Search This Blog

Wednesday, August 31, 2011

#บทความนักศึกษา : "วัฒนธรรมต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น"

 **บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***

 ปาริฉัตร์ อนุชชาลาคม รหัสนักศึกษา 52132240-4 sec.1

นักศึกษาผู้เขียน 

คำว่า วัฒนธรรม แปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นแบบแผนในความคิด และการกระทำที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตที่มีการสืบทอดการกันมา เปรียบเสมือนการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์วิธีการในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนความเชื่อ และความนิยมของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งฟังแล้วอาจจะรู้สึกได้ถึงความซับซ้อนและแตกต่าง แต่คงไม่มีใครปฎิเสธได้หรอกว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลควรจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญไม่ว่าจะทั้งวัฒนธรรมในชนชาติของตนหรือวัฒนธรรมของชนชาติอื่นก็ตาม

การเดินทางไปเยือนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวพักผ่อน การไปศึกษาต่อ การไปประกอบอาชีพ หรือการย้ายถิ่นฐาน ล้วนเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับหลายๆคน แต่การจะอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอย่างเป็นสุขนั้นคงจะไม่ง่ายอย่างที่คาดการณ์ไว้เสมอไป

การเตรียมพร้อมในด้านข้อมูลต่างๆของประเทศที่จะเดินทางไป เป็นเรื่องที่พึงกระทำเป็นที่สุด ผู้เดินทางจำเป็นที่จะต้องศึกษารูปแบบวัฒนธรรมประเพณีต่างๆของชนชาตินั้นไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิด Culture Shock และเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้ผู้เดินทางสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆในต่างแดนได้อย่างดีและเร็วมากขึ้น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งในอันดับต้นๆของโลกที่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น และแสดงเอกลักษณ์ของชาติตนออกมาได้อย่างชัดเจน ความหลากหลายในวัฒนธรรมของชนชาตินี้ มีสาระและแฝวงไปด้วยความน่าสนใจอย่างมาก ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับข้าพเจ้าไม่น้อยเลยทีเดียว

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า เพราะชนชาวญี่ปุ่นมีความรักชาติสูงมาก จึงส่งผลให้บุคลากรของชนชาตินี้รักในวัฒนธรรมและประเพณีของพวกเขามากด้วยเช่นกัน การให้ความสำคัญแม้แต่กับเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ไม่เคยขาดหาย ความละเอียดละออของสิ่งต่างๆก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังคงคุณค่าเสมอมา

ประเทศญี่ปุ่นสามารถทำให้คำว่าวัฒนธรรมที่ฟังดูซับซ้อนและน่าเบื่อ กลายเป็นกิจกรรมที่น่าสนุก และสร้างความเพลิดเพลินให้กับคนทุกวัยได้อย่างน่ามหัศจรรย์  รวมทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย

โอะริกามิ (ORIGAMI) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน โอะริกามิเป็นงานฝีมือในการพับกระดาษสีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น รูปดอกซากุระ หรือสัตว์น่ารักต่างๆ เป็นต้น การพับกระดาษนี้เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถพับเพื่อเป็นงานอดิเรก และสามารถนำเอาโอะริกามิมาประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์สื่อการสอนในโรงเรียนได้อีกด้วย

ในปัจจุบัน โอะริกามิได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆทั่วโลก ในฐานะที่เป็นงานฝีมือที่ใช้สติปัญญาและความประณีตคล่องแคล่วของนิ้วมือ

และเมื่อพูดถึงเครื่องดื่มที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันมากที่สุด ก็คงจะเป็นเครื่องดื่มที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ มัทฉะ หรือชาเขียวนั่นเอง คนญี่ปุ่นไม่เพียงแค่ชื่นชอบการดื่มชาเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญการชงชาด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดพิธี ชะโนะยุ (CHANOYU) ขึ้น

พิธีชะโนะยุ คือพิธีชงชา ซึ่งเป็นพิธีการดื่มมัทฉะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เริ่มด้วยการใส่ชาสีเขียวป่นลงในถ้วยชาแบบเฉพาะ (CHAWAN) รินน้ำร้อนใส่ จากนั้นคนจนเป็นฟองด้วยไม้คนชาที่ทำด้วยไม้ไผ่ (CHASEN) จากนั้นก็ดื่มได้

พิธีชงชาจะจัดขึ้นในห้องน้ำชาที่เงียบสงบ มีบรรยากาศที่อ่อนช้อยงดงามตามแบบฉบับของญี่ปุ่น ซึ่งประดับไปด้วยภาพแขวนหรือแจกันดอกไม้ที่ตกแต่งตามฤดูกาล โดยพิธีชงชานี้ แฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้ง มีองค์ประกอบต่างๆมากมาย ทั้งในด้านกิริยามารยาท และด้านจิตวิญญาณต่างๆ

สตรีญี่ปุ่นวัยสูงอายุจำนวนมากให้ความสนใจ และเรียนรู้พิธีชงชาแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับเรียนรู้การจัดดอกไม้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความสุนทรีของสตรี

นอกจากกิจกรรมเพลิดเพลินที่น่าสนใจต่างๆของญี่ปุ่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่น และแสดงเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นออกมาได้อย่างงดงามตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือการแต่งกาย ด้วยชุดยุคะตะ (YUKATA) ที่เป็นกิโมโนผ้าฝ่ายชนิดหนึ่งซึ่งมีลวดลายพื้นๆ ง่ายๆ แบบดั้งเดิม

ทั้งหญิงและชายจะสวมยุคะตะเป็นชุดลำลองในฤดูร้อน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสวมยุคะตะคือ เวลาที่ออกไปพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้านตั้งแต่เย็นจนถึงค่ำ ตลอดจนไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลโอะบ้ง เป็นต้น

ข้าพเจ้าเชื่อว่า แต่ละประเทศก็ต่างมีชุดประจำชาติของตนเช่นกัน แต่จะมีสักกี่ประเทศที่จะสามารถจูงใจให้คนในชาติ รักและภูมิใจในชุดประจำชาติของตน และนำมาสวมใส่ได้บ่อยครั้งเท่ากับคนญี่ปุ่น

ประเพณีการมอบของขวัญเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่น่าชื่นชม โดยคนญี่ปุ่นจะมอบของขวัญให้กับผู้ที่มีอุปการะคุณ เพื่อแสดงความขอบคุณ ปีละ2ครั้ง คือในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว

