Search This Blog

Sunday, March 10, 2024

มัสยิด Şehitlik: สัญลักษณ์แห่งสันติภาพจากยุคออตโตมัน ใจกลางกรุงเบอร์ลิน


สุดสัปดาห์อากาศดี ได้ขับรถชมบรรยากาศและเดินเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ขับมาใกล้สถานบินเก่า

 Flughafen Berlin-Tempelhof สังเกตเห็นมัสยิดโดดเด่น ขอเเวะด้วยความสงสัยว่า 

กลางกรุงเบอร์ลินมีมัสยิดสวยขนาดนี้ด้วยหรือ


มัสยิดแห่งนี้ชื่อ มัสยิดเซฮิตลิค (Şehitlik) เป็นมัสยิดสร้างใหม่เมื่อปี 2000 - 2005  แต่สามารถย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปไกลถึงปี 1866 (ตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย)  ในเวลานั้น พื้นที่บริเวณนี้

เป็นทุ่งหญ้าและสุสานซึ่งเป็นราชทรัพย์ของกษัตริย์ฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย เนื่องจากทูตและ

ทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของจักรวรรดิออตโตมันที่ประจำการในปรัสเซียเสียชีวิต 

ไม่สามารถร่างกลับไปออตโตมันได้ จึงขอซื้อที่บริเวณนี้ทำเป็นที่ประกอบพิธีและทำสุสานทุ่งหญ้า

ในยุคนั้น คือ สถานบินเก่า Flughafen Berlin-Tempelhof ในปัจจุบันนั่นเอง 


คำว่า "Şehitlik" (เซฮิตลิค) เป็นภาษาตุรกี หมายถึง "สุสานของเหล่าผู้พลีชีพ" 

ฉะนั้น การก่อสร้างมัสยิด Şehitlik  จึงเปรียบเสมือนการรำลึกถึงวีรบุรุษผู้เสียสละ  

ช่วยให้ความทรงจำของชาวตุรกีในเบอร์ลินคงอยู่ สุสานแห่งนี้ จึงเป็นมากกว่าสุสาน  

แต่เป็นสถานที่รำลึกถึงวีรบุรุษ  และเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชุมชนมุสลิมในเบอร์ลินไป

โดยปริยาย


ความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์ลินและตุรกี สืบต่อเนื่องมากตั้งแต่เป็นปรัสเซียและออตโตมัน 

ทั้งสองเมืองมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งว่าเหตุใดเบอร์ลิน

จึงเปิดรับชาวตุรกีให้มาอาศัยและได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ ตัวเลขของชาวตุรกีที่ลงทะเบียนพักอาศัย

เฉพาะในกรุงเบอร์ลินมีจำนวนประมาณ 120,000 - 130,000 คน






ในปี 2021 อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี นางอังเกอลา เมอร์เคล (Angela Merkel) เคยมา

เยือนมัสยิดเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความกลมเกลียวและสามัคคีระหว่างเยอรมนีกับตุรกี 

ในปี 2016 นายเรเจ็ป ไทยิป เอร์โดแกน (Recep Tayyip Erdoğan) ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน 

เคยมาเยือนมัสยิด เพื่อแสดงออกถึงสันติภาพ  ความหลากหลาย  และความกลมเกลียวของ

ชาวมุสลิมตุรกีใน ใจกลางกรุงเบอร์ลิน 


นอกจากนี้ ด้านสถาปัตยกรรมยังแสดงออกถึงการผสมผสานสไตล์ออตโตมันและโมเดิร์น 

สะท้อนให้เห็นถึงความกลมเกลียวทางวัฒนธรรม เปี่ยมไปด้วยรายละเอียดและลวดลายอันประณีต

และเป็นที่ดึงดูดสายตา

ผู้คนด้วย


กล่าวกันว่ามัสยิดเซฮิตลิคเป็นมัสยิดที่ใหญ่และสวยที่สุดของกรุงเบอร์ลิน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ

อย่างพวกเรา ชาวคริสต์ในเบอรืลิน หรือแม้แต่ศาสนิกชนอื่น สามารถเข้าเยี่ยมชมมัสยิดแห่งนี้ได้ 

โดยต้องสำรวมและแต่งกายเหมาะสม ภายในมัสยิดมีผู้ดูแลพูดภาษาอังกฤษได้พร้อมให้

คำแนะนำหรือจะเข้ามาศึกษาจากเว็บทางการของมัสยิดได้ที่ https://sehitlik-moschee.de/




การได้มาอยู่เบอร์ลินเหมือนได้ย้อนความรู้สึกในชั้นเรียนวิชา multiculturalism ความรู้สึกที่สัมผัสถึง

