Search This Blog

Friday, January 3, 2025

Lepsiusstraße: ถนนเพื่อระลึกถึงบิดาแห่งวิชาอียิปต์วิทยาแห่งเยอรมนี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งอยู่บนถนน Lepsiusstraße (เลปซิอุสชตราสเซ) หรือถนนเลปซิอุส เป็นถนนสายสำคัญของเขต Steglitz เป็นถนนที่ผมต้องเดินผ่านทุกวัน โดยทั่วไปชื่อถนนมักจะถูกตั้งเพื่อโยงกับสังคมวัฒนธรรมหรือเป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญ จึงทำให้อยากรู้ว่าถนน Lepsiusstraße ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร


ถนน Lepsiusstraße ตั้งอยู่ในเขต Steglitz ของกรุงเบอร์ลิน เป็นถนนสายสำคัญที่มีความยาวประมาณ 1,400 เมตร เริ่มต้นจากบ้านเลขที่ 1–118 ถนนสายนี้มีอายุยาวนานกว่า 140 ปี โดยเริ่มต้นจากการมีชื่อเดิมว่า Fichtestraße (1878–1934) และเปลี่ยนชื่อเป็น Jahnstraße ในช่วงเวลาเดียวกัน ก่อนที่จะได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Lepsiusstraße เมื่อวันที่ 4 เมษายน 1934


การตั้งชื่อถนนนี้สะท้อนถึงเกียรติยศและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Karl Richard Lepsius บุคคลสำคัญผู้บุกเบิกศาสตร์แห่งอียิปต์วิทยาในเยอรมนี ถนนสายนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางการคมนาคม แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองทางปัญญาและการค้นพบในอดีต


Karl Richard Lepsius: บิดาแห่งวิชาอียิปต์วิทยา

ชื่อถนนมาจากนามสกุลของ Karl Richard Lepsius ท่านเกิดเมื่อ 23 ธ.ค. 1810 ที่เมืองเนาม์บวร์ก (Naumburg) และเสียชีวิตเมื่อ 10 ก.ค. 1884 ที่กรุงเบอร์ลิน เป็นนักอียิปต์วิทยา นักภาษาศาสตร์ และบรรณารักษ์ ในโลกที่พูดภาษาเยอรมัน ท่านถือเป็นผู้ก่อตั้งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโบราณวัตถุของอียิปต์และวิชาอียิปต์วิทยา จึงยกให้เป็นบิดาแห่งวิชาอียิปต์วิทยาแห่งเยอรมนี 

ท่าน Lepsius มาจากครอบครัวข้าราชการและได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียน Schulpforta ชื่อดังของเมืองเนาม์บวร์ก ต่อมาได้ศึกษาด้านภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เมืองไลพ์ซิก รัฐเกิตทิงเกน และกรุงเบอร์ลิน ต่อมาตั้งแต่ปี 1833 เกิดความสนใจเกี่ยวกับอารยธรรมอิยิปต์ จึงไปศึกษาต่อด้านอิยิปต์วิทยาที่กรุงปารีส จากนั้นกลับมาเป็นศาสตราจารย์ของ University of Berlin ในกรุงเบอร์ลินตั้งแต่ปี 1842 - 1846 จากนั้นพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 มอบรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะสำรวจลุ่มแม่น้ำไนล์ ประเทศอิยิปต์ ในปี 1855 ได้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อียิปต์แห่งเบอร์ลิน (Direktor des Ägyptischen Museums) เป็นที่จัดแสดงและเก็บรักษาโบราณวัตถุที่คณะสำรวจค้นพบ ผลงานที่สำคัญ คือเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสาขาวิชาอิยิปต์วิทยาของเยอรมัน (Egyptology) และเป็นผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรสำหรับภาษาที่ยังไม่ได้มีตัวเขียน ชื่อหนังสือ " Das allgemeine linguistische Alphabet" ในปี 1884 ท่านได้เสียชีวิตและถูกฝังอยู่ในลานโบสถ์ของเขตอาสนวิหาร Dom-Friedhof II ในกรุงเบอร์ลิน



เหตุผลในการตั้งชื่อถนน Lepsiusstraße

การเปลี่ยนชื่อถนนในปี 1934 เพื่อเป็นเกียรติแก่ Karl Richard Lepsius น่าจะมาจากบทบาทของท่านในฐานะศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเบอร์ลินและผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อวงการวิทยาศาสตร์เยอรมนี ถนนนี้เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาอย่าง The Free University of Berlin ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เบอร์ลิน


 

เดินสำรวจถนน Lepsiusstraße: การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ถนน Lepsiusstraße ไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางที่นำผู้คนผ่านไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สำหรับผู้สนใจ


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน:

บนถนนสายนี้ตั้งอยู่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดสำคัญสำหรับชาวไทยและผู้มาเยือน


บ้านเรือนและบรรยากาศ:

ถนนสายนี้มีอาคารและบ้านเรือนที่สะท้อนสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของเยอรมนีในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20


สถานที่ใกล้เคียง:


เขต Steglitz มีร้านอาหาร คาเฟ่ และสวนสาธารณะมากมาย เหมาะสำหรับการพักผ่อน

ใกล้กับ The Free University of Berlin ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญของนักศึกษาและนักวิชาการ


ถนน Lepsiusstraße เป็นมากกว่าถนนธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน ทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ การตั้งชื่อตาม Karl Richard Lepsius ไม่เพียงให้เกียรติบุคคลสำคัญ แต่ยังตอกย้ำถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อกรุงเบอร์ลินและโลกทั้งใบ


ถนนสายนี้จึงเหมาะสำหรับการเดินสำรวจและสัมผัสเสน่ห์ของเมืองในมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง

ผมอ่านและเรียบเรียงข้อมูลมากจาก

https://de.wikipedia.org/wiki/Karl_Richard_Lepsius

'Lepsius, Carl Richard: Das allgemeine linguistische Alphabet', Bild 5 von 76 | MDZ

https://deu.archinform.net/arch/58478.htm

สตรีทฟูดเยอรมัน Zur Bratpfanne ไส้กรอกเยอรมัน ชื่อดังของย่านสเต็กลิสซ์ (Stieglitz) กรุงเบอร์ลิน

เมื่อนึกถึงเยอรมัน หลายคนรวมถึงผมด้วยมักนึกถึงเบียร์เยอรมัน ขาหมูเยอรมัน และไส้กรอกเยอรมัน ผุดขึ้นมาในหัวเหมือนนัดหมาย ในย่านที่ผมอาศัยอยู่เรียกว่าย่านสเต็กลิสซ์ (Stieglitz) อยู่ทางตอนใต้ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ย่านนี้มีความสำคัญกับคนไทยในเยอรมนีอย่างยิ่ง เหตุเพราะสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งอยู่ในเขตนี้ ถนนสายเศรษฐกิจของย่านสเต๊กลสซ์ ชื่อ ถนน Schlossstrasse (ชะลอสชะตราสเซอร์) แปลอย่างไทยหมายถึงถนนปราสาท เป็นศูนย์กลางของย่าน ประกอบด้วยสถานีรถไฟใต้ดินสาย U9 (U-Bahn) 2 สถานี ศาลาว่าการเขต ห้างร้าน โรงแรม และโรงละคร ตลอดสองข้างทางของถนนสายนี้เรียงรายไปด้วยร้านค้า ร้านอาหารเยอรมันร อิตาลี ไทย เวียตนาม ญี่ปุ่น จีน รวมถึงร้านขนม คาเฟ่อร่อย ๆ สายคอนเท้นต์เยอรมันมาแวะเวียนกันมาก

สถานีรถไฟใต้ดินสาย U9 ลงสถานนี Schloss Strasse หรือจะไปสุดสายลงสถานี Rathaus Steglitz ไม่ห่างกันนัก ระหว่างสถานนี Schloss Strasse กับ สถานี Rathaus Steglitz มีร้านสตรีทฟูดเยอรมัน Zur Bratpfanne (ชื่อร้านแปลว่า กระทะทอด) เป็นร้านขายไส้กรอกและอาหารจานด่วนที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่มากของเบอร์ลิน ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 อายุอานามกว่า 76 ปีเข้าไปแล้ว โดย คุณ Günter Mosgraber เป็นผู้ก่อตั้งและยังคงดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันภายใต้การบริหารของครอบครัว Mosgraber 


☝ รูปของคุณ Günter Mosgraber ในช่วงแรกของการตั้งร้าน (ปี 1951)
(
Günter Mosgraber, Willkommen Zur Bratpfanne!)

ผมกับแฟนมักแวะเวียนมาอุดหนุนบ่อยครั้ง แต่ไม่ได้ถึงขั้นจะเรียกว่าลูกค้าประจำ (Stammkunde) ในเดือนหนึ่งจะเเวะเวียนมาสักครั้ง ร้านมีชื่อเสียงและออกสื่อเยอรมัน ลองดูจากคลิปทาง YouTube 


เพื่อจะเพิ่มรสชาติของทุกเมนูจะขอเล่าเรื่องราวของร้าน Bratpfanne สู่กันฟัง (Storytelling) นะครับ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1949 หลักจากจบสงครามโลกครั้งที่สองเพียง 4 ปี ร้าน Zur Bratpfanne ได้เริ่มต้นขึ้น โดยคุณ Günter Mosgraber เริ่มขายไส้กรอกด้วยเตาเคลื่อน (อาจคล้าย ๆ รถเข็นขายลูกชิ้นในเมืองไทย) ที่หน้าโรงภาพยนต์ Titania ถนน Schloss Strasse ของย่านสเต๊กลิสซ์นี่เอง ในช่วงเวลานั้น ประเทศเยอรมนีกำลังฟื้นตัวและฟื้นฟูจากสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวเบอร์ลินยังอยู่ในสภาพยากลำบาก คุณ Günter Mosgraber คิดว่าการขายไส้จะช่วยสร้างอาชีพและไส้กรอกเป็นของที่ลงทุนไม่สูงมาก สามารถเก็บได้นาน รับประทานสะดวก และราคาเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจของกรุงเบอร์ลินที่บอบช้ำจากสงคราม ในช่วงนั้นการขายไส้กรอกบนถนนเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูและความหวังใหม่ และเป็นภาพที่มองเห็นได้ทุกหัวมุมถนนของกรุงเบอร์ลิน อย่างไรก็ตามในช่วงแรกนี้ร้านยังเป็นแบบเคลื่อนที่ยังไม่ได้เป็นร้านตั้งถาวร
☝ รูปนี้เป็นโรงภาพยนต์ Titania Palast ในปัจจุบัน 
(ผมถ่ายรูปเองเมื่อ 29 ธันวาคม 2567 ช่วงประมาณ 5 โมงเย็น)

อีก 2 ปีต่อมา ในปี 1951 คุณ Günter Mosgraber ตั้งเป็นร้านขายไส้กรอกขึ้น โดยไม่ต้องย้ายไปย้ายมาหรือยืนขายหน้าโรงภาพยนต์ โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งร้านเล็ก ๆ ที่มุมถนน Schloßstraße และ Kieler Straße ซึ่งเป็นที่ตั้ง ณ จุดปัจจุบันด้วย ร้านประกอบด้วยโต๊ะพับและหลังคาผ้าใบ ซึ่งต้องถอดเก็บทุกคืน จากนั้นชื่อเสียงของร้านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในย่านสเต๊กลิสซ์

คุณ Günter Mosgraber ทำงานอย่างขยันขันแข็งนานนับทศวรรษกระทั่ง นำไปสู่ความสำเร็จก้าวสำคัญ คือ การสร้างร้านถาวร ในช่วงทศวรรษ 1960 โดยได้รับอนุญาตให้สามารถสร้างร้านถาวรที่มุมถนน Schloßstraße และ Kieler Straße ร้านใหม่จึงมีโครงสร้างที่มั่นคงและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นและรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 



☝ รูปอธิบายเกี่ยวกับร้าน Bratpfanne ติดอยู่ข้างร้าน


☝ รูปของร้าน Bratpfanne ตั้งถาวรที่มุมถนน Schloßstraße และ Kieler Straße (ปี 1970)
(Günter Mosgraber, Willkommen Zur Bratpfanne!)

ต่อจากนั้น ช่วยทศวรรษ 1980-1990 เมื่อร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นและสะสมทุนได้เพียงพอ จึงขยายและปรับปรุงร้านเรื่อยมา จากร้านไม้เล็ก ๆ กลายเป็นร้านที่มีโครงสร้างโลหะและอุปกรณ์การทำอาหารที่ทันสมัย ช่วยให้ร้านไส้กรอกดังแหน่งนี้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและรักษามาตรฐานคุณภาพสูงสุด อันเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของธุรกิจร้านไส้กรอกเยอรมัน Zur Bratfanne 
แม้คุณ Günter Mosgraber ได้จากไปแล้ว แต่ความสำเร็จจากการก่อตั้งร้านยังสืบทอดต่อมายังทายาทรุ่นที่ 2 

ในปี 1990 คุณ Matthias Mosgraber บุตรชายของคุณ Günter Mosgraber ได้เข้ารับช่วงกิจการของครอบครัว เขายังคงรักษาปรัชญาของบิดาในการให้บริการสินค้าที่มีคุณภาพสูง บริการที่เป็นมิตร และความสะอาดที่ยอดเยี่ยม ภายใต้การนำของเขา ร้านได้ขยายไปยังสองสาขาและมีพนักงานมากกว่า 20 คน
 
☝คุณ Matthias Mosgraber ทายาทรุ่นที่ 2 
(ดูคลิปรายการข่าวของ ARD เยอรมันได้จากตรนี้ 

ในปี 2009 ร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne จัดฉลองครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2009  ในโอกาสนี้ ร้านได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ โดยขายไส้กรอกและมันฝรั่งทอดในราคาลดพิเศษเพื่อขอบคุณลูกค้าที่สนับสนุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

☝รูปเมนูไส้กรอกและมันฝรั่งทอดของร้าน Zur Brapfanne ในปัจจุบัน (ถ่ายไว้เมื่อกรกฎาคม 2567)

ต่อมาเมื่อปี 2011 ทางร้ายได้ปรับปรุงร้านใหม่ ณ มุมถนน Schloßstraße และ Kieler Straße ได้รับการสร้างใหม่ทั้งหมด โดยมีการออกแบบพื้นที่และแสงสว่างที่ทันสมัย และใช้อุปกรณ์และวัสดุที่เป็นมาตรฐานใหม่ การปรับปรุงนี้ไม่เพียงแต่รักษาคุณภาพของอาหาร แต่ยังเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเมื่อปี 2014 ขยายสาขาไปยังย่านไลเทอร์เฟลเดอร์ (Lichterfelde) อีกด้วย (เป็นย่านติดกับย้านสเต๊กลิสซ์) ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งขาประจำและทั่วไปเป็นอย่างมาก

ในปี 2019 ร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne ฉลองครบรอบ 70 ปีการดำเนินกิจการ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2019 ร้านนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของเบอร์ลิน บางสื่อยกให้เห็นสตรีทฟูตของกรุงเบอร์ลิน เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมสตรีทฟูดของกรุงเบอร์ลิน และเป็นหนึ่งของร้านที่ต้องแวะเยี่ยมชิมของกรุงเบอรืลิน ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ร้าน Zur Bratpfanne ยังคงรักษาคุณภาพและสูตรลับของไส้กรอกและซอสที่ทำให้ลูกค้าหลงใหล 

ปัจจุบัน ร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne ยังดำเนินกิจการแบบครอบครัว Mosgraber กำลังส่งต่อกิจการถึงทายาทรุ่นที่ 3 สืบสอดวัฒนธรรมการกินของกรุงเบอร์ลินอย่างต่อเนื่อง คงรสชาติและคุณภาพเดิมตั้งแต่ก่อตั้งเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

อะไรเป็นหลักสำคัญในการดำเนินกิจการของร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจครอบครัวที่สามารถรักษาคุณภาพและความนิยมได้ตลอดหลายทศวรรษ ด้วยความมุ่งมั่นในการให้บริการที่ดีที่สุดและการรักษาสูตรลับของอาหาร ทำให้ร้านนี้ยังคงเป็นที่รักของชาวเบอร์ลินและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก สิ่งนั้น คือ ปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่คุณ Günter Mosgraber ผู้ก่อตั้ง ใช้สอนและมองถึงคุณค่าของแนวคิดการบริหารร้าน 

ปรัชญาการดำเนินธุรกิจของร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการให้บริการที่มีคุณภาพสูงสุดแก่ลูกค้า โดยมีหลักการ 10 ข้อ ดังนี้ครับ


☝รูปจากเว็บของร้าน "ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ 10 ข้อ"

Unsere 10 Gebote (ปรัชญาดำเนินธุกริจ 10 ข้อ ของเรา)

  1. Das Wichtigste sind Sie. (สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณ)
    • Wir wissen sehr genau, dass wir darauf angewiesen sind, dass Sie, unsere Kunden, unsere Spezialitäten kaufen, es Ihnen schmeckt, es Ihnen bei uns gefällt, dass Sie wieder kommen. Dafür tun wir alles. Jeden Tag. 
    • (เรารู้ดีว่าเราขึ้นอยู่กับคุณ ลูกค้าของเรา ที่จะซื้อสินค้าพิเศษของเรา เราต้องการให้คุณชื่นชอบรสชาติของอาหาร และรู้สึกประทับใจกับเรา จนอยากกลับมาอีกครั้ง เพื่อสิ่งนี้ เราทำทุกอย่างทุกวัน)
    • ผมวิเคราะห์ว่าว่า เน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก สื่อถึงการใส่ใจในความพึงพอใจของลูกค้าและการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
  1. Das Beste ist uns gerade gut genug. (สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้นที่เพียงพอสำหรับเรา)
    • Unser Qualitätsanspruch ist extrem hoch. Wir machen die besten Currywürste der Stadt, haben den besten Service und die saubersten Imbissstände. Das prüfen wir regelmäßig intern und lassen uns regelmäßig extern prüfen. 
    • (เรามีมาตรฐานคุณภาพที่สูงมาก เราผลิตไส้กรอกแกงกะหรี่ที่ดีที่สุดในเมือง มีบริการที่ยอดเยี่ยม และมีร้านที่สะอาดที่สุด เราตรวจสอบมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภายในและจากภายนอก)
    • ผมวิเคราะห์ว่าว่า แสดงถึงความมุ่งมั่นในการรักษาคุณภาพในทุกด้าน ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จนถึงบริการ
  1. Wir nehmen nur beste Zutaten. (เราใช้เฉพาะวัตถุดิบที่ดีที่สุดเท่านั้น)
    • Bei der Auswahl des Fleisches in unserer Metzgerei, des Öls, der Kartoffeln, des Gemüses (und aller anderen Zutaten) sind wir schlicht und ergreifend kompromisslos.
    • (ในการเลือกเนื้อสัตว์ น้ำมัน มันฝรั่ง ผัก และวัตถุดิบอื่น ๆ เราไม่มีการประนีประนอมเลยแม้แต่น้อย)
    • ผมวิเคราะห์ว่า แสดงถึงความใส่ใจในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยไม่ลดทอนคุณภาพ