แต่ดั้งเดิมผู้ได้รับการอุปการะจะไปเยี่ยมผู้ที่มีอุปการะคุณแล้วมอบของขวัญพร้อมกล่าวอวยพรด้วยตนเอง แต่เนื่องจากชีวิตสมัยใหม่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ผู้คนจึงมักขอให้ทางห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่ตนไปซื้อของขวัญช่วยส่งให้ ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ห้างสรรพสินค้าจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ

นี่แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู รู้คุณ และความเอาใจใส่ผู้อื่น ที่คนญี่ปุ่นได้รับการปลูกฝังกันมาเป็นอย่างดี ถึงการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่การทดแทนบุญคุณยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมญี่ปุ่นอยู่เสมอ

หากผู้ใดมีความประสงค์ที่จะไปทำงาน หรือย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและทุกคนจำเป็นต้องมี คืออิงคัง (INKAN) หรือตราประทับนั่นเอง ซึ่งโดยปกติ อิงคังจะสลักชื่อผู้ใช้หรือชื่อองค์การหรือบริษัท เพื่อใช้ในการยืนยันลายเซ็นหรือชื่อที่พิมพ์ขึ้นของบุคคลบนเอกสารแทบทุกชนิด โดยมีผลทางกฎหมายอย่างถูกต้อง

ถึงแม้ทุกวันนี้การใช้บัตรเครดิตกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นและการดำเนินธุรกิจก็ลงเอยด้วยลายเซ็นเพียงอย่างเดียวมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม อิงคังก็ยังมีการใช้อยู่ในญี่ปุ่น

สิ่งสำคัญก็คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินส่วนใหญ่ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าหากไม่ประทับอิงคังลงบนแบบฟอร์มใบสมัครทำบัตรเครดิต ทางธนาคารก็จะไม่ทำการอนุมัติออกบัตรให้

การยึดมั่นในกฎเกณฑ์และปฎิบัติตนตามกฎอย่างเคร่งครัดอาจจะทำให้ประเทศญี่ปุ่นดูเป็นประเทศที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนเสมอ แต่ในอีกมุมหนึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเป็นผู้มีวินัย ประพฤติตนตามกฎระเบียบของสังคมได้อย่างน่ายกย่อง

อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดของสังคม เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ยังให้ความสำคัญ จึงไม่แปลกที่มีการจัดเทศกาลต่างๆขึ้นมากมายในสังคมญี่ปุ่น

ฮินะ มัทสึริ (HINA-MATSURI) เป็นเทศกาลหนึ่งที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึงการที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญแม้กระทั่งกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ โดยในแต่ละห้องตามบ้านเรือนจะประดับชุดตุ๊กตาฮินะ เพื่อเป็นการอวยพรให้เด็กผู้หญิงเติบโตมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค และอันตรายต่างๆ

เมื่อใกล้ถึงวันเทศกาลตุ๊กตา เด็กๆจะสนุกสนานกับการพับตุ๊กตากระดาษหรือการปั้นตุ๊กตาดินเหนียว วาดภาพและร้องเพลงของเทศกาลตุ๊กตา ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเทศกาลตุ๊กตาไม่ได้จัดขึ้นมาเพื่ออวยพรให้กับเด็กผู้หญิงเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยให้เด็กๆในยุคปัจจุบันได้รับรู้กลิ่นอายของประเพณีดั้งเดิมและช่วยให้ผู้ใหญ่ได้ระลึกถึงความหลังอันแสนสนุกสนานอีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเข้าสังคมญี่ปุ่น คือมารยาทในการรับประทานอาหาร สำหรับอาหารแบบญี่ปุ่นจะมีการปรุงอาหารทะเลสดหรือผักตามฤดูกาล เพื่อเสริมให้คงรสชาติธรรมชาติ อาหารจะถูกจัดเรียงไว้อย่างสวยงาม มีการตกแต่งด้วยใบไม้หรือดอกไม้บางชนิด เพื่อแสดงถึงฤดูของปีไว้บนภาชนะใส่อาหารที่สวยงาม

เมื่อเริ่มรับประทานอาหาร คนญี่ปุ่นจะหยิบตะเกียบขึ้นมาด้วยมือขวาแล้วรับด้วยฝ่ามือซ้าย จากนั้นค่อยๆเลื่อนนิ้วมือขวามาทางปลายด้านขวาของตะเกียบแล้วจับไว้

ส่วนการรับปะทานซุป จะจับถ้วยด้วยมือซ้ายแล้วเปิดฝาออกด้วยมือขวา หงายด้านในของฝาขึ้นด้วยมือทั้งสองข้าง จากนั้นวางลงทางด้านขวามือ แล้วจึงค่อยหยิบถ้วยซุปขึ้นมาด้วยมือทั้งสองข้าง

เวลารับประทานข้าวจะต้องเปิดฝาครอบถ้วยข้าวออกด้วยมือซ้าย หงายด้านในของฝาขึ้นแล้ววางลงทางซ้ายมือ โดยใช้มือขวาช่วย

การรับประทานอาหารญี่ปุ่นให้ถูกต้องตามมารยาท ผู้รับประทานควรจะศึกษามารยาทต่างๆบนโต๊ะอาหารให้ถี่ถ้วน และควรจดจำลำดับการรับประทานอาหารให้ขึ้นใจ คนญี่ปุ่นจะดื่มน้ำซุปก่อน 1 คำ จากนั้นจึงค่อยรับประทานข้าวและกับข้าวสลับกันไปมา หลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็จะต้องยกฝาปิดถ้วยทั้งหมด เช็ดปลายตะเกียบด้วยกระดาษเช็ดปากแล้ววางลงข้างหน้า

ผู้คนสมัยใหม่อาจจะเกิดข้อสงสัยกันว่า แค่การรับประทานอาหาร ทำไมจะต้องมีกฎเกณฑ์มากมาย? แต่ข้าพเจ้ามองในอีกมุมหนึ่งว่าการมีกฎเกณฑ์เปรียบเสมือนการคงไว้ซึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมและเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่แต่ละประเทศควรจะให้การยกย่อง ไม่ใช่เพียงแค่ในเรื่องของการรับประทานอาหารเท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกๆความยุ่งยากและความซับซ้อนในแต่ละวัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราทิ้งไว้ให้เป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาติ ซึ่งคู่ควรแก่การรักษาและสืบทอด เพื่อให้โลกของเราคงความงดงามสืบต่อไป

 บรรณานุกรม

หนังสือ วัฒนธรรมญี่ปุ่น (First Published in Thailand  by TPA Press September 1997)

http://www.japankiku.com/tour/story2003.html

http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww524/wansin/wansin-web2/contents/culture1.htm

http://www.chalitar.ob.tc/page_18.html

 

Tuesday, August 30, 2011

#บทความนักศึกษา : บทความภาพยนตร์ “ทีมดราก้อน คุณหมอหัวใจแกร่ง”

 ***บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***


จุฑามาศ ศิริชัยพัฒนรัชต์ รหัสนักศึกษา 52132061-4

นักศึกษาผู้เขียน 

บทความดังต่อไปนี้ เป็นการนำเสนอแง่มุมบางอย่างที่ได้รับจากการดูซีรีย์เรื่องนี้ และพยายามเชื่อมโยงเข้าสู่แง่มุมการเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต และการทำงานของมนุษย์ และสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบัน มากกว่าที่จะเป็นการวิจารณ์และประเมินค่าเนื้อหาเรื่อง 

ตัวละครหลักทุกตัวในเรื่องล้วนมีเงื่อนปมบางอย่างในชีวิตที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในจิตใจ และนำไปสู่การตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำบางสิ่งบางอย่าง แต่ละกรณีมีความน่าสนใจและมีแง่มุมบางอย่างให้เรียนรู้

ภาพยนตร์ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยม  มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทีมหมอศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจในสมัยใหม่ ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ได้ดัดแปลงมาจากการ์ตูนเรื่องเดียวกัน  ผู้กำกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้มีด้วยกัน 3 คน คือ Mizuta Narihide, Hayama Hiroki, Hoshino Kazunari  ซีรีย์เรื่องนี้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ภาค แต่ที่จะนำมากล่าวให้ทราบเป็นภาคแรก 

เนื้อเรื่องโดยสังเขป

ซีรีย์เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดหัวใจ ที่เรียกว่า การผ่าตัดแบบ บาทิสต้า  ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามศัลยแพทย์ชาวบราซิล ชื่อว่า แรนดาส บาติสต้า ผู้ริเริ่มการผ่าตัดนี้ ใช้ในการรักษา การขยายของหัวใจห้องล่าง ขั้นแรก ตัดเนื้อเยื่อจากหัวใจที่ขยายตัวหรือตัดบริเวณที่มีความผิดปกติ  และเย็บมันกลับคืน จะทำให้หัวใจห้องล่างเล็กลง

เริ่มเรื่องแพทย์ผ่าตัดอัจฉริยะ ชื่อว่า อาซาดะ ริวทาโร่ ได้ผ่านพ้นจากการผ่าตัดผู้บาดเจ็บจากสงคราม และได้กลับชีวิตอย่างสงบอยู่ในแถบชายแดนประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น แพทย์ อากิระ คาโต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แผนกหัวใจที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเมชิน  ได้รับรู้ถึงความสามารถของหมออาซาดะ จึงเสนอให้หมอ อาซาดะ มาร่วมทีมในการผ่าตัดแบบบาทิสต้าดังกล่าวด้วย เขาใช้ความสามารถในการช่วยชีวิตคนไข้  ต่อมาเขาได้ตั้งทีมขึ้นมา ชื่อว่า “ทีมดราก้อน” อาซาดะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศัลยแพทย์ จนกระทั่ง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย

เมชินได้รับผู้ป่วยที่มีหัวใจผิดปกติมาสองราย หนึ่งในนั้นเป็นอดีตพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชิน และอีกรายเป็นเด็กหญิง วัย16 ปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ยากในการตัดสินใจว่าควรทำการผ่าตัดผู้ใดก่อน แพทย์อากิระ ซึ่งมีความมั่นใจในตัวเองสูง และมีความทะเยอทยานอยู่ในตัว อยากพลิกผันตัวเองมาเป็นศาสตราจารย์ โดยใช้ผลงานการวิจัยในเรื่องของ เทคนิคในการผ่าตัดแบบบาทิสต้าให้สำเร็จ ในตอนแรกแนวคิดของเธอไม่ได้คำนึงถึงชีวิตคนไข้เป็นหลัก เธอห่วงเพียงแค่ว่าให้งานวิจัยของตนสำเร็จและได้เลื่อนตำแหน่งเพียงเท่านั้นพอ แต่การที่เธอได้เข้ามาร่วมทีม ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคและแนวคิดของหมออาซาดะ ที่มีอุดมคติว่าชีวิตคนไข้เป็นสิ่งที่สำคัญ  หมออากิระจึงเปลี่ยนแนวคิดของตน และให้การรักษากับคนไข้ที่ต้องเร่งรีบ

ในการผ่าตัดนั้นแทนที่จะใช้การผ่าตัด เป็นเครื่องมือที่ทำให้งานวิจัย ของตนสำเร็จ  เธอจึงตัดสินใจเลือกผ่าตัดอดีตพยาบาลผู้ที่มีอายุมากกว่า และมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ป่วยอีกราย  การผ่าตัดสำเร็จไปได้ด้วยดีและสามารถทำการผ่าตัดแบบบาทิสต้าได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก แต่ถูกคิริมะ จุนจิ ศัลยแพทย์ ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย คิตะนิปปอน นำผลงานไปเสียก่อน 

หลังจากนั้น ทีมดราก้อน ได้ลงมือผ่าตัดคนไข้รายที่สอง ซึ่งเป็นเด็กหญิงวัย 16 ปี ก็สามารถทำได้สำเร็จอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน โนกุจิ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเมชินเกรงกลัวว่าทีมดราก้อนจะมาแย่งตำแหน่งของตน จึงวางแผนที่จะกำจัดทีมนี้ โดยไม่ให้การผ่าตัดครั้งต่อไปสำเร็จ จึงเกิดการผ่าตัดครั้งที่ 3 ขึ้น แต่คราวนี้ทีมดราก้อนได้รับงานหิน เพราะคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเป็นเด็กทารกวัย 9 เดือน ที่มีหัวใจและอวัยวะภายในกลับด้านหมด ทีมนี้ได้ทำการวางแผน และแอบฝึกซ้อมการผ่าตัดมาเป็นอย่างดี ท่ามกลางความคิดของผู้อื่นที่คิดว่าทีมนี้

