***บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***
กฤชพร พิศิษฐเจริญ รหัสนักศึกษา 52132015-0 กลุ่มเรียน 3
นักศึกษาผู้เขียน
บทนำ
ในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง ยุคแห่งเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับวิวัฒนการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น มีอายุยืนยาว และมีอัตราการตายลดลง แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาจากเหตุการณ์นี้ก็คือ อัตราส่วนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดสังคมผู้สูงวัยตามมา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และก็คงปฏิเสธิไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อยู่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นนอกจากจะเป็นผลมาจากความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการดำรงชีวิตที่เอื้ออำนวยให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเกี่ยวเนื่องกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงจนเหลือสัดส่วนผู้หญิง 1 คนจะมีลูกเฉลี่ย 1.26 คน ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ภาพจาก web site www.thairath.co.th
ความหมายของผู้สูงวัย
คำว่าผู้สูงวัยหรือคนชรานั้น โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีอายุมาก ผมขาว หน้าตาเหี่ยวย่น การเคลื่อนไหวเชื่องช้า โดยหากอ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542 : 347) ได้ให้ความหมายคำว่าชราว่า แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม แต่คำนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะ ก่อให้เกิดความหดหู่ใจ และความถดถอยสิ้นหวัง อย่างไรก็ตามได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าผู้สูงวัยไว้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถนำมาสรุปได้พอสังเขปว่า ผู้สูงวัย หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจไปในทางที่เสื่อมลง มีบทบาททางสังคม และกิจกรรมในการประกอบอาชีพลดลง
จากการกำหนดว่า บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงวัย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้สูงวัยออกเป็น 3 ช่วงอายุ ดังต่อไปนี้
1. ผู้สูงวัยช่วงต้น อายุ 65 – 74 ปี
2. ผู้สูงวัยช่วงปลาย อายุมากกว่า 75 ปี
3. ผู้สูงวัยช่วงสุดท้าย อายุมากกว่า 85 ปี
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงวัย
ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 127 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า โดยอายุเฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 82 ปี ญี่ปุ่นจึงนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีน้อยลง รัฐบาลก็จะจัด
เก็บรายได้ลดลง ในขณะที่ต้องมีงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อดูแลประชากรสูงวัยเหล่านั้น
2. ปัญหาด้านการเงินเกี่ยวกับการต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านความปลอดภัยทางสังคม และการดูแลรักษาพยาบาลทางการแพทย์
3. ความต้องการทางสาธารณูปโภคของคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น
4. ค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญและสวัสดิการในกลุ่มคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีปัญหาที่จะดูหนักสุดสำหรับสังคมผู้สูงวัย คือ เหล่าคนสูงวัยเองที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานหรือถึงแม้ว่าจะมีโอกาสแต่ก็มักจะถูกปิดกั้นความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ได้สะสมจากการทำงานมาตลอดชีวิต และยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไขเพื่อให้กลุ่มคนสูงวัยได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายให้คุ้มค่า
การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย
รัฐบาลถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกลไกทางสังคมที่นำไปสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น โดยรัฐบาลพยายามที่จะทำให้ประชากรผู้สูงวัยทั้งหมดสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข สังเกตได้จากการจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับกลุ่มคนสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบลิฟท์และบันไดเลื่อนที่สถานีรถไฟ รถโดยสารประจำทางที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยโดยตรง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้กับผู้สูงวัยเพื่อการเดินทางสัญจรไปมาได้โดยปราศจากอุปสรรค นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษอื่นๆที่รัฐจัดขึ้นเพื่อที่จะกระตุ้นกลุ่มผู้สูงวัยให้มีการดำเนินชีวิตและเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทาสังคมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแล้ว บริษัทที่ผู้สูงวัยทำงานก่อนการเกษียณอายุ ก็ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก โดยบริษัทญี่ปุ่นต่างๆได้จัดให้มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตในวัยชราให้แก่พนักงาน ระบบนี้ถือเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายของการจ้างงานตลอดชีวิต สิ่งที่บริษัทได้จัดทำ คือ การพยายามให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตหลังออกจากงาน การแนะนำให้เข้าทำงานที่อื่นหลังเกษียณ ตลอดจนการวางแผนด้านการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในวัยชรา นอกจากนี้ในบางบริษัทเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยหลังเกษียณอายุ บริษัทได้ยืดกำหนดเกษียณอายุออก และมีการนำระบบเงินปีมาใช้
เทศกาลประจำปีของผู้สูงวัย
ในญี่ปุ่นจะมีประเพณีการฉลองวันเกิดสำหรับผู้สูงวัยซึ่งครอบครัวหรือเพื่อนฝูงจะมาชุมนุมกันจัดให้ เพื่อฉลองความมีอายุยืนและสุขภาพดี เรียกว่า
วันแสดงความเคารพผู้สูงอายุ (敬老の日) ในปีค.ค. 1966
รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันเคารพผู้สูงอายุ เป็นวันที่ 15 กันยายนของทุกปี แต่ในปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเคารพผู้สูงอายุมาเป็นทุกวันจันทร์ที่
3 ของเดือนกันยายน
การจัดงานฉลองความมีอายุยืนได้ถูกจัดกันทั่วไป และด้วยความปรารถนาที่จะมีอายุยืน
ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจต่อการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและบริโภคอาหารที่มีแต่คุณประโยชน์ รวมถึงการแสวงหาความสุขและความสำเร็จภายในชีวิตหลังการเกษียณด้วย
ภาพมาจาก http://tosaknives.seesaa.net/article/52313893.html และ http://www.elearneasy.com/
การฉลองความมีอายุยืน เหล่าครอบครัว ญาติ หรือ เพื่อนๆของผู้สูงวัยจะจัดงานเลี้ยงตามบ้านหรือภัตตาคารเพื่อฉลองช่วงอายุพิเศษให้ในวันเกิดหรือวันหยุดที่ใกล้เคียงกับวันเกิดหรือในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย การฉลองช่วงอายุต่างๆมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. คังเระขิ (การฉลองครบรอบวันเกิด 60 ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด 60 ปีเรียกว่า คังเระขิ โดยคัง หมายถึง กลับคืน และ เระขิ หมายถึง ปฏิทิน คังเระขิ เป็นการฉลองที่หมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครั้งที่ 2 ตามวัฏวักรเอโตะการฉลองในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย จะมีการร่วมรับประทานอาหารกันและมอบของขวัญให้ โดยของขวัญที่จะมอบให้นั้นจะเป็นของที่มีสีแดง เช่น ผ้าคลุมศีรษะสีแดง เสื้อไม่มีแขน หรือเบาะนั่งแบบญี่ปุ่นสีแดงสำหรับการฉลองคังเระขิ เนื่องจากกล่าวกันว่าเมื่อคนเรามีอายุถึงคังเระขิก็เหมือนกลับสู่จุดเริ่มต้นชีวิต อะคะจัง (เด็ก) ใหม่อีกครั้ง ส่วนของขวัญฉลองครบรอบอายุช่วงอื่นๆให้เลือกของขวัญมอบให้ตามใจชอบ
บทสรุป
ในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรผู้สูงวัยของญี่ปุ่น โดยสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆที่คอยให้แก้ไขแต่เพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคผู้สูงวัยเป็นฐานลูกค้าหลัก ตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟแฟรนไชส์ Ueshima ในญี่ปุ่น ที่มีการจัดการร้านโดยแสดงถึงกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าในวัยสูงวัย แม้ภายนอกร้านกาแฟจะดูไม่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่น ๆ เท่าไหร่ แต่หากมองในรายละเอียดภายในจะพบว่า รูปแบบร้านที่มีทางเดินภายในร้านที่กว้าง เก้าอี้ที่แข็งแรงกว่า โต๊ะเตี้ยกว่า อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารนิ่ม ๆ เคี้ยวง่าย อีกทั้งมีบริกรคอยช่วยยกของมาเสิร์ฟที่โต๊ะลูกค้า ชื่ออาหารในเมนูเขียนด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ง่ายต่อการอ่าน จึงไม่แปลกที่ร้านกาแฟนี้จะเต็มไปด้วยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงวัยตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่และดำรงอยู่ในสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น คงจะเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายๆประเทศที่กำลังเผชิญสภาวะนี้อยู่ ในเรื่องของการแก้ไข การขจัดปัญหาและสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมรับมือไว้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ควรจะเตรียมตัววางแผนดูแลตัวเองเวลาเกษียณอายุให้ดี ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงอยู่เสมอ คือ สังคมผู้สูงวัยไม่ได้เป็นภาระขององค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของคนในชาติทุกคนที่จะต้องตระหนักและรับผิดชอบร่วมกัน
เอกสารอ้างอิง
กักเคน. (2549). ญี่ปุ่น 360 องศา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม
กาญจนา ตั้งชลทิพย์. ประชากรญี่ปุ่นลดลง ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นต้องตื่นเต้น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.ipsr.mahidol.ac.th /IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article17.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 20 สิงหาคม 2554)
โกบอล. ประเทศญี่ปุ่นกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.braille-cet.in.th . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)
เซซึโคะ นางาตะ. ปัญหาผู้สูงอายุในญี่ปุ่น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://simplyview.blogspot.com/2010/07/blog-post_01.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)
ภาวิณี วรประดิษฐ. ผู้สูงอายุและภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://trat.nfe.go.th/trat/topic5_ old.php?page=10. (วันที่ค้นข้อมูล: 16 สิงหาคม 2554)
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย. Aged Society. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/ printnews.aspx?id=32160 . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)
อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร. เข็มทิศลงทุน: คนวัยเกษียณในญี่ปุ่นมีคุณค่า. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.coffeemenu.in.th. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)
โอคะโมะโทะ, โทะมิ. (2547). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม