Search This Blog

Saturday, August 27, 2011

#บทความนักศึกษา : "ญี่ปุ่น : สังคมผู้สูงอายุ"

 ***บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***

กฤชพร  พิศิษฐเจริญ  รหัสนักศึกษา 52132015-0 กลุ่มเรียน 3

นักศึกษาผู้เขียน 

 บทนำ   

ในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง  ยุคแห่งเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับวิวัฒนการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น มีอายุยืนยาว และมีอัตราการตายลดลง  แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาจากเหตุการณ์นี้ก็คือ อัตราส่วนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งก่อให้เกิดสังคมผู้สูงวัยตามมา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และก็คงปฏิเสธิไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อยู่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นนอกจากจะเป็นผลมาจากความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการดำรงชีวิตที่เอื้ออำนวยให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเกี่ยวเนื่องกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงจนเหลือสัดส่วนผู้หญิง 1 คนจะมีลูกเฉลี่ย 1.26 คน  ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลกเลยทีเดียว




 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพจาก web site www.thairath.co.th

 

ความหมายของผู้สูงวัย

คำว่าผู้สูงวัยหรือคนชรานั้น โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีอายุมาก  ผมขาว  หน้าตาเหี่ยวย่น  การเคลื่อนไหวเชื่องช้า  โดยหากอ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542 : 347) ได้ให้ความหมายคำว่าชราว่า   แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม  แต่คำนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะ ก่อให้เกิดความหดหู่ใจ และความถดถอยสิ้นหวัง   อย่างไรก็ตามได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าผู้สูงวัยไว้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถนำมาสรุปได้พอสังเขปว่า  ผู้สูงวัย  หมายถึง   ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป  ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจไปในทางที่เสื่อมลง มีบทบาททางสังคม และกิจกรรมในการประกอบอาชีพลดลง

จากการกำหนดว่า บุคคลที่มีอายุ  65  ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงวัย  องค์การอนามัยโลก (WHO)  ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้สูงวัยออกเป็น  3  ช่วงอายุ ดังต่อไปนี้

1. ผู้สูงวัยช่วงต้น   อายุ  65 – 74 ปี

2. ผู้สูงวัยช่วงปลาย  อายุมากกว่า  75 ปี

3. ผู้สูงวัยช่วงสุดท้าย  อายุมากกว่า  85 ปี

 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงวัย

ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 127  ล้านคน ซึ่งสัดส่วนร้อยละ 20  ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า  โดยอายุเฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 82 ปี  ญี่ปุ่นจึงนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวที่สุดประเทศหนึ่งในโลก 

 

ภาพจาก web site http://www.ipsr.mahidol.ac.th  
 
จากภาพกราฟที่แสดงถึงสัดส่วนประชากรญี่ปุ่นข้างต้น  สะท้อนแนวโน้มการลดลงของประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) อย่างชัดเจน โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ตั้งแต่ค.ศ. 1900  ลดลงจากร้อยละ 24 ของประชากรทั้งประเทศ  เหลือเพียงร้อยละ 14 ในค.ศ. 2004  และมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอีก 40-50 ปีข้างหน้าว่า ประชากรกลุ่มนี้จะลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 11 ของจำนวนประกรทั้งหมด   ส่วนสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ( 15-64 ปี)  จะลดลงจากร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดใน ค.ศ.1900  เหลือเพียง ร้อยละ 67 ในค.ศ. 2004    และหากมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอีก 50 ปีข้างหน้า คือ ใน ค.ศ. 2050 สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 54  ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏในรูปว่า ในปีค.ศ. 2004      ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  การที่โครงสร้างของประชากรเริ่มจะเอนเอียงไปทางวัยผู้สูงอายุมากขึ้น  ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆตามมาหลายประการ เช่น

 

 1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีน้อยลง รัฐบาลก็จะจัด

เก็บรายได้ลดลง ในขณะที่ต้องมีงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อดูแลประชากรสูงวัยเหล่านั้น

2. ปัญหาด้านการเงินเกี่ยวกับการต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านความปลอดภัยทางสังคม และการดูแลรักษาพยาบาลทางการแพทย์

3. ความต้องการทางสาธารณูปโภคของคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น

4. ค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญและสวัสดิการในกลุ่มคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดีปัญหาที่จะดูหนักสุดสำหรับสังคมผู้สูงวัย คือ เหล่าคนสูงวัยเองที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานหรือถึงแม้ว่าจะมีโอกาสแต่ก็มักจะถูกปิดกั้นความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ได้สะสมจากการทำงานมาตลอดชีวิต  และยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไขเพื่อให้กลุ่มคนสูงวัยได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายให้คุ้มค่า

 การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย

รัฐบาลถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกลไกทางสังคมที่นำไปสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น  โดยรัฐบาลพยายามที่จะทำให้ประชากรผู้สูงวัยทั้งหมดสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข  สังเกตได้จากการจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับกลุ่มคนสูงวัย  ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบลิฟท์และบันไดเลื่อนที่สถานีรถไฟ   รถโดยสารประจำทางที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยโดยตรง  สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้กับผู้สูงวัยเพื่อการเดินทางสัญจรไปมาได้โดยปราศจากอุปสรรค  นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษอื่นๆที่รัฐจัดขึ้นเพื่อที่จะกระตุ้นกลุ่มผู้สูงวัยให้มีการดำเนินชีวิตและเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทาสังคมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแล้ว  บริษัทที่ผู้สูงวัยทำงานก่อนการเกษียณอายุ  ก็ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก  โดยบริษัทญี่ปุ่นต่างๆได้จัดให้มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตในวัยชราให้แก่พนักงาน  ระบบนี้ถือเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายของการจ้างงานตลอดชีวิต  สิ่งที่บริษัทได้จัดทำ คือ การพยายามให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตหลังออกจากงาน  การแนะนำให้เข้าทำงานที่อื่นหลังเกษียณ  ตลอดจนการวางแผนด้านการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในวัยชรา   นอกจากนี้ในบางบริษัทเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยหลังเกษียณอายุ  บริษัทได้ยืดกำหนดเกษียณอายุออก  และมีการนำระบบเงินปีมาใช้

 เทศกาลประจำปีของผู้สูงวัย           

ในญี่ปุ่นจะมีประเพณีการฉลองวันเกิดสำหรับผู้สูงวัยซึ่งครอบครัวหรือเพื่อนฝูงจะมาชุมนุมกันจัดให้  เพื่อฉลองความมีอายุยืนและสุขภาพดี  เรียกว่า  วันแสดงความเคารพผู้สูงอายุ  (敬老の日)  ในปีค.ค. 1966  รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันเคารพผู้สูงอายุ    เป็นวันที่ 15 กันยายนของทุกปี  แต่ในปีค.ศ. 2000  เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเคารพผู้สูงอายุมาเป็นทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน  การจัดงานฉลองความมีอายุยืนได้ถูกจัดกันทั่วไป  และด้วยความปรารถนาที่จะมีอายุยืน ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจต่อการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและบริโภคอาหารที่มีแต่คุณประโยชน์  รวมถึงการแสวงหาความสุขและความสำเร็จภายในชีวิตหลังการเกษียณด้วย









 

ภาพมาจาก http://tosaknives.seesaa.net/article/52313893.html และ http://www.elearneasy.com/ 

การฉลองความมีอายุยืน  เหล่าครอบครัว ญาติ หรือ เพื่อนๆของผู้สูงวัยจะจัดงานเลี้ยงตามบ้านหรือภัตตาคารเพื่อฉลองช่วงอายุพิเศษให้ในวันเกิดหรือวันหยุดที่ใกล้เคียงกับวันเกิดหรือในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย  การฉลองช่วงอายุต่างๆมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. คังเระขิ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  60  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  60  ปีเรียกว่า  คังเระขิ  โดยคัง หมายถึง กลับคืน  และ เระขิ หมายถึง ปฏิทิน  คังเระขิ เป็นการฉลองที่หมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครั้งที่ 2 ตามวัฏวักรเอโตะ 
 
2.  โคะคิ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  70  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  70  ปีเรียกว่า  โคะคิ  โดยโคะ หมายถึง เก่าแก่  และ คิ หมายถึง หายาก ไม่ค่อยมี  โคะคิได้ถูกตั้งชื่อตามวลีในโคลงที่แต่งโดยตู้ฝู่ (กวีจีนในสมัยราชวงศ์ถังช่วงศตวรรษที่ 8) ดังนี้ “ชีวิตนั้นสั้นนัก แต่โบราณมา ชีวิตคนยากจะยืนยาวถึง 70 ปี” 
 
3. คิจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  77  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  77  ปีเรียกว่า  คิจุ โดยคิ หมายถึง ปิติยินดี และ จุ หมายถึง การฉลอง  เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึงการฉลองอย่างปิติยินดี 
 
4. ซันจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  80  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  80  ปีเรียกว่า  ซันจุ  โดยซัน หมายถึง ร่ม  ตามลายมือเขียนตัวอักษรซันแบบหวัดในอักษรจีน สามารถอ่านได้เป็น 八十 จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 80 ปีว่า ซันจุ (งานฉลองร่ม) 
 
5. เบจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  88  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  88  ปีเรียกว่า  เบจุ  โดยเบ หมายถึง ข้าว รูปร่างอักษรจีนของคำว่า เบสามารถแยกได้เป็น จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 88 ปีว่า เบจุ (งานฉลองข้าว) 
 
6. โชะทสึจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  90  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  90  ปีเรียกว่า  โชะทสึจุ  โดยโชะทสึ หมายถึง เสร็จสิ้น จบ  ในรูปอักษรจีนแบบง่ายนั้น โชะทสึ สามารถอ่านได้เป็น 九十 จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 90 ปีว่า โชะทสึจุ (การฉลองความสำเร็จ)  
 
7. ฮะคุจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  99  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  99  ปีเรียกว่า  ฮะคุจุ    โดยฮะคุ  หมายถึง  สีขาว  อักษรจีน หมายถึง 100  ถ้าเอาเส้น  ของ ออกจะเป็นตัวอักษรจึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 99  ปี ซึ่งน้อยกว่า 100 อยู่ 1 ว่า ฮะคุจุ

                การฉลองในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย  จะมีการร่วมรับประทานอาหารกันและมอบของขวัญให้ โดยของขวัญที่จะมอบให้นั้นจะเป็นของที่มีสีแดง  เช่น  ผ้าคลุมศีรษะสีแดง  เสื้อไม่มีแขน หรือเบาะนั่งแบบญี่ปุ่นสีแดงสำหรับการฉลองคังเระขิ  เนื่องจากกล่าวกันว่าเมื่อคนเรามีอายุถึงคังเระขิก็เหมือนกลับสู่จุดเริ่มต้นชีวิต อะคะจัง (เด็ก) ใหม่อีกครั้ง  ส่วนของขวัญฉลองครบรอบอายุช่วงอื่นๆให้เลือกของขวัญมอบให้ตามใจชอบ

บทสรุป

ในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น  เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรผู้สูงวัยของญี่ปุ่น โดยสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆที่คอยให้แก้ไขแต่เพียงอย่างเดียว  ในทางตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคผู้สูงวัยเป็นฐานลูกค้าหลัก ตัวอย่างเช่น  ร้านกาแฟแฟรนไชส์ Ueshima ในญี่ปุ่น ที่มีการจัดการร้านโดยแสดงถึงกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าในวัยสูงวัย แม้ภายนอกร้านกาแฟจะดูไม่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่น ๆ เท่าไหร่  แต่หากมองในรายละเอียดภายในจะพบว่า รูปแบบร้านที่มีทางเดินภายในร้านที่กว้าง  เก้าอี้ที่แข็งแรงกว่า โต๊ะเตี้ยกว่า อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารนิ่ม ๆ เคี้ยวง่าย อีกทั้งมีบริกรคอยช่วยยกของมาเสิร์ฟที่โต๊ะลูกค้า   ชื่ออาหารในเมนูเขียนด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ง่ายต่อการอ่าน จึงไม่แปลกที่ร้านกาแฟนี้จะเต็มไปด้วยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงวัยตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่และดำรงอยู่ในสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น คงจะเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายๆประเทศที่กำลังเผชิญสภาวะนี้อยู่  ในเรื่องของการแก้ไข การขจัดปัญหาและสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมรับมือไว้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ควรจะเตรียมตัววางแผนดูแลตัวเองเวลาเกษียณอายุให้ดี  ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงอยู่เสมอ คือ สังคมผู้สูงวัยไม่ได้เป็นภาระขององค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  แต่หากเป็นหน้าที่ของคนในชาติทุกคนที่จะต้องตระหนักและรับผิดชอบร่วมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

กักเคน. (2549). ญี่ปุ่น 360 องศา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม

 

กาญจนา ตั้งชลทิพย์. ประชากรญี่ปุ่นลดลง ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นต้องตื่นเต้น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.ipsr.mahidol.ac.th /IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article17.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 20 สิงหาคม 2554)                             

 

โกบอล. ประเทศญี่ปุ่นกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก:  http://www.braille-cet.in.th . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)

 

เซซึโคะ  นางาตะ. ปัญหาผู้สูงอายุในญี่ปุ่น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://simplyview.blogspot.com/2010/07/blog-post_01.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)

 

ภาวิณี  วรประดิษฐ. ผู้สูงอายุและภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://trat.nfe.go.th/trat/topic5_ old.php?page=10. (วันที่ค้นข้อมูล: 16 สิงหาคม 2554)

 

สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย. Aged Society. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/ printnews.aspx?id=32160 . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)

 

อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร. เข็มทิศลงทุน: คนวัยเกษียณในญี่ปุ่นมีคุณค่า. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.coffeemenu.in.th. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)

 

โอคะโมะโทะ, โทะมิ. (2547). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม

 

 


No comments:

Post a Comment