จะยอมแพ้และล้มเลิกการผ่าตัดครั้งนี้ ซึ่งมีโอกาสสำเร็จน้อยมาก แต่ด้วยความพยายามและการฝึกซ้อม ทำให้การผ่าตัดผ่านไปได้ด้วยดี โดยให้ทีมทำการผ่าตัดที่กลับด้าน ซึ่งง่ายต่อการผ่าตัด แต่ในระหว่างการผ่าตัดนั้นได้มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา คือ คิริมะ ที่มีอาการหัวใจฉีกขาด อาซาดะจึงเข้าช่วยและทำให้การผ่าตัดสำเร็จ แต่ในการผ่าตัดบาทิสต้าครั้งที่ 3 อาซาดะไม่สามารถหาส่วนที่ผิดปกติได้ เนื่องจากหัวใจมีขนาดเล็ก เขาจึงตัดสินใจทำการผ่าตัดบาทิสต้าแบบใหม่ โดยใช้มีดกรีดผนังหัวใจและนำมาทบกัน จึงทำให้หัวใจมีขนาดเล็กลงและ ทำให้การผ่าตัดบาทิสต้าครั้งที่ 3 สำเร็จ หลังจากนั้นศาสตราจารย์โนกุจิถูกสั่งให้ย้ายโรงพยาบาล และหมอคาโต้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ตามที่ตนได้ตั้งใจไว้ อาซาดะวางแผนชีวิตเขาไว้ว่าจะกลับไปช่วยรักษาผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากสงครามอีกครั้งและออกเดินทางจากโรงพยาบาลเมชิน เพื่อที่จะแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ 

อุปสรรคมากมายที่พวกเขาได้เจอล้วนท้าทายความ สามารถของพวกเขา แต่พวกเขาทุกคนก็สามารถก้าวผ่านมันไปได้ เพียงเพราะ ความอดทน ความเชื่อใจในทีมของพวกเขา และแรงศรัทธาที่มุ่งมั่นที่จะทำให้ภาระอันยิ่งใหญ่ นั้นประสบผลสำเร็จ รวมทั้งพยายามที่จะรักษาชีวิตของคนไข้ให้ได้ทุกคน  

เบื้องหลังความสนุกนี้ นำมาซึ่งตัวละครในทีมทุกคน ที่ล้วนมีที่มา มีปมต่างๆ ที่ค่อยๆคลี่ออกมาให้คนได้ลุ้นว่าทำไมตัวละครจึงมีลักษณะนิสัยเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวร้ายเองที่ทำตัวได้เลวสุดๆ ทำให้คนเกลียดสุดๆ แต่เมื่อปมของเขาได้เปิดเผยออกมากลับเป็นคนที่น่าสงสาร กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีใครเลยในชีวิต  ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จนบีบให้เขาอยากเป็นผู้ชนะ 


ตัวละคร

อาซาดะ ริวทาโร่ 
ศัลยแพทย์ซึ่งได้รับฉายาว่า มือของพระเจ้า เป็นแพทย์อัจฉริยะ ได้ดูแลแคมป์ผู้อพยพเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ถูกคาโต้ อากิระ ที่เล็งตำแหน่งศาสตราจารย์ใน โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชินชักชวนให้ทำการผ่าตัดแบบบาทิสต้า อาซาดะเป็นคนที่มีอุดมการณ์แรงกล้า และมีความเชื่อมั่นสูง ทำให้ตัวเขาเอง เป็นที่ขวางหูขวางตาของศาสตราจารย์คนอื่นๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ความสามารถของอาซาดะ ที่ได้มานั้นไม่ได้มีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งที่ทำให้เขาสามารถกลายเป็นแพทย์ในระดับแนวหน้าได้นั้น เกิดจากการฝึกฝน และ ประสบการณ์ต่างๆที่สั่งสมมา


คาโต้ อากิระ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้านการผ่าตัดหัวใจแห่งโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชินเนื่องจากเป็นทางที่สั้นที่สุดที่จะได้เก้าอี้ศาสตราจารย์  เธอจึงให้อาซาดะทำการผ่าตัดแบบบาทิสต้า และจะนำเอาวิทยานิพนธ์นั้น ไปประกาศ เธอจะสร้างทีมขึ้นมาเพื่อการผ่าตัดแบบบาทิสต้า  แต่ถูกอาซาดะปั่น
ป่วนโดยการไม่ทำตามที่เธอคิด ทำให้เธอตกที่นั่งลำบาก  แสดงให้เห็นว่า คาโต้ เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และมีความคาดหวังที่จะได้เลื่อนขั้น  เพื่อเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ต่างๆที่ได้ทำไว้แต่ไม่ถูกต้อง ด้วยความสามารถ ความดี และการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทำให้เธอมีความพยายามที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ จนเธอสามารถได้รับตำแหน่งนั้นมาได้อย่างไม่เกินความสามารถ

อิจูอิน โนโบรุ แพทย์ฝึกหัดด้านการผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชิน ด้วยความที่ไม่อยากทำให้เกิดความวุ่นวายต่อกฎขององค์กรแพทย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งค่อนข้างปิดกั้นโดยถือเอาศาสตราจารย์เป็นสูงสุด  จึงสั่นกลัวอยู่ตลอดเมื่ออยู่ต่อหน้ารุ่นพี่  และคนไข้ ทำให้อิจูอินนั้นไม่ยอมรับอาซาดะที่ละเมิดกฎของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากถูกบังคับให้เข้าร่วมทีมบาทิสต้า จึงเริ่มได้รับอิทธิพลของอาซาดะทีละน้อย สิ่งสำคัญที่แสดงออกมาในตัวละครตัวนี้ คือ ความเกรงกลัวอิทธิพลในโรงพยาบาล ทำให้เขาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะรู้ว่ามันไม่ถูกต้องก็ตาม แต่หลังจากที่เขาได้รับอิทธิพลของอาซาดะ ทำให้เขากล้าที่จะลุกขึ้นสู้ และ ต่อต้านความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล  แม้ในเรื่องตัวละครนี้จะไม่ได้มีความสามารถในระดับอัจฉริยะ เหมือนแพทย์คนอื่นๆในทีม แต่ก็แสดงให้เห็นถึง ความมุ่งมานะ ความพยายาม ที่จะทำหน้าที่ของตนเองออกมาให้ดีที่สุด เป็นตัวละครที่สื่อถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ปกติ  ที่มีอารมณ์ความรู้สึก ความท้อแท้ สิ้นหวังในบางครั้ง แต่เขาก็พร้อมที่จะลุกขึ้น และยืนหยัดด้วยตัวเองอีกครั้ง ดังสำนวนที่กล่าวไว้ว่า ท้อได้ แต่อย่าถอย ล้มได้ แต่ต้องลุกและก้าวไปข้างหน้าเสมอ