ความเป็นพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายของผู้คน ผมคงได้มีอะไรดี ๆ และได้รับประสบการณ์

ใหม่ ๆ อีกมากมายที่เบอร์ลินครับ


Saturday, March 9, 2024

Stolperstein: หมุดศิลปะบนฟุตบาทเพื่อสร้างวัฒนธรรมการระลึกถึงของคนเยอรมัน


สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาเมื่อเดินบนฟุตบาทในกรุงเบอร์ลิน เราจะพบเห็นหมุดแผ่นทองเหลืองที่สลักตัวอักษรฝังในระนาบเดียวกับพื้นทางเดินเท้า ผู้คนเดินไปมาอาจหยุดมองอย่างสนใจหรืออาจเดินเหยียบย่ำโดยไม่แยแส หมุดถูกฝังอยู่ในฟุตบาททางเดินเท้าหน้าตึก อาคาร หรือบ้านพักอาศัย บางจุดพบเพียงหมุดเดียวหรือบางจุดพบจำนวนมากเรียงรายติดกัน ในภาษาเยอรมันเรียกสิ่งนี้ว่า “Stolperstein” (ชโตลเปอร์ชไตน) หมายถึง “หินที่ทำให้เดินลำบาก” หรือในความหมายทางอุปมา หมายถึง “อุปสรรคในการเดิน” ถือเป็นงานศิลปะเพื่อระลึกถึงชีวิตของชาวยิว ผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นรักร่วมเพศ ผู้พิการ คนผิวสี ชาวโรมานีหรือยิปซี และคนประเภทอื่น ๆรวมถึงผู้ที่ถูกลงโทษ ถูกเนรเทศ ถูกฆ่า หรือถูกกระตุ้นให้ฆ่าตัวตายโดยพรรคนาซีนาซีเยอรมันระหว่างปี 1941 – 1945 จำนวนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของโลก

ต่อมาเมื่อปี 1992 ศิลปินชาวเยอรมันชื่อ Gunter Demnig ริเริ่มโครงการศิลปะตั้งชื่อว่า Stolperstein โดยตั้งใจว่าอยากให้ผู้คนระลึกถึงความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ต้องการสงคราม และต้องไม่การให้ผู้ที่ถูกฆ่าตายกลายเป็นบุคคลนิรนามและถูกลืมเลือนด้วยกาลเวลา เขาออกแบบและทำบล็อกหินขนาด 10 ซม. x 10 ซม. ทำจากคอนกรีต บนหน้าด้านหนึ่งติดแผ่นทองเหลืองสลักชื่อและวันเดือนปีเกิดและวันเดือนปีที่เสียชีวิตของเหยื่อแต่ละราย และมีข้อความว่าคนผู้นี้เคยอาศัยหรือทำงานอยู่ที่นี่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถูกจับตัวและเสียชีวิต

ญาติหรือเพื่อนที่รู้จักผู้เสียชีวิตหากต้องการระลึกถึงผู้เสียชีวิตจะส่งหลักฐานและประวัติให้โครงการตรวจสอบเพื่อทำประวัติ เมื่อได้ข้อมูลสมบูรณ์จะขึ้นทะเบียนประวัติในฐานข้อมูล และจะผลิตหมุดหินและแผ่นทองเหลืองด้วยมือ ปัจจุบันมีหมุด Stolperstein มากถึง 1 แสนหมุด ไม่ใช่เพียงในเบอร์ลิน แต่กระจายทั่วทวีปยุโรป จึงนับได้ว่าเป็นผลงานศิลปะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วยครับ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://en.wikipedia.org/wiki/Gunter_Demnig)




เยอรมนีใช้ความโหดร้ายของสงครามผลิตเป็นวัฒนธรรมการระลึกถึงความโหดร้ายและน่ากลัวต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านงานศิลปะและการศึกษา เช่น โรงเรียนอาจสั่งให้นักเรียนทำรายงานประวัติบุคคลจาก Stolperstein ที่ฝังใกล้เคียงที่พักหรือเขตใกล้โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังจัดทำฐานข้อมูลออกไลน์ผ่านเว็บ https://www.stolpersteine-berlin.de/ ที่สามารถค้นชื่อที่ระบบบนหมุด Stolperstein สามารถระบุพิกัดที่ฝังหมุดหินและประวัติบุคคลให้ค้นคว้าเชิงประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย
เมื่อกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมเยอรมันไปแล้ว การทำสิ่งใดที่ขัดต่อวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงท่านผู้นำ การยกมือทำสัญลักษณ์เคารพท่านผู้นำ หรือการแสดงความไม่เข้าใจถึงความโหดร้ายของสงครามอาจนำมาสู้ความขัดแย้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ช่วงแรกที่ผมมาเบอร์ลิน เดินไปซื้อของมักเดินผ่านเจ้าแผ่น Stolperstein หลายจุด แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เคยก้มลงอ่าน หลายทีก็เดินเหยียบโดยไม่รู้ตัว พอสักระยะเริ่มหาข้อมูลและทำความเข้าใจ เมื่อเดินผ่านจึงไม่กล้าเหยียบย่ำต่อไปอีก ผมเคยเห็นบางท่านที่เป็นผู้สูงอายุมักจะยืนสงบนิ่งสักครู่ บางทีมีวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก ซึ่งเดาว่าในอดีตท่านคงมีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่เสียชีวิต ในโพสนี้เป็นภาพของเหล่าหมุดที่ฝังละแวกบ้านครับ


