษ์ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ ดังนั้น อาคารเหล่านี้จะยังคงอยู่อีกนานโดยจะถูกเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ถ้าอีก 20 ข้างหน้ากลับมายืนถ่ายรูปที่หน้าบ้านหลังนี้อีก เดาได้ว่าสภาพจะคงเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่มีความผูกพันกับอดีตให้การสนับสนุนที่จะดูแลสิ่งก่อสร้างสำคัญเหล่านี้ ในอีกด้านหนึ่งคนรุ่นปัจจุบันมองคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ต่างออกไป เนื่องจากการอนุรักษ์ต้องอาศัยงบประมาณจากภาษีและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง

ณัฐพล จารัตน์
03.03.2567
เขตสเตกลิทซ์ กรุงเบอร์ลิน
อากาศเริ่มอุ่นวันแรก อุณหภูมิ 6 องศาตั้งแต่เช้า

Wednesday, February 28, 2024

ถึงเบอร์ลินทั้งทีต้องมีภาพคู่กับ "หมีเบอร์ลิน" (BERLIN BEAR)


เบอร์ลิน เรียกได้ว่าเป็น นครแห่งหมี (Berlin, the City of Bear) เมื่อมาถึงเบอร์ลินใหม่ ๆ ไปเดินเล่นที่ไหนจะพบเห็นตุ๊กตาหมีตัวใหญ่เท่าคน ทำท่าทางยืนด้วยสองขาหลัง ส่วนขาหน้าทั้งสองยกชี้ฟ้าประดุจการชูแขนของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น แม้กระทั้งภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน ยังมีตุ๊กตาพี่หมียืนเด่นเป็นสง่า แขนทั้งสองไม่ได้ยก แต่เปลี่ยนอิริยาบทในท่ายกมือไหว้แบบคนไทย (ดูภาพจากลิ้งก์ https://www.buddy-baer.com/en/ และ https://www.facebook.com/RTEBerlin/photos/a.435706946557416/1337053849756050/?type=3 )

มีหลายเรื่องเล่ากล่าวถึงที่มาของชื่อเมืองเบอร์ลิน (Berlin) ผมขอยกมาเล่าให้ฟัง 3 เรื่อง ซึ่งจริงแท้เพียงไรไม่การันตีครับ

เรื่องแรก เขาเล่าว่า เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองเบอร์ลินชื่อ Albrecht der Bär หรือ Albrecht I., Margrave of Brandenburg (แปลว่า "เจ้าชายอัลเบรชต์ผู้มีหนวดเคราเหมือนหมี") เนื่องได้ต่อสู้กับหมีตัวใหญ่ในป่า มีชัยชนะเหนือหมี จึงนำรูปหมีมาเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและพลัง และนำคำว่า Bär เป็นนามสกุลของตน ซึ่งคำว่า Bär เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า หมี หรือ Bear  (ข้อมูลประกอบ https://en.wikipedia.org/wiki/Albert_the_Bear)

เรื่องที่สอง เขาเล่าว่า สมัยโบราณเจ้าผู้ครองนครรัฐต่าง ๆ มักจะนำรูปสัตว์เป็นประจำตระกูล เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของตนเอง ในบริเวณเบอร์ลินปกครองด้วยตระกูลอาคาเนียน (Ascanian) ปกครองเบอร์ลินในศตวรรษที่ 13 ใช้รูปหมีเป็นตราประจำตระกูล ซึ่งบริเวณนี้เคยหมีสีน้ำตาลอาศัยอยู่ในป่ารอบเมืองเบอร์ลิน (ข้อมูลประกอบ https://wappenwiki.org/index.php/House_of_Ascania)