อาราเสะ มอนจิ วิสัญญีแพทย์ระดับอัจฉริยะ ของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชิน ซึ่งอาซาดะต้องการนำมาร่วมทีมผ่าตัดบาทิสต้า เป็นตัวละครตัวหนึ่งที่มีความเป็นมาที่ซับซ้อน เนื่องจากได้รับผลกระทบและต่อต้านงานวิจัยทุกชนิด เนื่องจากงานวิจัยของเขา ที่ทำขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อคนไข้ จนถึงเสียชีวิตไปหลายราย ทำให้เขารู้สึกผิด และไม่อยากที่จะทำงานอีกต่อไป ถ้าหากต้องการให้เขาทำงานจะต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงมาก แต่ภายหลังก็มีเหตุการณ์พลิกผัน อาซะดะสามารถที่จะเกลี่ยกล่อมให้เขามาทำงานได้สำเร็จ รวมทั้งทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้น จนอาจไม่หลงเหลือความเศร้าในเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกต่อไป ตัวละคร ตัวนี้แสดงให้เห็นว่า คนเราทุกคนมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาด หรือทำสิ่งที่ผิดพลาดได้ เพียงแต่เรารู้สึกสำนึกผิด และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง ทุกคนก็ล้วนที่จะให้อภัยในความผิดนั้นเสมอ



ฟูจิโยชิ  เคอิชิ แพทย์ด้านระบบหมุนเวียนภายในของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชิน เป็นแพทย์ชั้นยอดด้านการสอนข้างเตียงคนไข้ มีจิตใจที่อ่อนไหว แต่ว่าด้วยความที่ให้ความสำคัญกับคนไข้มากเกินไป ทำให้ไม่ยอมมอบคนไข้ให้กับศัลยแพทย์ง่ายๆ เนื่องจากคิดว่าศัลยแพทย์เป็นเพียงหมอผ่าตัดที่ไม่คำนึงถึงจิตใจของคนไข้ หลายครั้งทำให้เกิดปัญหากับการรักษา เริ่มแรกเขาก็ไม่ยอมรับในตัวอาซาดะ แต่เมื่อเห็นถึงฝีมืออันยอดเยี่ยมของเขาแล้ว จึงค่อยๆ ยอมรับอาซาดะเป็นตัวละครที่มีจิตวิทยาสูง รู้จักวิธีการสื่อสารกับคนไข้ และเข้าใจคนไข้เป็นอย่างดี เพื่อให้คนไข้สบายใจ และต่อต้านความไม่ถูกต้อง ยืนหยัดด้วยทัศนคติของตนเอง ไม่สามารถถูกชักจูงได้ง่าย คำนึงถึงแต่สิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง


ซาโตฮาร่า มิกิ พยาบาลอัจฉริยะที่ชื่นชมอาซาดะ มีฝีมือและความรู้ด้านการรักษาพยาบาลที่ยอดเยี่ยมมากกว่าหมอทั่วไป เธอก็เคยเป็นพยาบาลผู้ช่วยการผ่าตัดที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคิตะนิปปอน  เช่นเดียวกับ อาซาดะ หลังจากนั้นก็เข้าร่วมทีมผ่าตัดบาทิสต้า กับอาซาดะ และเป็นกำลังสำคัญในทีมด้วย อาซาดะนั้นเมื่อรับข้อเสนอของคาโต้แล้ว ก็เรียกให้มิกิมาร่วมทีมบาทิสต้า แต่ระหว่างมิกิและคิริชิมะนั้นมีความลับที่สำคัญอยู่

 


คิริมะ จุนจิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการผ่าตัดหัวใจแผนกช่องอกของโรงเรียนคู่แข่งที่มีดวงเกี่ยวข้องกับอาซาดะ  ศัลยแพทย์ผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมทัดเทียมกับอาซาดะ ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการผ่าตัดหัวใจแผนกช่องอกของมหาวิทยาลัยคิตะนิปปอน ที่เป็นโรงเรียนคู่แข่งของมหาวิทยาลัยเมชิน มีความคิดที่จะเป็นผู้นำแห่งโลกของการผ่าตัดหัวใจในญี่ปุ่น ความจริงแล้วคิริชิมะเป็นรุ่นพี่ของอาซาดะ ในช่วงที่เขายังอยู่มหาวิทยาลัย คิตะนิปปอน  แต่ก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นทำให้เขาเกลียดอาซาดะ  ตัวละครนี้  มีความเครียดบางอย่างอยู่ในตัว เกิดจากการที่เมื่อวัยเด็ก ได้เห็นแม่ฆ่าตัวตายไปต่อหน้าต่อตา ทั้งๆที่บอกว่ารักลูก ทำให้เขาต้องใช้ชิวิตอยู่อย่างคนเดียว และคิดว่าไม่มีใครที่รักเขาจริง ขนาดแม่ที่บอกว่ารักตนยังจากไปโดยไม่ร่ำลา จึงทำให้เขากลายเป็นคนที่มีความอิจฉาริษยา ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น ไม่ชอบการดูถูกเหยียดหยาม รักตนเองมากกว่าคนอื่นๆ จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวในที่สุด แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับ และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ว่ามีคนที่รักเขาอยู่ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม  ตัวละครนี้แสดงให้เห็นว่า แต่ละคนล้วนมีปมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับ และสามารถปรับตัวให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้มาทำลายชีวิตเราได้หรือไม่  ถ้าทุกคนมีความเข้าใจในตัวคนๆนั้น รับรู้ปัญหาของเขา ก็สามารถที่จะยอมรับ และให้อภัยในสิ่งที่เขาทำผิดได้ ลักษณะนิสัยที่เกิดจากปมปัญหาในชีวิต สามารถที่จะแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องมีคนที่เข้าใจ และสามารถมองเห็นจุดเล็กที่อ่อนไหว ในจิตใจของเขา

  


โนงุจิ ศาสตราจารย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์หัวใจ ผู้กุมอำนาจ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยเมชิน ผู้ที่คอยขัดขวางการทำงานของอาซาดะ และคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ มากกว่าชีวิตของคนไข้แนวคิดที่ซีรีย์ เรื่องนี้ได้ฝากเอาไว้  ซีรีย์เรื่องนี้แฝงแนวคิด และมุมมองของคนญี่ปุ่น ไว้ได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึง การที่เราจะสามารถทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนและการเรียนรู้ อันมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา  การเรียนรู้อาจไม่ได้อยู่แค่ตำราที่เราศึกษาย่างเดียว บางครั้งอาจต้องใช้การฝึกฝน ยิ่งเราฝึกฝนสิ่งนั้นมากเท่าใด เราก็จะมีความเก่งและความชำนาญในด้านนั้นมากยิ่งขึ้น ประสบการณ์อาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดด้วยตนเอง หากแต่เกิดจากการรับฟังหรือศึกษาจากผู้อื่นก็ได้  อาจเกิดจากคนที่ลองผิดลองถูกมาแล้ว หรือจากประสบการณ์ของคนรอบข้าง หากเราเปิดใจที่จะรับความเห็นของเขา เราย่อมได้ความรู้นั้นกลับมาไม่มากก็น้อย  เราไม่ควรยึดมั่นในความคิดของเราคนเดียวว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกเสมอ เราควรรับฟังคนอื่น เพราะเขาอาจเห็นสิ่งที่เราไม่เห็น หรือมองข้ามไปก็ได้ ตัวละครในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีความรักพวกพ้อง ถ้าหากมีคนของแผนกใดทำผิด คนในแผนกนั้นก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ หรือรับผิดชอบความผิดนั้นรวมกัน ดังสำนวนในเรื่องที่กล่าวไว้ว่า คนเราไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีคนที่ต้องการเราและให้ความช่วยเหลือเราเสมอ