ณัฐพล จารัตน์
กรุงเบอร์ลิน
08.03.2567
อุณหภูมิ 2 องศา

Sunday, March 3, 2024

อนุรักษ์สถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน เช่น บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme

บ้านด้านหลังของผมนี้ เรียกว่า
Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme หรือบ้านเลขที่ 30 ถนนนีดสตราสเซอร์ ของ ยอร์ท เมห์เมอ สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1882

เมื่อวันก่อนไปทานดินเนอร์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่สุรินทร์ เป็นร้านอาหารไทยไม่ไกลจากบ้านมากนัก ได้ที่จอดรถรินถนนหน้าบ้านหลังนี้ เห็นว่าสวยดีจึงให้น้องสาวช่วยถ่ายภาพให้
พอกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ความรู้ว่า บ้าน ตึกหรืออาคารจำนวนมากในกรุงเบอร์ลินเป็นสถาปัตยกรรมที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์ ได้รับการดูแลโดย Landesdenkmalamt หรือสำนักงานทรัพย์สินและสถานที่ที่มีความสำคัญในกรุงเบอร์ลิน มีหน้าที่ที่สำคัญในการปกป้องและรักษาบ้าน ตึกหรืออาคาร รวมถึงสิ่งก่อนสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับกรุงเบอร์ลิน ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญ นำข้อมูลเก็บรักษาในรูปแบบสามารถเข้าถึงได้ ประกอบด้วยข้อมูลแบบข้อความและรูปภาพ ซึ่งอาคารต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสร้างและออกแบบโดยนักสถาปัตย์ที่มีเชื่อเสียงและมีผลงานการออกแบบสิ่งสำคัญในกรุงเบอร์ลิน


บ้าน Das Haus Niedstraße 30, 1882 von J. Mehme เลขทะเบียน 09066259 ตั้งอยู่ในเขต Tempelhof-Schöneberg เป็นสิ่งก่อสร้างประเภทบ้านอยู่อาศัยแนวชนบทเก่าของเบอร์ลิน สร้างเมื่อปี 1882 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 อายุราว 142 ปี ลักษณะเป็นบ้านในชนบทชั้นเดียวบนและมีชั้นใต้ดินสูง มีหลังคาหลังคาสูงทรงเหลี่ยมลูกบาศก์ ปูด้วยหินชนวนพร้อมหลังคามุงด้วยอิฐ ทางเข้าบ้านเป็นบันไดอยู่ฝั่งถนน ติดกับระเบียงไม้เล็ก ๆ มีระเบียงกระจก ผนังเป็นอาคารอิฐแดง ซึ่งปัจจุบันใช้เบ้านหลังนี้แจ้งว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า (ศึกษาข้อมูลประกอบจาก https://denkmaldatenbank.berlin.de/daobj.php...)
ทั้งหมดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า อาคารต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อชะลอโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพให้สิ้นเชิง แม้ว่าจะเป็นโบราณต้องอนุรักษ์ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ ดังนั้น อาคารเหล่านี้จะยังคงอยู่อีกนานโดยจะถูกเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ถ้าอีก 20 ข้างหน้ากลับมายืนถ่ายรูปที่หน้าบ้านหลังนี้อีก เดาได้ว่าสภาพจะคงเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่มีความผูกพันกับอดีตให้การสนับสนุนที่จะดูแลสิ่งก่อสร้างสำคัญเหล่านี้ ในอีกด้านหนึ่งคนรุ่นปัจจุบันมองคุณค่าของการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ต่างออกไป เนื่องจากการอนุรักษ์ต้องอาศัยงบประมาณจากภาษีและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง

ณัฐพล จารัตน์
03.03.2567
เขตสเตกลิทซ์ กรุงเบอร์ลิน
อากาศเริ่มอุ่นวันแรก อุณหภูมิ 6 องศาตั้งแต่เช้า