  1. Wir haben die besten Leute. (เรามีบุคลากรที่ดีที่สุด)
    • Der direkte Kontakt zu Ihnen geht über unsere Mitarbeiter am Stand. Aber auch hinter den Kulissen arbeitet eine Vielzahl von Kollegen daran, unseren Qualitätsanspruch zu erfüllen.
      Wir haben ausgewählte, motivierte, regelmäßig geschulte, gut gelaunte, professionelle Mitarbeiter.
    • (การติดต่อกับคุณโดยตรงมาจากพนักงานของเราที่ร้าน และเบื้องหลังก็ยังมีทีมงานจำนวนมากที่ทำงานเพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพ เรามีบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือก มีแรงจูงใจ ได้รับการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ มีทัศนคติที่ดี และมีความเป็นมืออาชีพ)
    • ผมวิเคราะห์ว่า แสดงถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลในการสร้างคุณภาพและประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
  1. Sauber muss es sein. (ต้องสะอาด)
    • Ein ausgefeiltes System stellt sicher, dass in der Produktion und in den Ständen höchste Hygiene- und Sauberkeitsstandards eingehalten werden.
    • (ระบบที่พัฒนาอย่างดีช่วยให้มั่นใจว่าในกระบวนการผลิตและในร้านค้าจะรักษามาตรฐานสุขอนามัยและความสะอาดสูงสุด)
    • ผมวิเคราะห์ว่า ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความสะอาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

  1. Frisch muss es sein. (ต้องสดใหม่)
    • Die Würste und der Ketchup werden jeden Tag frisch produziert. Unsere Stände werden täglich mehrmals mit frischer Ware beliefert. Unsere hochwertigen Frittier- und Bratfette werden jeden Tag erneuert.
    • (ไส้กรอกและซอสมะเขือเทศของเราผลิตสดใหม่ทุกวัน ร้านของเราจะได้รับสินค้าสดใหม่ส่งมาหลายครั้งต่อวัน และน้ำมันทอดและย่างคุณภาพสูงของเราจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกวัน)
    • ผมวิเคราะห์ว่า เน้นความสดใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการผลิต
  1. Wir machen möglichst alles selber. (เราพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง)
    • Unsere Würste werden nach hauseigenen Vorgaben hergestellt, unser Ketchup nach eigener Rezeptur selbst gemacht, die Curry-Mischung ist ein wohlbehütetes Familiengeheimnis.
    • (ไส้กรอกของเราผลิตตามสูตรของเราเอง ซอสมะเขือเทศก็ทำเอง และสูตรผสมเครื่องแกงกะหรี่เป็นความลับของครอบครัว)
    • ผมวิเคราะห์ว่า ชูความเป็นเอกลักษณ์และการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด
  1. Wir haben große Portionen. (เรามีปริมาณที่คุ้มค่า)
    • Nouvelle-Cuisine-Häppchen sind nicht unsere Welt. Bei uns gibt es ordentlich was auf den Teller für’s Geld.
    • (อาหารปริมาณเล็ก ๆ ไม่ใช่แนวทางของเรา ที่นี่คุณจะได้รับอาหารจานใหญ่ที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย)
    • ผมวิเคราะห์ว่า ตอกย้ำความคุ้มค่าในปริมาณและราคา

  1. Wir machen gute Preise. (เราตั้งราคาที่เหมาะสม)
    • Qualität hat ihren Preis, das ist klar. Aber wir wollen moderate Preise anbieten, um möglichst allen den Genuss unserer Spezialitäten zu ermöglichen.
    • (คุณภาพมีราคา แต่เราต้องการเสนอราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับสินค้าพิเศษของเราได้)
    • ผมวิเคราะห์ว่า แสดงถึงความสมดุลระหว่างคุณภาพและความเข้าถึงได้
  1. Wir sind modern, ohne der Zeit hinterher zu laufen. (เราทันสมัยโดยไม่ตามกระแส)
    • In punkto Produktions- und Arbeitsabläufe, Qualitätsmanagement, Logistik und Mitarbeiter sind wir ein sehr modernes Unternehmen. Aber was die Rezeptur unserer Würste, unseres Ketchups und unserer Gewürzmischungen angeht, ist die Zeit für uns stehen geblieben. Seit über 70 Jahren produzieren wir sie unverändert.
    • (ในด้านกระบวนการผลิต การจัดการคุณภาพ โลจิสติกส์ และพนักงาน เราเป็นบริษัทที่ทันสมัย แต่สำหรับสูตรของไส้กรอก ซอสมะเขือเทศ และเครื่องเทศของเรา เรายังคงรักษาแบบดั้งเดิมมานานกว่า 70 ปี)
    • ผมวิเคราะห์ว่า เป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัยในด้านการจัดการ และการรักษาความดั้งเดิมในสูตรอาหาร

ปรัชญาเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของร้านไส้กรอก Zur Bratpfanne ในการให้บริการที่มีคุณภาพสูงสุดแก่ลูกค้า โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพ วัตถุดิบ ความสะอาด และการบริการที่เป็นเลิศ แน่นอนว่านี่เป็นแนวความคิดเชิงปรัชญาการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัวของคนเยอรมัน ซึ่งวงวิชาการด้านการบริการธุรกิจแบบเยอรมันน่าจะศึกษาและวิจัยในเชิงลึกกันได้อีก

คราวนี้มาถึงเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจหลักของความอร่อย มาดูกันที่เมนูอาหารและเครื่องดื่ม ภาพนี้ผมถ่ายไว้เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หวังว่าราคาคงจะยังไม่เปลี่ยนแปลง เมนูแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง ลองดูกันครับ

อาหารในเมนู (Speisen)