เรื่องที่สาม เขาเล่าในเชิงภาษาศาสตร์โดยสันนิษฐานว่า Berlin มารากมาจากคำว่า Bär ในภาษาเยอรมัน แปลว่า หมี อาจด้วยความบังเอิญหรือใช้หลักการลากเข้าความหรือเป็นการเล่าเรื่องก็ไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามครับ นักภาษาศาสตร์มีข้อสันนิษฐานที่ชัดเจนว่า Berlin เป็นคำในภาษาสลาวิคเก่า (Old Slavic language) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในแถบโปแลนด์ ยูเครน รัสเซีย เยอรมนี ฮังการี ปัจจุบันไม่มีภาษานี้แล้ว โดยเพี้ยนมาจากคำว่า berl หรือ birl มีความหมายว่า หนองน้ำ ที่ลุ่มน้ำขัง ใช้เรียกบริเวณเมืองเบอร์ลิน ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชแปร (Spree) สมัยโบราณมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง (ข้อมูลประกอบ https://berlinhistoricalwalks.com/theorigins-of-berlins-name)

ไม่ว่าพี่หมีจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อเมืองเบอร์ลิน ปัจจุบัน สัญลักษณ์หมีปรากฏในตราสัญลักษณ์และธงประจำเมืองเบอร์ลินมาหลายศตวรรษ  ธงปัจจุบันของเมืองเบอร์ลินได้รับการออกแบบในปี 1936 ธงมีพื้นสีขาว มีรูปหมีสีดำยืนอยู่บนขาหลัง  หมีมีกรงเล็บสีแดง  ลิ้นสีแดงและโล่สีแดงที่มีอักษรสีขาว "Berlin" (ข้อมูลประกอบ https://en.wikipedia.org/wiki/Flag_of_Berlin

พลังของหมีเบอร์ลินเป็นตัวแทนหรือมาสคอทของมหานครแห่งนี้ ที่แขกไปใครมาต้องมีภาพคู่กับพี่หมีเบอร์ลิน



ณัฐพล จารัตน์
28.02.2567
กรุงเบอร์ลิน



Tuesday, February 27, 2024

เดินถ่ายภาพที่ "ประตูบรันเดนบูร์ก" สัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความเจริญรุ่งเรืองของเยอรมนี

 


มาอยู่เบอร์ลินจะเกือยปีแล้ว ยังไม่เคยเขียนเกี่ยวกับ "ประตูบรันเดินบูร์ก" (Brandenburg Gate) สักที เมื่อวานมาเดินแถวนี้พอดี ถือโอกาสเล่าถึงสถานที่แห่งนี้คร่าว ๆ ครับผม

"ประตูบรันเดินบูร์ก" (Brandenburg Gate) ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ การรวมชาติ สันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวของเยอรมนี

ประตูบรันเดินบวร์กเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 1788 และเสร็จสิ้นปี 1791 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1) สร้างโดยกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย เป็นการจำลองประตูชัยในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ประตูแห่งนี้เคยเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของปรัสเซีย และจักรวรรดิเยอรมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต่อมาประตูบรันเดินบวร์คก็ได้รับการบูรณะจนเสร็จสิ้นดังในปัจจุบัน (ลิ้งก์ภาพประกอบ https://www.deutsche-digitale-bibliothek.de/item/V5SET6LSCSZUZRIDH5I5DAUJWTKB2SGD)

ประตูบรันเดินบวร์กเป็นสถานที่จัดงานสำคัญ ๆ ของเยอรมนี เช่น งานฉลองวันชาติเยอรมัน และงานเฉลิมฉลองปีใหม่ ยังปรากฏในภาพยนตร์ ละคร และงานศิลปะมากมาย



ประตูบรันเดินบวร์กตั้งอยู่บนถนนอุนเทอร์ เดน ลินเดน (Unter den Linden) ซึ่งเคยเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกด้วยกำแพงเบอร์ลิน ต่อมาการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 (พ.ศ.2532) ทำให้ประตูบรันเดินบวร์กกลายเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและเสรีภาพ ยังเป็นสถานที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการแบ่งแยกเยอรมนี

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่ม The Last Generation นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศได้พ่นสีส้มและเหลืองบนเสาประตูบรันเดนบูร์ก แสดงการต่อต้านรัฐบาลเชิงสัญลักษณ์ เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2023 (พ.ศ. 2573) ผลของการกระทำดังกล่าวกลับได้รับเสียงประณามและมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ครับ (ลิ้งก์ข่าวประกอบ https://www.posttoday.com/international-news/699607)

ปัจจุบัน ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บางท่านถึงกับพูดว่าถ้ามาไม่ถึง "ประตูบรันเดินบูร์ก" ก็เหมือนยังมาไม่ถึงเบอร์ลิน หรือบางท่านก็บอกว่าเหมือนมาไม่ถึงหัวใจเชิงสัญลักษณ์ของเยอรมนีครับผม
 


อ่อ ลืมพูดถึง รูปปั้นเทพีที่อยู่บนประตูบรันเดินบูร์ก คือ เทพีวิคตอเรีย (Victoria) เทพีแห่งชัยชนะตามตำนานเทพปกรณัมโรมัน  เป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ ยืนอยู่บนรถม้าศึก 4 ล้อ (The Quadriga) เทพีสวมชุดยาว มือขวาชูพวงหรีด มือซ้ายถือคทา ม้าทั้ง 4 กำลังวิ่งทะยานไปข้างหน้า เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ความสำเร็จ และความรุ่งเรือง สื่อถึงความปรารถนาของชาวเยอรมันที่จะมีชัยชนะ และความเจริญรุ่งเรืองครับ ในยุคหนึ่งจักรพรรดินโปเลียนของจักรวรรดิฝรั่งเศส ทรงเคยยึดไปไว้ที่กรุงปารีสหลังจากเอาชนะปรัสเซียในปี 1806 (พ.ศ.2349 หรือสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกันครับ) 10 ปีต่อมา ปรัสเซียได้นำรูปปั้นวิคตอเรียกลับมาประดับบนประตูบรันเดินบูร์กอีกครั้ง จึงสื่อถึงชัยชนะของปรัสเซียเหนือฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน ช่วยให้ปรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจในยุโรป 

อ่อ ลืมพูดถึง รูปปั้นเทพีที่อยู่บนประตูบรันเดินบูร์ก คือ เทพีวิคตอเรีย (Victoria) เทพีแห่งชัยชนะตามตำนานเทพปกรณัมโรมัน  เป็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ ยืนอยู่บนรถม้าศึก 4 ล้อ (The Quadriga) เทพีสวมชุดยาว มือขวาชูพวงหรีด มือซ้ายถือคทา ม้าทั้ง 4 กำลังวิ่งทะยานไปข้างหน้า เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ความสำเร็จ และความรุ่งเรือง สื่อถึงความปรารถนาของชาวเยอรมันที่จะมีชัยชนะ และความเจริญรุ่งเรืองครับ ในยุคหนึ่งจักรพรรดินโปเลียนของจักรวรรดิฝรั่งเศส ทรงเคยยึดไปไว้ที่กรุงปารีสหลังจากเอาชนะปรัสเซียในปี 1806 (พ.ศ.2349 หรือสมัยรัชกาลที่ 1 เช่นกันครับ) 10 ปีต่อมา ปรัสเซียได้นำรูปปั้นวิคตอเรียกลับมาประดับบนประตูบรันเดินบูร์กอีกครั้ง จึงสื่อถึงชัยชนะของปรัสเซียเหนือฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน ช่วยให้ปรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจในยุโรป 



คนเบอร์ลินจึงมองรูปปั้นวิคตอเรียเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ และความกล้าหาญ อย่างไรก็ดี ในเชิงสัญลักษณ์ของสันติภาพนั้น เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปปั้นเทพีวิคตอเรีย กลายเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความหวัง มากกว่าจะมองว่าเป็นชัยชนะเหนือการสงคราม ดังนั้น
คนเบอร์ลินหรือคนเยอรมันจึงใคร่ครวญและมองเป็นเครื่องเตือนใจว่า เยอรมันผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ และกำลังมุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่าครับผม(ลิ้งก์ข้อมูลประกอบ https://www.berlin.de/sehenswuerdigkeiten/3560266-3558930-brandenburger-tor.html)


เขียนโดย 

ณัฐพล จารัตน์ 

กรุงเบอร์ลิน

27.02.2567

@NattJarat