**บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***
ปาริฉัตร์ อนุชชาลาคม รหัสนักศึกษา 52132240-4 sec.1
นักศึกษาผู้เขียน
คำว่า วัฒนธรรม แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นแบบแผนในความคิด และการกระทำที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตที่มีการสืบทอดการกันมา เปรียบเสมือนการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์วิธีการในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนความเชื่อ และความนิยมของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งฟังแล้วอาจจะรู้สึกได้ถึงความซับซ้อนและแตกต่าง แต่คงไม่มีใครปฎิเสธได้หรอกว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญไม่ว่าจะทั้งวัฒนธรรมในชนชาติของตนหรือวัฒนธรรมของชนชาติอื่นก็ตาม
การเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อน การไปศึกษาต่อ การไปประกอบอาชีพ หรือการย้ายถิ่นฐาน ล้วนเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับหลายๆคน แต่การจะอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่างเป็นสุขนั้นคงจะไม่ง่ายอย่างที่คาดการณ์ไว้เสมอไป
การเตรียมพร้อมในด้านข้อมูลต่างๆของประเทศที่จะเดินทางไป เป็นเรื่องที่พึงกระทำเป็นที่สุด ผู้เดินทางจำเป็นที่จะต้องศึกษารูปแบบวัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชนชาตินั้นไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิด Culture Shock และเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ผู้เดินทางสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆในต่างแดนได้อย่างดีและเร็วมากขึ้น
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในอันดับต้นๆของโลกที่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น และแสดงเอกลักษณ์ของชาติตนออกมาได้อย่างชัดเจน ความหลากหลายในวัฒนธรรมของชนชาตินี้ มีสาระและแฝวงไปด้วยความน่าสนใจอย่างมาก ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับข้าพเจ้าไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า เพราะชนชาวญี่ปุ่นมีความรักชาติสูงมาก จึงส่งผลให้บุคลากรของชนชาตินี้รักในวัฒนธรรมและประเพณีของพวกเขามากด้วยเช่นกัน การให้ความสำคัญแม้แต่กับเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ไม่เคยขาดหาย ความละเอียดละออของสิ่งต่างๆก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังคงคุณค่าเสมอมา
ประเทศญี่ปุ่นสามารถทำให้คำว่าวัฒนธรรมที่ฟังดูซับซ้อนและน่าเบื่อ กลายเป็นกิจกรรมที่น่าสนุก และสร้างความเพลิดเพลินให้กับคนทุกวัยได้อย่างน่ามหัศจรรย์ รวมทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
โอะริกามิ (ORIGAMI) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน โอะริกามิเป็นงานฝีมือในการพับกระดาษสีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น รูปดอกซากุระ หรือสัตว์น่ารักต่างๆ เป็นต้น การพับกระดาษนี้เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพับเพื่อเป็นงานอดิเรก และสามารถนำเอาโอะริกามิมาประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อการสอนในโรงเรียนได้อีกด้วย
ในปัจจุบัน โอะริกามิได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆทั่วโลก ในฐานะที่เป็นงานฝีมือที่ใช้สติปัญญาและความประณีตคล่องแคล่วของนิ้วมือ
และเมื่อพูดถึงเครื่องดื่มที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันมากที่สุด ก็คงจะเป็นเครื่องดื่มที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ มัทฉะ หรือชาเขียวนั่นเอง คนญี่ปุ่นไม่เพียงแค่ชื่นชอบการดื่มชาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญการชงชาด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดพิธี ชะโนะยุ (CHANOYU) ขึ้น
พิธีชะโนะยุ คือพิธีชงชา ซึ่งเป็นพิธีการดื่มมัทฉะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เริ่มด้วยการใส่ชาสีเขียวป่นลงในถ้วยชาแบบเฉพาะ (CHAWAN) รินน้ำร้อนใส่ จากนั้นคนจนเป็นฟองด้วยไม้คนชาที่ทำด้วยไม้ไผ่ (CHASEN) จากนั้นก็ดื่มได้
พิธีชงชาจะจัดขึ้นในห้องน้ำชาที่เงียบสงบ มีบรรยากาศที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบฉบับของญี่ปุ่น ซึ่งประดับไปด้วยภาพแขวนหรือแจกันดอกไม้ที่ตกแต่งตามฤดูกาล โดยพิธีชงชานี้ แฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้ง มีองค์ประกอบต่างๆมากมาย ทั้งในด้านกิริยามารยาท และด้านจิตวิญญาณต่างๆ
สตรีญี่ปุ่นวัยสูงอายุจำนวนมากให้ความสนใจ และเรียนรู้พิธีชงชาแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับเรียนรู้การจัดดอกไม้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีของสตรี
นอกจากกิจกรรมเพลิดเพลินที่น่าสนใจต่างๆของญี่ปุ่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่น และแสดงเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นออกมาได้อย่างงดงามตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือการแต่งกาย ด้วยชุดยุคะตะ (YUKATA) ที่เป็นกิโมโนผ้าฝ่ายชนิดหนึ่งซึ่งมีลวดลายพื้นๆ ง่ายๆ แบบดั้งเดิม
ทั้งหญิงและชายจะสวมยุคะตะเป็นชุดลำลองในฤดูร้อน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสวมยุคะตะคือ เวลาที่ออกไปพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้านตั้งแต่เย็นจนถึงค่ำ ตลอดจนไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลโอะบ้ง เป็นต้น
ข้าพเจ้าเชื่อว่า แต่ละประเทศก็ต่างมีชุดประจำชาติของตนเช่นกัน แต่จะมีสักกี่ประเทศที่จะสามารถจูงใจให้คนในชาติ รักและภูมิใจในชุดประจำชาติของตน และนำมาสวมใส่ได้บ่อยครั้งเท่ากับคนญี่ปุ่น
ประเพณีการมอบของขวัญเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่น่าชื่นชม โดยคนญี่ปุ่นจะมอบของขวัญให้กับผู้ที่มีอุปการะคุณ เพื่อแสดงความขอบคุณ ปีละ2ครั้ง คือในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว
แต่ดั้งเดิมผู้ได้รับการอุปการะจะไปเยี่ยมผู้ที่มีอุปการะคุณแล้วมอบของขวัญพร้อมกล่าวอวยพรด้วยตนเอง แต่เนื่องจากชีวิตสมัยใหม่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ผู้คนจึงมักขอให้ทางห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่ตนไปซื้อของขวัญช่วยส่งให้ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ห้างสรรพสินค้าจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ
นี่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู รู้คุณ และความเอาใจใส่ผู้อื่น ที่คนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังกันมาเป็นอย่างดี ถึงการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่การทดแทนบุญคุณยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมญี่ปุ่นอยู่เสมอ
หากผู้ใดมีความประสงค์ที่จะไปทำงาน หรือย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและทุกคนจำเป็นต้องมี คืออิงคัง (INKAN) หรือตราประทับนั่นเอง ซึ่งโดยปกติ อิงคังจะสลักชื่อผู้ใช้หรือชื่อองค์การหรือบริษัท เพื่อใช้ในการยืนยันลายเซ็นหรือชื่อที่พิมพ์ขึ้นของบุคคลบนเอกสารแทบทุกชนิด โดยมีผลทางกฎหมายอย่างถูกต้อง
ถึงแม้ทุกวันนี้การใช้บัตรเครดิตกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นและการดำเนินธุรกิจก็ลงเอยด้วยลายเซ็นเพียงอย่างเดียวมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม อิงคังก็ยังมีการใช้อยู่ในญี่ปุ่น
สิ่งสำคัญก็คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินส่วนใหญ่ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าหากไม่ประทับอิงคังลงบนแบบฟอร์มใบสมัครทำบัตรเครดิต ทางธนาคารก็จะไม่ทำการอนุมัติออกบัตรให้
การยึดมั่นในกฎเกณฑ์และปฎิบัติตนตามกฎอย่างเคร่งครัดอาจจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นดูเป็นประเทศที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนเสมอ แต่ในอีกมุมหนึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเป็นผู้มีวินัย ประพฤติตนตามกฎระเบียบของสังคมได้อย่างน่ายกย่อง
อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดของสังคม เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ยังให้ความสำคัญ จึงไม่แปลกที่มีการจัดเทศกาลต่างๆขึ้นมากมายในสังคมญี่ปุ่น
ฮินะ มัทสึริ (HINA-MATSURI) เป็นเทศกาลหนึ่งที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึงการที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญแม้กระทั่งกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ โดยในแต่ละห้องตามบ้านเรือนจะประดับชุดตุ๊กตาฮินะ เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กผู้หญิงเติบโตมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค และอันตรายต่างๆ
เมื่อใกล้ถึงวันเทศกาลตุ๊กตา เด็กๆจะสนุกสนานกับการพับตุ๊กตากระดาษหรือการปั้นตุ๊กตาดินเหนียว วาดภาพและร้องเพลงของเทศกาลตุ๊กตา ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเทศกาลตุ๊กตาไม่ได้จัดขึ้นมาเพื่ออวยพรให้กับเด็กผู้หญิงเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้เด็กๆในยุคปัจจุบันได้รับรู้กลิ่นอายของประเพณีดั้งเดิมและช่วยให้ผู้ใหญ่ได้ระลึกถึงความหลังอันแสนสนุกสนานอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเข้าสังคมญี่ปุ่น คือมารยาทในการรับประทานอาหาร สำหรับอาหารแบบญี่ปุ่นจะมีการปรุงอาหารทะเลสดหรือผักตามฤดูกาล เพื่อเสริมให้คงรสชาติธรรมชาติ อาหารจะถูกจัดเรียงไว้อย่างสวยงาม มีการตกแต่งด้วยใบไม้หรือดอกไม้บางชนิด เพื่อแสดงถึงฤดูของปีไว้บนภาชนะใส่อาหารที่สวยงาม
เมื่อเริ่มรับประทานอาหาร คนญี่ปุ่นจะหยิบตะเกียบขึ้นมาด้วยมือขวาแล้วรับด้วยฝ่ามือซ้าย จากนั้นค่อยๆเลื่อนนิ้วมือขวามาทางปลายด้านขวาของตะเกียบแล้วจับไว้
ส่วนการรับปะทานซุป จะจับถ้วยด้วยมือซ้ายแล้วเปิดฝาออกด้วยมือขวา หงายด้านในของฝาขึ้นด้วยมือทั้งสองข้าง จากนั้นวางลงทางด้านขวามือ แล้วจึงค่อยหยิบถ้วยซุปขึ้นมาด้วยมือทั้งสองข้าง
เวลารับประทานข้าวจะต้องเปิดฝาครอบถ้วยข้าวออกด้วยมือซ้าย หงายด้านในของฝาขึ้นแล้ววางลงทางซ้ายมือ โดยใช้มือขวาช่วย
การรับประทานอาหารญี่ปุ่นให้ถูกต้องตามมารยาท ผู้รับประทานควรจะศึกษามารยาทต่างๆบนโต๊ะอาหารให้ถี่ถ้วน และควรจดจำลำดับการรับประทานอาหารให้ขึ้นใจ คนญี่ปุ่นจะดื่มน้ำซุปก่อน 1 คำ จากนั้นจึงค่อยรับประทานข้าวและกับข้าวสลับกันไปมา หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็จะต้องยกฝาปิดถ้วยทั้งหมด เช็ดปลายตะเกียบด้วยกระดาษเช็ดปากแล้ววางลงข้างหน้า
ผู้คนสมัยใหม่อาจจะเกิดข้อสงสัยกันว่า แค่การรับประทานอาหาร ทำไมจะต้องมีกฎเกณฑ์มากมาย? แต่ข้าพเจ้ามองในอีกมุมหนึ่งว่าการมีกฎเกณฑ์เปรียบเสมือนการคงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมและเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่แต่ละประเทศควรจะให้การยกย่อง ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องของการรับประทานอาหารเท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกๆความยุ่งยากและความซับซ้อนในแต่ละวัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราทิ้งไว้ให้เป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาติ ซึ่งคู่ควรแก่การรักษาและสืบทอด เพื่อให้โลกของเราคงความงดงามสืบต่อไป
บรรณานุกรม
หนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น (First Published in Thailand by TPA Press September 1997)
http://www.japankiku.com/tour/story2003.html
http://www.chalitar.ob.tc/page_18.html
No comments:
Post a Comment