1. Currywurst ohne Darm (ไส้กรอกแกงกะหรี่แบบไม่มีไส้) ราคา  €2.90 

    • ไส้กรอกที่ไม่มีไส้ห่อ เสิร์ฟพร้อมซอสมะเขือเทศและผงกะหรี่
2. Currywurst mit Darm (ไส้กรอกแกงกะหรี่แบบมีไส้) ราคา €2.90
    • ไส้กรอกที่มีไส้ห่อ เสิร์ฟในรูปแบบคลาสสิก
3. Boulette (บูเลตต์ หรือมีทบอลเยอรมัน) ราคา €2.90
    • มีทบอลปรุงรส เสิร์ฟเป็นของว่างหรืออาหารหลัก
4. Rostbratwurst mit Brötchen (ไส้กรอกย่างถ่านพร้อมขนมปัง) ราคา €3.20
    • ไส้กรอกย่าง เสิร์ฟคู่กับขนมปัง

5. Hamburger (แฮมเบอร์เกอร์ธรรมดา) ราคา €3.50

    • แฮมเบอร์เกอร์แบบธรรมดา

6. Cheeseburger (ชีสเบอร์เกอร์) ราคา €3.40

    • แฮมเบอร์เกอร์เพิ่มชีส

7. Chili-Cheeseburger (ชิลลี่ชีสเบอร์เกอร์) ราคา €3.60 (แบบปกติ), €4.20 (เพิ่มเนื้อ)

    • แฮมเบอร์เกอร์พร้อมชีสและฮาลาเปโญ

8. Pommes frites (มันฝรั่งทอด) ราคา €2.60 (K: เล็ก), €3.50 (M: กลาง), €5.20 (L: ใหญ่)

    • มันฝรั่งทอดสดใหม่

9. Ketchup/Salatmayonnaise (ซอสมะเขือเทศ/มายองเนส) ราคา €0.40

    • ซอสที่เลือกเพิ่มสำหรับอาหาร

10. Kartoffelsalat/Nudelsalat (สลัดมันฝรั่ง/สลัดพาสต้า) ราคา €2.20

    • สลัดเยอรมันเสิร์ฟเย็น

11. Zwiebeln (roh, mariniert) (หัวหอมสด/ดอง) ราคา €0.40

    • เพิ่มหัวหอมสำหรับเมนู

12. Brötchen (ขนมปัง) ราคา €0.30

    • ขนมปังเสิร์ฟคู่กับเมนูอื่น

สำหรับเครื่องดื่ม (Getränke)

1. CocaCola/CocaCola Zero 

ราคา €1.80 (0.33L)
2. Fanta/Sprite ราคา €1.80 (0.33L)
3. Multivitamin (น้ำผลไม้รวม) ราคา €1.60 (0.33L)
4. Mineralwasser (น้ำแร่) ราคา €1.60 (0.25L)
5. Kaffee klein (กาแฟเล็ก) ราคา €1.50 (0.2L)
6. Kaffee groß (กาแฟใหญ่) ราคา €1.80 (0.3L)

คราวนี้ พนักงานของร้านไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ต้องสั่งเป็นภาษาเยอรัมน ผมจำลองบทสนทนาแนะนำสำหรับการสั่งที่ร้าน 

พนักงาน: Guten Tag! Was möchten Sie bestellen? 
(สวัสดีครับ คุณต้องการสั่งอะไรดีครับ)

ลูกค้า: Hallo! Ich hätte gern eine Currywurst ohne Darm mit Pommes klein und eine CocaCola, bitte.
(สวัสดีครับ ผมขอไส้กรอกแกงกะหรี่แบบไม่มีไส้ พร้อมมันฝรั่งทอดขนาดเล็ก และโคล่าหนึ่งขวดครับ)

พนักงาน: Möchten Sie Ketchup oder Mayo dazu?
(คุณต้องการซอสมะเขือเทศหรือมายองเนสเพิ่มไหม)

ลูกค้า: Ja, bitte mit Ketchup.
(ขอซอสมะเขือเทศด้วยครับ)

พนักงาน: Alles klar. Das macht zusammen €5,30.
(โอเคครับ ทั้งหมดราคา €5.30)

ลูกค้า: Vielen Dank!
(ขอบคุณครับ)

ตัวอย่างต่อมาลองดูครับ

ลูกค้า: Hallo! Ich hätte gern eine Currywurst, bitte.

(สวัสดีครับ ฉันขอไส้กรอกแกงกะหรี่หนึ่งที่ครับ)

พนักงาน: Möchten Sie die Currywurst 'ohne' oder 'mit' Darm?
(คุณต้องการไส้กรอกแกงกะหรี่แบบไม่มีไส้หรือมีไส้ดีครับ)

ลูกค้า: Ich nehme die 'ohne' bitte.
(ฉันขอแบบไม่มีไส้)

พนักงาน: Und dazu Pommes? Oder nur die Currywurst?
(ต้องการมันฝรั่งทอดเพิ่มไหมครับ หรือแค่ไส้กรอกแกงกะหรี่เฉย ๆ)

ลูกค้า: Ja, bitte mit Pommes. Und mit Ketchup und Mayo.
(เอามันฝรั่งทอดด้วย พร้อมซอสมะเขือเทศและมายองเนสครับ)

พนักงาน: Sehr gut. Die Currywurst mit Pommes ist eine unserer Spezialitäten. Möchten Sie etwas zu trinken?
(เยี่ยมเลย ไส้กรอกแกงกะหรี่กับมันฝรั่งทอดเป็นเมนูพิเศษของเรา คุณต้องการเครื่องดื่มไหมครับ)

ลูกค้า: Ja, bitte eine Cola.
(ขอเป็นโคล่าหนึ่งแก้วครับ)

พนักงาน: Alles klar. Das macht zusammen 8,50 Euro.
(ทั้งหมด 8.50 ยูโรครับ)

ลูกค้า: Danke! Gibt es hier eine besondere Empfehlung?
(ขอบคุณครับ มีเมนูแนะนำพิเศษอะไรอีกไหมครับ)

พนักงาน: Ja, die Rostbratwurst ist auch sehr beliebt, vor allem mit Brötchen. Und wenn Sie etwas Klassisches wollen, probieren Sie unseren Hamburger.
(มีครับ ไส้กรอกย่างถ่านเสิร์ฟพร้อมขนมปังเป็นที่นิยมมาก หรือถ้าคุณอยากลองอะไรที่คลาสสิก ขอแนะนำแฮมเบอร์เกอร์ของเราครับ)

ลูกค้า: Das klingt gut. Vielleicht probiere ich es nächstes Mal.
(ฟังดูน่าสนใจ บางทีครั้งหน้าฉันอาจลองสั่งครับ)

พนักงาน: Super! Viel Spaß mit Ihrer Currywurst und einen schönen Tag noch!
(เยี่ยมเลยครับ ขอให้สนุกกับไส้กรอกแกงกะหรี่ของคุณ และขอให้มีวันที่ดีนะครับ)

ลูกค้า: Danke, Ihnen auch!
(ขอบคุณ เช่นกันครับ)


☝โลโกของร้าน

โลโก้ของร้าน Zur Bratpfanne สะท้อนถึงเอกลักษณ์และคุณลักษณะของร้าน ผมลองวิเคราะห์เล่น ๆ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ไม่ได้อ้างอิงใด ๆ ครับ

  1. ตัวอักษร Gothic (ตัวอักษรแบบเยอรมันดั้งเดิม) ดูที่รูปฟอนต์ (font) ตัวอักษรในโลโก้มีการใช้ฟอนต์แบบ Gothic ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเยอรมัน สื่อถึงความเป็นดั้งเดิมและความคลาสสิกของร้านที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1949

  2. สีแดงเข้มของพื้นหลังสื่อถึงพลัง ความเข้มข้น และความกระตือรือร้น ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของร้านในการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด

  3. ตัวการ์ตูนไส้กรอกมีท่าทางร่าเริงถือแก้ว สื่อถึงความสนุกสนานและเป็นกันเองของร้าน 

  4. แตงกวาดองที่มีบุคลิกขี้โมโห การ์ตูนแตงกวาดองที่ดูขี้โมโหอาจเพิ่มความขบขัน และสื่อถึงส่วนประกอบอาหารที่เข้ากันได้ดีกับไส้กรอก ลักษณะของไส้กรอกกับแตงกว่าดองเป็นแท่งเหมือนกัน แต่อร่อยไม่เหมือนกัน

  5. ข้อความ “Seit 1949” (ตั้งแต่ปี 1949) แสดงถึงปีที่ร้านเริ่มก่อตั้ง

มาถึงช่วงท้ายนี้ ถ้าได้มาถึงเบอร์ลินต้องลองมาชิมครับ ตั้ง Google maps มาได้


ณัฐพล จารัตน์

เบอร์ลิน

วันนี้หิมะหายเกลี้ยง




Wednesday, January 1, 2025

ซอฟต์พาวเวอร์ขนมโตเกียว: การเดินทางข้ามวัฒนธรรมบนแผ่นแป้งจากญี่ปุ่นสู่ความไทย

ไม่นานมานี้ เพื่อนส่งบทความที่ผมเคยเขียนใน Line Today เกี่ยวกับที่มาของขนมโตเกียวด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์ว่าด้วยการลากเข้าความ (อ่านได้จากลิ้ก์นี้ "ขนมโตเกียว" ใครว่าเป็นขนมญี่ปุ่น ? ในมุมการลากเข้าเป็นไทย-ณัฐพล จารัตน์ | LINE TODAY SHOWCASE | LINE TODAY) บางท่านอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยตามมุมมองของผม นั่นเป็นเพียงมุมมองหนึ่งด้วยการสันนิษฐานส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ความจริงที่หักล้างไม่ได้เลยนั้น คือ ขนมโตเกียวไม่ใช่ขนมดังเดิมของไทยและไม่มีขายในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเป็นแน่แท้

ก่อนผมจากเดินทางมากรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ผมถ่ายภาพขนมโตเกียวที่ซื้อจากตลาดนัดซอยแถวบ้าน เพียงไว้เพื่อเป็นภาพสำหรับโชว์ชาวเยอรมันเกี่ยวกับขนมต่าง ๆ ของไทย วันผมนำมาลงไว้ใน blog และเขียนเนื้อหาเพิ่มจากเดิมที่เคยลงใน Line Today

ภาพคุ้นตาของรถเข็นขายขนมโตเกียวริมถนน เป็นภาพที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างยาวนาน เสียงกระทะเหล็กกระทบกับตะหลิว แป้งที่ถูกละเลงลงบนกระทะร้อน ๆ และกลิ่นหอมของไส้ต่าง ๆ เป็นสัญญาณบอกว่าขนมโตเกียวพร้อมเสิร์ฟแล้ว ภาพเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางย้อนเวลา เพื่อค้นหาที่มาของขนมที่ชื่อเหมือนเมืองหลวงของญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีขายที่โตเกียว

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ

คราวที่แล้วผมเสนอไว้สองทฤษฎีกับการเดินทางข้ามวัฒนธรรมของขนมโตเกียว ผมเสนอว่าต้นกำเนิดของขนมโตเกียวเชื่อมโยงกับขนมญี่ปุ่นยอดนิยม 

  1. อิทธิพลจากโดรายากิ: โดรายากิ ขนมแป้งแพนเค้กสองแผ่นประกบไส้ถั่วแดงกวน เป็นขนมที่คุ้นเคยจากตัวการ์ตูนโดราเอมอน การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น "ไทยไดมารู" ในปี พ.ศ. 2507 พร้อมกับการนำเข้าโดรายากิ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ขนมโตเกียว พ่อค้าแม่ขายอาจนำโดรายากิมาดัดแปลง โดยเปลี่ยนรูปแบบจากแป้งสองแผ่นประกบกัน เป็นแป้งแผ่นเดียวม้วนห่อไส้ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการรับประทาน

  2. แรงบันดาลใจจากเครปญี่ปุ่น: ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประเทศญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู และเครปญี่ปุ่นกลายเป็นอาหารริมทางยอดนิยมในย่านฮาราจูกุและชินจูกุ การเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวในญี่ปุ่นของคนไทยในยุคนั้น อาจนำมาสู่การนำเอาแนวคิดของเครปมาประยุกต์ใช้ โดยปรับเปลี่ยนลักษณะแป้งให้หนานุ่มขึ้น และเพิ่มไส้รสชาติแบบไทย ๆ

แล้วขนมโตเกียวเดินทางสู่ประเทศไทยเป็นขนมชื่อ "โตเกียว" ในกรุงเทพมหานครได้อย่างไร จากแนวคิดทั้งสองข้างต้นเป็นช่วงเวลาที่ขนมโตเกียวเริ่มปรากฏในประเทศไทย สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 2510 เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเข้ามาของวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านห้างไทยไดมารู ถือเป็นห้างสัญชาติญี่ปุ่นแห่งแรกในประเทศไทย สินค้าและขนมของญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมกรุงเทพตั้งแต่นั้นมาก

การตั้งชื่อ "ขนมโตเกียว" แทนที่จะเป็น "ขนมญี่ปุ่น" อาจมีเหตุผลดังนี้ ซึ่งผมเคยเขียนในบทความคราวที่แล้วเช่นกัน กล่าวคือ

  • การรับรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นในยุคนั้น โตเกียวเป็นเมืองที่คนไทยรู้จักมากที่สุดในญี่ปุ่น เปรียบเสมือนเป็นภาพแทนของประเทศญี่ปุ่น การใช้ชื่อ "โตเกียว" จึงเป็นการสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นที่เข้าใจง่าย
  • การสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ชื่อเฉพาะ "โตเกียว" ช่วยสร้างความแตกต่างจากขนมญี่ปุ่นอื่น ๆ และสร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมชนิดนี้
  • หลักการตั้งชื่อในภาษาไทย มักใช้คำบ่งประเภท (ขนม) ตามด้วยคำบ่งสถานที่ (โตเกียว) เป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไปในภาษาไทย เช่นเดียวกับการตั้งชื่ออาหารอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงต้นกำเนิด

ในมุมมองของผมคิดว่า ขนมโตเกียวเป็นมากกว่าขนม คือ เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ขนมโตเกียวไม่ใช่แค่ขนม แต่เป็นตัวอย่างของการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Cultural Hybridization) ที่เกิดขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลจากวัฒนธรรมหนึ่ง มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง การดัดแปลงขนมญี่ปุ่นให้กลายเป็นขนมโตเกียว แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาของคนไทย ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและรสนิยมของคนในสังคม ถ้าพูดแบบสัมยนี้ตามศาสตร์ทางการจัดการนวัตกรรมจะต้องใช้คำว่า นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation)

มีคนอยากให้ผมฟังธงว่าใครเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อว่าขนมโตเกียว ใครเป็นคนต้นคิดสูตรขนมโตเกียว ขนมโตเกียวขายที่ไหนเป็นแห่งแรก ผมยังคงมีหลักฐานทางเอกสารไม่เพียงพอ ต้นกำเนิดที่แท้จริงของขนมโตเกียวจะยังคงเป็นปริศนา ชวนให้ค้นหาและเป็นเรื่องราวเล่าเพิ่มรสชาติของขนมโตเกียว แต่เรื่องราวของขนมชนิดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของวัฒนธรรม การปรับตัว และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ขนมโตเกียวจึงไม่ใช่แค่ขนมในตลาดนัดธรรมดา ๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของไทย

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ

ในยุคนี้ เพื่อให้ทันตามสมัยนิยมและสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ผมอยากชวนวิเคราะห์ว่าขนมโตเกียวเป็น Soft Power ของขนมไทยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ด้วยการพิจารณาจากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามของ Soft Power และลักษณะเฉพาะของขนมโตเกียว

Soft Power คืออะไรนั้น ต่างคนต่างตีความ นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ตีความเป็นเชิงรัฐศาสตร์ คนทางแฟชั่นตีความตามศาสตร์ของกระแสแฟชั่น แต่ไม่ว่านักวิชาการหรือผู้รู้ทั้งแนวสนับสนุนรัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาลจะตีความกันอย่างไร ขอพักไว้ก่อน ในความเห็นส่วนตัว Soft Power คือ ความสามารถในการโน้มน้าวใจหรือดึงดูดใจผู้อื่นให้คล้อยตาม โดยไม่ใช้อำนาจบังคับหรือการใช้กำลัง (Hard Power) แต่ใช้วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศที่น่าดึงดูดใจ เป็นเครื่องมือ ตัวอย่างเช่น การเผยแพร่ภาพยนตร์ เพลง อาหาร แฟชั่น หรือแม้แต่วิถีชีวิต ขนมโตเกียวมีคุณสมบัติของ Soft Power อย่างไร ผมคิดว่า

  • ความเป็นสากล (Universality) แม้จะมีชื่อ "โตเกียว" และมีต้นแบบจากขนมญี่ปุ่นบางส่วน แต่ขนมโตเกียวได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย จนกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติที่หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน ทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย ไม่จำกัดเชื้อชาติหรือวัฒนธรรม
  • ความเข้าถึงง่าย (Accessibility) ขนมโตเกียวมีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด รถเข็นข้างทาง หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า ทำให้เข้าถึงผู้คนได้ทุกระดับ
  • ความน่าสนใจ (Appeal) รูปลักษณ์ที่น่ารับประทาน กลิ่นหอม และรสชาติที่อร่อย ทำให้ขนมโตเกียวเป็นที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่น
  • การเล่าเรื่อง (Storytelling) เรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของขนมโตเกียว แม้จะไม่แน่ชัด แต่ก็เป็นที่สนใจและถูกพูดถึง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และสร้างความผูกพันกับขนมชนิดนี้
  • การปรับตัว (Adaptability) ขนมโตเกียวมีการปรับตัวอยู่เสมอ มีการพัฒนาไส้ใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ขนมชนิดนี้ยังคงได้รับความนิยม

แล้วขนมโตเกียวในฐานะ Soft Power เป็นอย่างไร จากคุณสมบัติและอัตลักษณ์ข้างต้น ขนมโตเกียวมีศักยภาพในการเป็น Soft Power ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในบริบทของอาหารและวัฒนธรรมอาหารของไทย บางรู้ท่านหนึ่งแนะนำให้ผมเพิ่มคำว่า "ร่วมสมัย" ผมก็มีความเห็นไม่คัดค้าน ขนมโตเกียวจะเป็น Soft Power ได้ด้วย

  • การเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทย แม้จะมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น แต่ขนมโตเกียวในรูปแบบปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารริมทางของไทย การเผยแพร่ขนมโตเกียวไปยังต่างประเทศ อาจช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยในวงกว้างมากขึ้น
  • การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ ให้อาหารเป็นสื่อกลางที่ดีในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนขนมโตเกียวและเรื่องราวเกี่ยวกับขนมชนิดนี้ อาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกขนมโตเกียวเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่ได้ลิ้มลองขนมโตเกียว อาจเกิดความสนใจในวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และอยากกลับมาท่องเที่ยวอีก

หากพิจารณาขนมโตเกียวในบริบทของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ผมคิดว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ ด้วยการบรรจุขนมโตเกียวเข้าในแผนการประชาสัมพันธ์เป็นขนมไทยร่วมสมัย แม้จะมีชื่อที่สื่อถึงญี่ปุ่น แต่ด้วยวิวัฒนาการและการปรับตัวให้เข้ากับบริบทไทย ทำให้ขนมชนิดนี้มีศักยภาพที่จะเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้ หากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเหมาะสม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้ขนมโตเกียว ผมเสนอว่า เราต้องดำเนินการ

  1. การสร้างเรื่องราว (Storytelling) และอัตลักษณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับขนมโตเกียว เช่น การเล่าถึงวิวัฒนาการจากขนมญี่ปุ่นสู่ขนมไทย การปรับปรุงรสชาติและไส้ให้ถูกปากคนไทย หรือการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความน่าสนใจให้กับขนมชนิดนี้ รวมถึงการสร้างแบรนด์หรือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยในขนมโตเกียว

  2. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของขนมโตเกียว ทั้งในด้านวัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต และบรรจุภัณฑ์ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

  3. การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดงานเทศกาลขนมโตเกียว การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ หรือการร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มการรับรู้และความนิยมของขนมโตเกียว โดยการจัดร่วมกับขนมไทยอื่น ๆ ในคราวเดียวกัน แยกเป็นขนมไทยร่วมสมัย

  4. การสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะ และการสร้างเครือข่าย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ

  5. การเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วยการนำขนมโตเกียวไปผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น การนำเสนอขนมโตเกียวในงานเทศกาลวัฒนธรรม หรือการสร้างสรรค์ไส้ขนมโตเกียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาหารต่างชาติ จะช่วยเพิ่มความหลากหลายและสร้างความน่าสนใจ

ภาพของขนมโตเกียวของป้าตลาดนัดซอยแอนแนกซ์ เขตสายไหม กรุงเทพฯ


ผมลองคิดเล่นด้วยการประเมินศักยภาพของขนมโตเกียวในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยวิธี SWOT อย่างง่าย ๆ ธรรมดา ๆ พื้น ๆ ไม่เจาะลึก พบว่า
  • จุดแข็ง คือ ขนมโตเกียวเป็นที่รู้จักและนิยมในประเทศไทย มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ง่าย และมีรสชาติที่หลากหลาย
  • จุดอ่อน คือ การรับรู้ในระดับสากลยังจำกัด และยังขาดการส่งเสริมและการตลาดอย่างเป็นระบบ
  • โอกาส คือ กระแสความนิยมในอาหารริมทางและวัฒนธรรมอาหาร รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันขนมโตเกียว
  • อุปสรรค คือ การแข่งขันกับขนมและอาหารอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความท้าทายในการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน

อย่างที่กล่าวนั้น รัฐบาลสามารถใช้ขนมโตเกียวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ได้ โดยมุ่งเน้นการสร้างเรื่องราว การพัฒนาคุณภาพ การส่งเสริมการตลาด และการสนับสนุนผู้ประกอบการ การทำเช่นนี้จะช่วยยกระดับขนมโตเกียวให้เป็นที่รู้จักและนิยมในระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

คราวนี้ ผมมองขนมโตเกียวในฐานะตัวอย่างของ "Thailandization" หมายถึง การทำให้เป็นไทย (หรืออีกคำคือก "Thaification") กล่าวอย่างง่าย คือ ทำให้ของขนมญี่ปุ่นเป็นขนมไทย ขนมโตเกียวแสดงให้เห็นถึงกระบวนการ Thailandization อย่างชัดเจนในหลายด้าน

  1. การรับอิทธิพลจากญี่ปุ่นและแรงบันดาลใจจากขนมญี่ปุ่น เช่น โดรายากิ หรือเครปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นขนมที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาที่ขนมโตเกียวเริ่มปรากฏในประเทศไทย

  2. การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และรสชาติได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์จากขนมต้นแบบอย่างชัดเจน เช่น จากโดรายากิที่เป็นแป้งสองแผ่นประกบกัน ก็กลายเป็นแป้งแผ่นเดียวม้วนห่อไส้ต่างๆ นอกจากนี้ รสชาติของขนมโตเกียวก็ได้รับการปรับให้เข้ากับรสนิยมของคนไทย โดยมีไส้ที่หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน เช่น ไส้ครีม ไส้ไข่ ไส้กรอก ไส้หมูสับ หรือไส้สังขยา ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยคุ้นเคย

  3. การตั้งชื่อ "ขนมโตเกียว" เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการ Thailandisation แม้ว่าขนมชนิดนี้จะไม่มีขายในโตเกียวหรือญี่ปุ่น แต่ชื่อนี้กลับสื่อถึงความเป็นญี่ปุ่นในความรับรู้ของคนไทยในยุคนั้น ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชาญฉลาดในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค

  4. การผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยจนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารริมทางของไทย โดยมักพบเห็นได้ตามรถเข็นข้างทาง หน้าโรงเรียน หรือตลาดนัด ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นเคยของคนไทย

  5. การสร้างความหมายใหม่ในบริบทของสังคมไทย โดยไม่ได้เป็นเพียงแค่ขนมญี่ปุ่น แต่กลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยทุกเพศทุกวัย และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน

ผมสรุปว่าขนมโตเกียวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของกระบวนการ Thailandisation ที่ประสบความสำเร็จ โดยได้นำเอาแรงบันดาลใจจากขนมญี่ปุ่นมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และผสมผสานให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย จนกลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่นิยม และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารไทย การวิเคราะห์ผ่านมุมมองของ Thailandisation ช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาและวิวัฒนาการของขนมโตเกียวได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเป็นขนมไทยที่เหมาะแก่การสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ในระดับนโยบายเพื่อให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ขนมไทยได้อีกชิ้นหนึ่ง

ณัฐพล จารัตน์

กรุงเบอร์ลิน

อากาศเช้านี้ 3 องศา พยากรณ์อากาศคาดว่าหิมะจะตกครั้งแรกของปีนี้