Tuesday, November 28, 2023
เช้าวันแห่งหิมะในกรุงเบอร์ลิน 28 พฤศจิกายน 2566
Sunday, November 26, 2023
"ในหลวง" ทรงตอบข้อซักถามของท่านทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เกี่ยวกับ "ความผูกพันกับคนรุ่นใหม่กับประเทศไทย"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาในการทรงตอบข้อซักถามและพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับบทบาททางการทูตในสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน ในโอกาสนี้ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กราบบังคมทูลถามว่า
"ในภาวะปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของชุมชนไทยในต่างประเทศ จากรุ่นเก่าไปสู่รุ่นใหม่ ขอพระราชทานแนวทางในการปลูกฝังเรื่องของความผูกพันกับคนรุ่นใหม่กับประเทศไทย"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า "รุ่นเก่ารุ่นใหม่มันมีตลอดเวลา รุ่นใหม่ก็กลายเป็นรุ่นเก่า ไม่แน่ว่า รุ่นเก่าคืออะไร รุ่นใหม่คืออะไร เพราะสมัยเราหนุ่มๆ กัน เราก็รุ่นราวใกล้เคียง เค้าก็ว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่คนสมัยนี้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น สมัยลุงสมัยป้าคนเค้าคิดอย่างงี้อย่างงั้น คนรุ่นใหม่ไม่มีความคิด คนรุ่นใหม่เป็นอย่างนู้นอย่างนี้ เราก็เคยเป็นคนรุ่นใหม่กันทั้งนั้นที่อยู่ในห้องนี้ คนไทยก็ควรมีความภูมิใจว่า เรามีเชื้อชาติของเผ่าไทยคนไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณี มีค่านิยมในความเป็นคนไทย มีภาษา มีศาสนา แล้วก็ทุกคนก็มีความคิดที่ดีส่วนใหญ่ ส่วนรุ่นใหม่ รุ่นเก่านั้น สมัยก่อนเป็นนักเรียน เป็นเลขาตรี คนสมัยก่อนมาบอก ทูตเค้าก็มาบอกว่า พวกคุณคนรุ่นใหม่คิดอย่างนี้คิดอย่างนั้น สมัยผมควรจะทำอย่างนี้ มันก็พอกันนั่นแหละ รุ่นเก่ารุ่นใหม่ ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ ทุกคนก็ต้องเข้าใจ ประสบการณ์ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ เป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น แต่ก็ไม่มีใครอยากเป็นคนรุ่นเก่าหรอก ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ขึ้น
กระทรวงการต่างประเทศชอบพูด สมัยก่อน พวกข้าพเจ้าเป็นคนหัวก้าวหน้า มันก็ต้องก้าวหน้า ก้าวหน้าในทางที่ถูกต้อง ไม่ก้าวหน้ามันก็เป็นเต่าล้านปี แต่ถ้าก้าวหน้า แล้วความคิดไม่สร้างสรรค์ ความคิดบ่อนทำลาย มันก็ไม่ใช่ความก้าวหน้า เหมือนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าเหมือนกัน คนรุ่นปัจจุบันก็คือคนรุ่นใหม่ คนเก่าพัฒนามาเรื่อยๆ วันเวลาผ่านไป เกิดดับ เกิดดับไป ทุกวันที่เราตื่นมาเราก็เป็นคนใหม่ คนรุ่นใหม่ แต่เรามีประสบการณ์ เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่ก็เหมือนกับพวกเราทุกคน เค้าต้องมีประสบการณ์ เค้าต้องได้ความเข้าใจ ความรู้ การเรียนรู้ต่างๆ
ขอขอบใจทุกคนที่มา ขอขอบใจทุกคนที่ตั้งใจทำงาน มีความคิดและทัศนคติที่ดีต่อประเทศ และทุกคนก็ขอให้เป็นคนรุ่นใหม่ในทางที่ดีที่ถูก จะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ก็เป็นคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นใหม่ที่รับสถานการณ์ที่ dynamic สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และเราก็มีค่านิยมของประเทศชาติที่เป็นจุดยืนอยู่แล้ว ก็ขอขอบใจ ขอให้มีความสุขความเจริญ"
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดฯ
แหล่งที่มา: ข่าวในราชสำนัก หน่วยราชการในพระองค์ https://www.royaloffice.th/court-circular/
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท"
Thursday, November 23, 2023
กฎหมายข้อบังคับสำหรับนักเรียนสยามที่เรียนวิชา ณ ประเทศยุโรป
กฎหมายข้อบังคับสำหรับนักเรียนสยามที่เรียนวิชา
ณ ประเทศยุโรป
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า บันดาเด็กคนไทยทั้งหลายที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ออกไปเล่าเรียนวิชาอยู่ ณ ประเทศยุโรปนั้น
โดยพระบรมราชประสงค์เพื่อจะให้ได้วิชา เวลากลับเข้ามากรุงเทพฯ จะได้ทำการสิ่งซึ่งเปนประโยชน์แก่ราชการแลบ้านเมืองต่อไป
เพราะเหตุฉนั้น จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเด็กไทยส่งออกไปเล่าเรียนวิชา
แลพระราชทานเงินหลวงเปนค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า กินอยู่เบ็จเสร็จตามสมควร
แลนักเรียนที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเรียนวิชามาแต่ก่อน ๆ นั้น บางคนก็ได้ตั้งใจอุส่าห์หมั่นในการเล่าเรียนจริง
ๆ จนได้ปาสเอกซำมิเนชัน คือ ไล่สอบวิชาครบสำเร็จการเล่าเรียนโดยเร็วก็มี
แลบางคนนั้นเกียจคร้านแก่การเล่าเรียน ๆ ไปกระนั้นโดยไม่เต็มใจ แลไม่คิดรักวิชา
เชือนแชทำให้เสียเวลา แลไม่คิดมุ่งหมายที่จะให้ได้สอบไล่วิชา
แลบางคนนั้นประพฤติการชั่วจนต้องส่งตัวกลับเข้ามากรุงเทพฯ นักเรียนที่เกียจคร้านก็ป่วยการเสียเวลา
นักเรียนที่ประพฤติชั่วก็เสียเวลาแลเงินเปล่า เพราะฉนั้น จึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ
ให้มีพระราชบัญญัติกฎหมายข้อบังคับสำหรับนักเรียนไทยที่โปรดเกล้าฯ
ให้ออกไปเรียนวิชาอยู่ ณ ประเทศยุโรป ไว้สืบต่อไปภายน่าดังนี้
ข้อ ๑ ว่า บันดานักเรียนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ออกไปเล่าเรียนวิชาอยู่ ณ ประเทศยุโรปนั้น จะให้มีกำหนดการเล่าเรียนไว้เปนชั้น
ๆ ตามการที่ได้เล่าเรียนที่ดีเปนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ โดยลำดับกัน คือ ชั้นที่ ๑ นั้น
ถ้านักเรียนคนใดตั้งใจหมั่น อุส่าห์เล่าเรียนได้ไล่สอบวิชาจนจบครบเสร็จ
สำเร็จการเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ ในระหว่าง ๓ ปี ๔ ปี ดังนี้ ต้องจัดแลเรียกว่า
นักเรียนชั้นที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานบำเหน็จรางวัลให้แก่นักเรียนผู้ได้ไล่สอบวิชาแล้วโดยเร็วนั้นเปนความชอบเปนเงิน
๕๐ ปอนด์ กับเงินค่าสมุดหนังสือตำราที่ได้เล่าเรียนมาอีกตามสมควร
เปนเงินไม่เกินกว่า ๕๐ ปอนด์
ข้อ ๒ ว่า นักเรียนที่ได้ไล่สอบวิชาเหมือนกันกับชั้นที่
๑ ฤาข้อที่ ๑ ก็ดี แต่การที่เล่าเรียนนั้นได้ช้ากว่า คือ เรียนอยู่ในระหว่าง ๕ ฤา
๖ ปี จึ่งได้ไล่สอบวิชาดังนี้ ต้องเรียกว่าเปนนักเรียนชั้นที่ ๒
พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานบำเหน็จแก่นักเรียนผู้นั้นเปนรางวัลเปนเงิน ๒๕ ปอนต์ กับเงินค่าสมุดหนังสือ
วิชาที่ได้เล่าเรียนมานั้นอีกเปนเงินไม่เกินกว่า ๒๕ ปอนด์
ข้อ ๓ ว่า
นักเรียนที่จะได้ไล่สอบวิชาเหมือนกันกับชั้นที่ ๑ แลชั้นที่ ๒ ก็ดี
แต่ถ้าเรียนได้ช้าลงมากว่านักเรียนชั้นที่ ๒ คือ ต้องเรียนอยู่ถึง ๗ ปี ๘ ปี
ฤากว่านี้ขึ้นไปก็ดี นักเรียนชนิดนี้ต้องจัดเปนที่ ๓ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนผู้นั้นเปนเงิน ๑๐ ปอนด์
กับเงินค่าสมุดหนังสือวิชาที่ได้เล่าเรียนมานั้นอีกตามสมควรเปนเงินไม่เกินกว่า ๑๐
ปอนด์ เท่านั้น
ข้อ ๔ ว่า นักเรียนที่ทรงพระกรุราโปรดเกล้าฯ
ให้ออกไปเล่าเรียนวิชา ณ ประเทศยุโรปนั้น ต้องคิดรักษาพระเกียรติยศแลชื่อเสียงไว้
อย่าให้เปนที่ติเตียน แลเสียไปในการชั่วต่าง ๆ ดังที่มีตัวอย่างมาแล้วแต่ก่อน ๆ
ซึ่งเปนที่เสียชื่อเสียงแล้ว ทั้งเงินทั้งเวลาไปด้วยเปล่า ๆ
ข้อ ๕ ว่า ถ้านักเรียนผู้ใดประพฤติตัวเปนคนชั่วชั้นที่
๑ คือ เปนผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้นให้ส่งกลับเข้ามากรุงเทพฯ ในทันใด
แลให้ค่าโดยสารแต่เพียงชั้นที่ ๓ เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วจะต้องทำโทษหนักแลเบา
ข้อ ๖ ว่า บันดานักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป
ก็ต้องเรียกว่าเปนคนชั้นผู้ใหญ่แล้ว
ถ้าคนใดไปเที่ยวซุกซนทำให้ตัวเจ็บอย่างหนึ่งอย่างใด
ซึ่งทำให้เสียเงินแลเสียเวลาเล่าเรียนดังนี้ ต้องจัดเปนนักเรียนชั่วที่ ๒
ต้องให้ส่งตัวผู้นั้นไปให้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลของเมืองนั้น
กว่าจะหายเงินค่าเรียนส่วนที่ได้รับพระราชทานในระหว่างป่วยนั้น
ถ้าป่วยถึงเดือนไม่ต้องเบิกเงินให้
ถ้าป่วยไม่ถึงเดือนต้องเก็บเอาเงินนั้นรักษาไว้ให้เปนค่าสิ่งใดในเวลาเมื่อผู้นั้นกลับกรุงเทพฯ
ตามแต่เจ้าพนักงานผู้จัดการจะเหนสมควรว่าเปนค่าสิ่งนั้น ๆ ให้มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ
ข้อ ๗ ว่า นักเรียนคนใด ๆ ก็ดี
ถ้าไม่มีเงินทองของตัวแล้ว ไปเที่ยวซื้อเชื่อเข้าของต่าง ๆ ตามห้างแลร้านเขาก็ดี
ฤาไปเที่ยวกู้ยืมทำหนี้สินต่าง ๆ ดังที่ว่ามานี้ที่เปนเงินฤาของราคาตั้งแต่ ๕
ปอนด์ขึ้นไป ๔๐ ปอนด์ เจ้าหนี้เจ้าของมาทวงว่ากล่าวฟ้องร้องพิจารณาได้ความจริงดังนี้
ต้องจัดเปนความชั่วชั้นที่ ๓ ให้ส่งตัวผู้นั้นให้ครูทำโทษ คือ
เมื่อสิ้นเวลาเล่าเรียนแล้วให้ครูเอาตัวขังห้องไว้ไม่ให้ไปข้างไหน
แลให้ลดเงินค่าอาหารเสื้อผ้าแลปอกเกตมันนี คือ เงินค่าใช้สอบติดตัวเล็กน้อย
กว่าจะเก็บเงินส่วนคนผู้นั้นได้ใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้เจ้าของครบเสร็จแล้วจึ่งให้พ้นโทษ
แต่ถ้าทำหนี้กว่า ๔๐ ปอนด์ขึ้นไปต้องนับเปนคนผิดอย่างชั่วที่ ๑
ข้อ ๘ ว่า
นักเรียนผู้ใดที่ได้ไล่สอบวิชาที่สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลนั้นต้องเปนคนประพฤติตัวดี
ไม่มีความผิดข้อสำคัญที่ทำให้เสียพระเกียรติยศ แลชื่อเสียงฤาตามข้อ ๕
จึ่งจะได้รับพระราชทานบำเหน็จตามความดีความชอบได้
ข้อ ๙ ว่า นักเรียนคนใดที่มิได้ป่วยไข้สิ่งใด
ฤามิได้อนุญาตจากครูที่จะหยุดการเล่าเรียน
ถ้าผู้ใดแชเชือนบิดพลิ้วเกียจคร้านไม่ไปเล่าเรียนตามเวลากำหนดของตัว
ถ้าครูฟ้องว่านักเรียนผู้นั้นขาดการเล่าเรียน ได้ความจริงดังครูกล่าวแล้ว
ต้องให้คิดเงินส่วนค่าเล่าเรียนที่ได้นั้นออกเปนรายวันตามที่ขาดเท่าใด
ให้ชักเอาเงินนั้นไว้เหมือนข้อที่ ๖ ที่ว่ามาแล้ว
ข้อ ๑๐ ว่า ข้อความต่าง ๆ
ทั้งปวงที่ได้มีมาข้างต้นในข้อบังคับฉบับนี้
ถ้ามีเหตุที่แปลกประหลาดออกไปในส่วนการเล่าเรียนก็ดี
ฤาเหนว่าข้อใดควรจะเพิ่มเติมใหเปนประโยชน์แก่การเล่าเรียนได้ดีเรียบร้อยต่อไปภายน่าได้อย่างไร
ก็ให้เจ้าพนักงานผู้เปนธุระดูแลนักเรียน มีใบบอกเพิ่มเติมตามข้อนั้นหาฤาเข้ามายังกรุงเทพฯ
ตามเหตุตามการที่เหนว่าจำเปนที่จะต้องเพิ่มเติม ให้สมควรแก่การเล่าเรียนนั้นต่อไปอย่างไร
จะได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
จะได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตเพิ่มเติมตามสมควรแก่การเล่าเรียน
ข้อ ๑๑ ว่า กฎหมายข้อบังคับนี้ ราชทูตฤาผู้แทนทูตสยามต้องรักษา
ทำตามน่าที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
แลนักเรียนคนไทยทั้งหลายที่ทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ ให้ออกไปเล่าเรียนอยู่ ณ
ประเทศยุโรปทุก ๆ คนต้องประพฤติแลทำตามกฎหมายข้อบังคับนี้ทุกประการ
ข้อบังคับนี้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นไว้แต่ ณ วันจันทร์
ที่ ๖ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ เปนวันที่ ๗๗๒๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
(ราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ ๖ แผ่นที่ ๔๔ วนที่ ๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ หน้า ๓๗๙ – ๓๘๑)