ถ้าหากเป็นคุณให้เลือก ระหว่าง ชีวิตคนไข้ที่เป็นคนในครอบครัว,ผู้มีพระคุณ กับ คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หรือ ระหว่าง คนไข้ กับ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ  คุณจะเลือกทำสิ่งใดก่อน หากเป็นมนุษย์ปกติธรรมดา คงจะเลือกรักษาชีวิตคนในครอบครัว,  เลือกผลประโยชน์ทางธุรกิจก่อน  แต่หากคำนึงถึงหลักความถูกต้องแล้ว ย่อมเลือกที่จะรักษาคนไข้ที่อยู่ในภาวะจำเป็นก่อน โดยไม่คำนึงว่าเขาจะเป็นคนในครอบครัวเราหรือไม่,ไม่คำนึงว่าเราจะเสียผลประโยชน์นั้นมากแค่ไหน หากคุณเลือกรักษาคนในครอบครัว,เลือกผลประโยชน์ ก่อนที่จะคำนึงถึงความถูกต้องแล้ว 

ขอชื่นชมแนวคิดของเรื่องนี้ ที่ทำ ให้เข้าใจถึงความถูกต้อง ไม่เลือกปฏิบัติ ในการรักษาผู้ป่วย ในขณะที่หมอบางคน เลือกความสำเร็จในงาน เลือกรักษาคนรวยก่อนคนจน เลือกรักษาคนรู้จักพวกพ้องก่อนคนแปลกหน้า

จากเนื้อเรื่องบางตอนมีบางอย่างที่แพทย์ให้พยาบาลทำ แล้ว ผิดต่อหลักจรรยาบรรณ จรรยาบรรณ หมายถึง หลักในการปฏิบัติอันเหมาะสมที่ถูกกำหนดขึ้นให้ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนั้นๆพึงปฏิบัติ กฎนี้ตั้งมาเพื่อคำนึงถึง ความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัตินั้นย่อมมีข้อขัดแย้งกันระหว่างจรรยาบรรณกับสิ่งที่ควรปฏิบัติในฐานะคน  คนหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลานั้นแล้วคงต้องเลือกว่าจะยึดสิ่งใดเป็นหลักระหว่าง จรรยาบรรณ หรือ ชีวิตคนไข้

เรื่องนี้แสดงถึงความสามัคคี โดยเฉพาะในขณะทำการผ่าตัดต้องอาศัยความสามัคคี และความเชื่อใจกันเป็นอย่างยิ่ง หากขาดสมาชิกคนใดคนหนึ่งในทีมไป ย่อมทำให้ทีมนั้นเดินต่อไปได้ยาก แม้ว่าเราจะเก่งมากแค่ไหนก็ตามถ้าหากขาดลูกทีมแล้วความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ยาก  และอาจนำมาซึ่งความล้มเหลว ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าสมาชิกทุกคนในทีมมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

หากคุณรับชมซีรีย์เรื่องนี้แล้ว จะเกิดความรู้สึกรักในวิชาชีพแพทย์ เกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นแพทย์ที่ดี และรักษาคุณธรรมอย่างหมออาซาดะ ในตอนที่กล่าวไว้ว่า ทุกคนเป็นคนไข้ที่เราต้องรักษา เขาจนถึงวินาทีสุดท้าย ไม่ว่าเขาจะเป็นศัตรูของเราก็ตาม

สุดท้ายเรื่องนี้แสดงให้เห็นลักษณะของคนญี่ปุ่นที่ว่า ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามเข้ามามากเพียงใด พวกเขาก็พร้อมที่จะรับมือและต่อสู้กับมัน ในทุกๆสถานการณ์ โดยไม่ย่อท้อ
.............................................

ข้อมูลเพิ่มเติมศึกษาจากวิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/ทีมดราก้อน_คุณหมอหัวใจแกร่ง



Saturday, August 27, 2011

#บทความนักศึกษา : "ญี่ปุ่น : สังคมผู้สูงอายุ"

 ***บทความนี้เป็นการฝึกหัดเขียนสำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาญี่ปุ่นการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจญี่ปุ่น คณะบริหารธุริจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อาจมีข้อความส่วนหนึ่งส่วนใดดัดแปลงจากระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเจตนาคัดลอกเพื่อการพาณิชย์***

กฤชพร  พิศิษฐเจริญ  รหัสนักศึกษา 52132015-0 กลุ่มเรียน 3

นักศึกษาผู้เขียน 

 บทนำ   

ในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง  ยุคแห่งเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับวิวัฒนการทางด้านการแพทย์ที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น มีอายุยืนยาว และมีอัตราการตายลดลง  แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เป็นผลกระทบตามมาจากเหตุการณ์นี้ก็คือ อัตราส่วนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งก่อให้เกิดสังคมผู้สูงวัยตามมา โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และก็คงปฏิเสธิไม่ได้ว่าประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อยู่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

สังคมผู้สูงวัยในญี่ปุ่นนอกจากจะเป็นผลมาจากความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการดำรงชีวิตที่เอื้ออำนวยให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเกี่ยวเนื่องกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงจนเหลือสัดส่วนผู้หญิง 1 คนจะมีลูกเฉลี่ย 1.26 คน  ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลกเลยทีเดียว




 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพจาก web site www.thairath.co.th

 

ความหมายของผู้สูงวัย

คำว่าผู้สูงวัยหรือคนชรานั้น โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่มีอายุมาก  ผมขาว  หน้าตาเหี่ยวย่น  การเคลื่อนไหวเชื่องช้า  โดยหากอ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542 : 347) ได้ให้ความหมายคำว่าชราว่า   แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม  แต่คำนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะ ก่อให้เกิดความหดหู่ใจ และความถดถอยสิ้นหวัง   อย่างไรก็ตามได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าผู้สูงวัยไว้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถนำมาสรุปได้พอสังเขปว่า  ผู้สูงวัย  หมายถึง   ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป  ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และจิตใจไปในทางที่เสื่อมลง มีบทบาททางสังคม และกิจกรรมในการประกอบอาชีพลดลง

จากการกำหนดว่า บุคคลที่มีอายุ  65  ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงวัย  องค์การอนามัยโลก (WHO)  ได้มีการแบ่งกลุ่มผู้สูงวัยออกเป็น  3  ช่วงอายุ ดังต่อไปนี้

1. ผู้สูงวัยช่วงต้น   อายุ  65 – 74 ปี

2. ผู้สูงวัยช่วงปลาย  อายุมากกว่า  75 ปี

3. ผู้สูงวัยช่วงสุดท้าย  อายุมากกว่า  85 ปี

 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงวัย

ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 127  ล้านคน ซึ่งสัดส่วนร้อยละ 20  ของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นประชากรที่มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า  โดยอายุเฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 82 ปี  ญี่ปุ่นจึงนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวที่สุดประเทศหนึ่งในโลก 

 

ภาพจาก web site http://www.ipsr.mahidol.ac.th  
 
จากภาพกราฟที่แสดงถึงสัดส่วนประชากรญี่ปุ่นข้างต้น  สะท้อนแนวโน้มการลดลงของประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) อย่างชัดเจน โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ตั้งแต่ค.ศ. 1900  ลดลงจากร้อยละ 24 ของประชากรทั้งประเทศ  เหลือเพียงร้อยละ 14 ในค.ศ. 2004  และมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอีก 40-50 ปีข้างหน้าว่า ประชากรกลุ่มนี้จะลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 11 ของจำนวนประกรทั้งหมด   ส่วนสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน ( 15-64 ปี)  จะลดลงจากร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดใน ค.ศ.1900  เหลือเพียง ร้อยละ 67 ในค.ศ. 2004    และหากมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอีก 50 ปีข้างหน้า คือ ใน ค.ศ. 2050 สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 54  ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่ปรากฏในรูปว่า ในปีค.ศ. 2004      ประชากรสูงวัยมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ  การที่โครงสร้างของประชากรเริ่มจะเอนเอียงไปทางวัยผู้สูงอายุมากขึ้น  ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆตามมาหลายประการ เช่น

 

 1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียภาษีน้อยลง รัฐบาลก็จะจัด

เก็บรายได้ลดลง ในขณะที่ต้องมีงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อดูแลประชากรสูงวัยเหล่านั้น

2. ปัญหาด้านการเงินเกี่ยวกับการต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านความปลอดภัยทางสังคม และการดูแลรักษาพยาบาลทางการแพทย์

3. ความต้องการทางสาธารณูปโภคของคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น

4. ค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญและสวัสดิการในกลุ่มคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดีปัญหาที่จะดูหนักสุดสำหรับสังคมผู้สูงวัย คือ เหล่าคนสูงวัยเองที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานหรือถึงแม้ว่าจะมีโอกาสแต่ก็มักจะถูกปิดกั้นความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ได้สะสมจากการทำงานมาตลอดชีวิต  และยังมีปัญหาอีกมากมายที่รอการแก้ไขเพื่อให้กลุ่มคนสูงวัยได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายให้คุ้มค่า

 การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย

รัฐบาลถือเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกลไกทางสังคมที่นำไปสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น  โดยรัฐบาลพยายามที่จะทำให้ประชากรผู้สูงวัยทั้งหมดสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข  สังเกตได้จากการจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับกลุ่มคนสูงวัย  ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบลิฟท์และบันไดเลื่อนที่สถานีรถไฟ   รถโดยสารประจำทางที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยโดยตรง  สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้กับผู้สูงวัยเพื่อการเดินทางสัญจรไปมาได้โดยปราศจากอุปสรรค  นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษอื่นๆที่รัฐจัดขึ้นเพื่อที่จะกระตุ้นกลุ่มผู้สูงวัยให้มีการดำเนินชีวิตและเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทาสังคมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแล้ว  บริษัทที่ผู้สูงวัยทำงานก่อนการเกษียณอายุ  ก็ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้สูงวัยเป็นอย่างมาก  โดยบริษัทญี่ปุ่นต่างๆได้จัดให้มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับชีวิตในวัยชราให้แก่พนักงาน  ระบบนี้ถือเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้นภายใต้นโยบายของการจ้างงานตลอดชีวิต  สิ่งที่บริษัทได้จัดทำ คือ การพยายามให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตหลังออกจากงาน  การแนะนำให้เข้าทำงานที่อื่นหลังเกษียณ  ตลอดจนการวางแผนด้านการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตในวัยชรา   นอกจากนี้ในบางบริษัทเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยหลังเกษียณอายุ  บริษัทได้ยืดกำหนดเกษียณอายุออก  และมีการนำระบบเงินปีมาใช้

 เทศกาลประจำปีของผู้สูงวัย           

ในญี่ปุ่นจะมีประเพณีการฉลองวันเกิดสำหรับผู้สูงวัยซึ่งครอบครัวหรือเพื่อนฝูงจะมาชุมนุมกันจัดให้  เพื่อฉลองความมีอายุยืนและสุขภาพดี  เรียกว่า  วันแสดงความเคารพผู้สูงอายุ  (敬老の日)  ในปีค.ค. 1966  รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้วันเคารพผู้สูงอายุ    เป็นวันที่ 15 กันยายนของทุกปี  แต่ในปีค.ศ. 2000  เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเคารพผู้สูงอายุมาเป็นทุกวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกันยายน  การจัดงานฉลองความมีอายุยืนได้ถูกจัดกันทั่วไป  และด้วยความปรารถนาที่จะมีอายุยืน ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจต่อการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและบริโภคอาหารที่มีแต่คุณประโยชน์  รวมถึงการแสวงหาความสุขและความสำเร็จภายในชีวิตหลังการเกษียณด้วย









 

ภาพมาจาก http://tosaknives.seesaa.net/article/52313893.html และ http://www.elearneasy.com/ 

การฉลองความมีอายุยืน  เหล่าครอบครัว ญาติ หรือ เพื่อนๆของผู้สูงวัยจะจัดงานเลี้ยงตามบ้านหรือภัตตาคารเพื่อฉลองช่วงอายุพิเศษให้ในวันเกิดหรือวันหยุดที่ใกล้เคียงกับวันเกิดหรือในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย  การฉลองช่วงอายุต่างๆมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. คังเระขิ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  60  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  60  ปีเรียกว่า  คังเระขิ  โดยคัง หมายถึง กลับคืน  และ เระขิ หมายถึง ปฏิทิน  คังเระขิ เป็นการฉลองที่หมายถึงการเริ่มต้นชีวิตครั้งที่ 2 ตามวัฏวักรเอโตะ 
 
2.  โคะคิ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  70  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  70  ปีเรียกว่า  โคะคิ  โดยโคะ หมายถึง เก่าแก่  และ คิ หมายถึง หายาก ไม่ค่อยมี  โคะคิได้ถูกตั้งชื่อตามวลีในโคลงที่แต่งโดยตู้ฝู่ (กวีจีนในสมัยราชวงศ์ถังช่วงศตวรรษที่ 8) ดังนี้ “ชีวิตนั้นสั้นนัก แต่โบราณมา ชีวิตคนยากจะยืนยาวถึง 70 ปี” 
 
3. คิจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  77  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  77  ปีเรียกว่า  คิจุ โดยคิ หมายถึง ปิติยินดี และ จุ หมายถึง การฉลอง  เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึงการฉลองอย่างปิติยินดี 
 
4. ซันจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  80  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  80  ปีเรียกว่า  ซันจุ  โดยซัน หมายถึง ร่ม  ตามลายมือเขียนตัวอักษรซันแบบหวัดในอักษรจีน สามารถอ่านได้เป็น 八十 จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 80 ปีว่า ซันจุ (งานฉลองร่ม) 
 
5. เบจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  88  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  88  ปีเรียกว่า  เบจุ  โดยเบ หมายถึง ข้าว รูปร่างอักษรจีนของคำว่า เบสามารถแยกได้เป็น จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 88 ปีว่า เบจุ (งานฉลองข้าว) 
 
6. โชะทสึจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  90  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  90  ปีเรียกว่า  โชะทสึจุ  โดยโชะทสึ หมายถึง เสร็จสิ้น จบ  ในรูปอักษรจีนแบบง่ายนั้น โชะทสึ สามารถอ่านได้เป็น 九十 จึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 90 ปีว่า โชะทสึจุ (การฉลองความสำเร็จ)  
 
7. ฮะคุจุ  (การฉลองครบรอบวันเกิด  99  ปี) การฉลองวันครบรอบวันเกิด  99  ปีเรียกว่า  ฮะคุจุ    โดยฮะคุ  หมายถึง  สีขาว  อักษรจีน หมายถึง 100  ถ้าเอาเส้น  ของ ออกจะเป็นตัวอักษรจึงเรียกการฉลองครบรอบวันเกิด 99  ปี ซึ่งน้อยกว่า 100 อยู่ 1 ว่า ฮะคุจุ

                การฉลองในวันแสดงความเคารพผู้สูงวัย  จะมีการร่วมรับประทานอาหารกันและมอบของขวัญให้ โดยของขวัญที่จะมอบให้นั้นจะเป็นของที่มีสีแดง  เช่น  ผ้าคลุมศีรษะสีแดง  เสื้อไม่มีแขน หรือเบาะนั่งแบบญี่ปุ่นสีแดงสำหรับการฉลองคังเระขิ  เนื่องจากกล่าวกันว่าเมื่อคนเรามีอายุถึงคังเระขิก็เหมือนกลับสู่จุดเริ่มต้นชีวิต อะคะจัง (เด็ก) ใหม่อีกครั้ง  ส่วนของขวัญฉลองครบรอบอายุช่วงอื่นๆให้เลือกของขวัญมอบให้ตามใจชอบ

บทสรุป

ในปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น  เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรผู้สูงวัยของญี่ปุ่น โดยสังคมผู้สูงวัยไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านต่างๆที่คอยให้แก้ไขแต่เพียงอย่างเดียว  ในทางตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคผู้สูงวัยเป็นฐานลูกค้าหลัก ตัวอย่างเช่น  ร้านกาแฟแฟรนไชส์ Ueshima ในญี่ปุ่น ที่มีการจัดการร้านโดยแสดงถึงกลุ่มเป้าหมายหลักคือลูกค้าในวัยสูงวัย แม้ภายนอกร้านกาแฟจะดูไม่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่น ๆ เท่าไหร่  แต่หากมองในรายละเอียดภายในจะพบว่า รูปแบบร้านที่มีทางเดินภายในร้านที่กว้าง  เก้าอี้ที่แข็งแรงกว่า โต๊ะเตี้ยกว่า อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารนิ่ม ๆ เคี้ยวง่าย อีกทั้งมีบริกรคอยช่วยยกของมาเสิร์ฟที่โต๊ะลูกค้า   ชื่ออาหารในเมนูเขียนด้วยตัวอักษรญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ง่ายต่อการอ่าน จึงไม่แปลกที่ร้านกาแฟนี้จะเต็มไปด้วยกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงวัยตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่และดำรงอยู่ในสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น คงจะเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายๆประเทศที่กำลังเผชิญสภาวะนี้อยู่  ในเรื่องของการแก้ไข การขจัดปัญหาและสิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมรับมือไว้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่ควรจะเตรียมตัววางแผนดูแลตัวเองเวลาเกษียณอายุให้ดี  ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ควรจะต้องคำนึงอยู่เสมอ คือ สังคมผู้สูงวัยไม่ได้เป็นภาระขององค์กรหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  แต่หากเป็นหน้าที่ของคนในชาติทุกคนที่จะต้องตระหนักและรับผิดชอบร่วมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

กักเคน. (2549). ญี่ปุ่น 360 องศา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม

 

กาญจนา ตั้งชลทิพย์. ประชากรญี่ปุ่นลดลง ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นต้องตื่นเต้น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.ipsr.mahidol.ac.th /IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article17.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 20 สิงหาคม 2554)                             

 

โกบอล. ประเทศญี่ปุ่นกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก:  http://www.braille-cet.in.th . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)

 

เซซึโคะ  นางาตะ. ปัญหาผู้สูงอายุในญี่ปุ่น. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://simplyview.blogspot.com/2010/07/blog-post_01.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)

 

ภาวิณี  วรประดิษฐ. ผู้สูงอายุและภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://trat.nfe.go.th/trat/topic5_ old.php?page=10. (วันที่ค้นข้อมูล: 16 สิงหาคม 2554)

 

สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย. Aged Society. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.gotomanager.com/news/ printnews.aspx?id=32160 . (วันที่ค้นข้อมูล: 17 สิงหาคม 2554)

 

อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร. เข็มทิศลงทุน: คนวัยเกษียณในญี่ปุ่นมีคุณค่า. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก: http://www.coffeemenu.in.th. (วันที่ค้นข้อมูล: 19 สิงหาคม 2554)

 

โอคะโมะโทะ, โทะมิ. (2547). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม